18 ก.ค. 2020 เวลา 11:00 • ข่าว
คนไทยห้ามพลาดเด็ดขาด! 18-23 ก.ค. ลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า ครั้งเดียวในรอบกว่า 6,000 ป
ที่เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการโพสต์รูปภาพพร้อมทั้งระบุข้อความว่า.. 18-23 กรกฎาคมนี้ #คนไทยมีลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า #ครั้งเดียวในรอบกว่า6000ปี
ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนบนโลก เนื่องจากปรากฏสว่างเหนือน่านฟ้าหลายประเทศ ต่างพากันติดตามและบันทึกภาพดาวหางดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก
ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
6
#สำหรับประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ สังเกตได้ค่อนข้างยาก แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป จะดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้
#ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ ประมาณวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า
ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม แม้เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้
ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณค่าอันดับความสว่างปรากฏของดาวหางนีโอไวส์ ขณะนี้ได้ผ่านช่วงสว่างมากที่สุดไปแล้ว แต่จากการสังเกตการณ์จริงพบว่าความสว่างไม่ได้ลดลงดังเช่นที่คำนวณไว้ จึงส่งผลดีต่อผู้สังเกตบนโลกที่จะยังคงมองเห็นดาวหางปรากฏสว่าง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา Planetary Science Institute’s Input/Output facility ยังพบว่า ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏหางฝุ่นและหางไอออนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน สำหรับหางไอออนนั้นพบว่าเป็นหางโซเดียม จะสามารถสังเกตเห็นเฉพาะดาวหางที่สว่างมากๆ เท่านั้น ดังเช่น ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale–Bopp) และ ดาวหางไอซอน (ISON) และจากการศึกษาในย่านรังสีอินฟราเรดพบว่านิวเคลียสของดาวหาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับดาวหางสว่างในอดีตอย่าง ดาวหางเฮียกูตาเกะ (Hyakutake) และดาวหางคาบสั้นอื่นๆ อีกหลายดวง สำหรับชาวไทยที่สนใจชมและถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ สามารถติดตามได้ในช่วงวันและเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ยังเป็นวันที่ดาวเสาร์โคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปี สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์วงแหวนดาวเสาร์ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี 4 จุดสังเกตการณ์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลาตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ ในวันดังกล่าวด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
โฆษณา