25 ก.ค. 2020 เวลา 02:42
Moon landing moment
โรเจอร์ บานนิสเตอร์ (1954)
เซอร์ เอดมันด์ ฮิลลารี่ (1953)
นีล อาร์มสตรอง (1969)
อีเลียต คิบโชเก้ (2019)
สี่คนนี้มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง?
1
……….
ก่อนหน้าปี 1954 นั้น ไม่มีใครในโลกเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถวิ่งระยะทางหนึ่งไมล์ได้ต่ำกว่าสี่นาที ตัวเลขสี่นาทีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แม้แต่จะคิด มีคนลองพยายามแล้วพยายามอีกก็ทำไม่ได้ มันเป็นข้อจำกัดของร่างกายมนุษย์.. ทุกคนคิดและเชื่อแบบนั้นทั้งโลก
โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ นักศึกษาแพทย์ชาวอังกฤษผู้เป็นนักกรีฑาสมัครเล่นและเคยไปโอลิมปิกมาแล้ว ไม่ได้เชื่อแบบนั้น เขาแอบใช้เวลาวันละสามสิบนาทีซุ่มซ้อมด้วยความเชื่ออย่างสุดใจว่าเป็นไปได้ และในที่สุด วันที่ 6 พฤษภาคม 1954 เขาก็ทำสำเร็จด้วยเวลา 3 นาที 59 วินาที
ที่น่าประหลาดใจก็คือ เมื่อโรเจอร์ บานนิสเตอร์เอาชนะกำแพงจิตวิทยาของคนทั้งโลกได้แล้ว จากเป็นพันๆปีที่ไม่เคยมีใครวิ่งได้ ภายใน 46 วันหลังจากนั้นก็มีคนวิ่งได้จนทำลายสถิติของโรเจอร์ และก็มีคนที่สามารถวิ่งได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน
…….
ก่อนหน้าปี 1953 เป็นเวลาหลายสิบปี มีความพยายามของคณะบุคคลที่เก่งกล้าสามารถจำนวนมากจากหลายชาติในการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้ จนมีความเชื่อกันว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะทรหดพอที่จะพิชิตยอดเขาที่สูงสุดในโลกนั้นได้ จนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1953 เซอร์เอดมันด์ ฮิลลารี่ พร้อมด้วยนักปีนเขาคู่ใจชาวเชอร์ปา เทนซิง นอร์เก้ ก็ทำสำเร็จ โดยภายหลัง hillary step ก็กลายเป็นชื่อของจุดที่ยากที่สุดสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา และหลังจากเซอร์เอดมันด์ทำสำเร็จ ก็มีคณะอื่นๆจำนวนมากทำได้ต่อมาในเวลาไม่นานนัก จากการทลายกำแพงที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในใจออกไปของเซอร์เอดมันด์
……
ความคิดในการขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ของมนุษย์ เป็นความฝันลมๆแล้งๆมาตั้งแต่โบราณกาลแต่ก็เป็นแค่นิยายเพ้อฝัน ไม่มีใครคิดใครฝันว่าเรื่องราวแบบนั้นจะเกิดได้จริง แม้กระทั่งตอนที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ตั้งเป้าที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เพราะแรงกดดันที่ถูกสหภาพโซเวียตในสมัยนั้นแซงไปหลายเรื่อง ประธานาธิบดี เคนเนดี้ตั้งเป้าหมายไว้ต้นทศวรรษที่หกสิบโดยบอกว่าก่อนทศวรรษจะสิ้นสุดลง อเมริกาจะต้องพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์และพากลับมาอย่างปลอดภัยให้ได้ ซึ่งในตอนนั้นก็ดูจะไม่มีหนทางอะไรที่ชัดเจนนัก มีแต่ความเสี่ยงที่เต็มไปด้วยอันตรายเต็มไปหมด
20 กรกฏาคม 1969 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นทศวรรษ ยานอพอลโล 11 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ และ นีล อาร์มสตรอง ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ พร้อมคำพูดอันโด่งดังว่า "That's one small step for man, one giant leap for mankind."
หลังจากนั้นไม่นาน มนุษย์ก็ได้ไปเหยียบดวงจันทร์อีกหลายครั้ง และมีความฝันที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าในไม่ช้าการเหยียบดาวอังคารก็จะเป็นไปได้อย่างแน่นอน…
…….
ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้จากการที่ได้ฟังคุณแท้ป รวิศ หาญอุตสาหะ เล่าถึงโรเจอร์แบนนิสเตอร์ที่คลาสเรียนของหลักสูตร abc โดยคุณแท้ปได้เปิดคลิปสั้นหนึ่งนาทีสุดท้ายของการทำลายกำแพงในใจของมนุษยชาติครั้งล่าสุดที่ยังไม่มีใครเคยทำได้จนส่วนใหญ่คิดว่ามนุษย์ไม่น่าจะทำได้ในการวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตรให้ต่ำกว่าสองชั่วโมง เป็นหนึ่งนาทีสุดท้ายของอีเลียด คิปโซเก้ นักวิ่งชาวเคนยาในวันที่ 12 ตุลาคม 2019 ที่ทำลายกำแพงในใจของมนุษยชาติด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที
1
ในระหว่างนาทีสุดท้ายนั้น โฆษกผู้พากย์ได้พูดถึงโมเมนต์ที่สำคัญนี้ โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกันในการทำลายกำแพงในใจ ก้าวข้ามขีดจำกัดของความเป็นไปไม่ได้ โดยชื่อสามชื่อที่ถูกพูดถึงในนาทีนั้นก็คือ โรเจอร์ บานนิสเตอร์ เซอร์เอดมันด์ ฮิลลารี และนีล อาร์มสตรอง
โมเมนต์ของการทำลายกำแพงในใจของความเป็นไปไม่ได้ของมนุษยชาตินั้น มีคนเรียกว่าเป็น moon landing moment เพราะในวันที่คนทั้งโลกได้ดูถ่ายทอดสดในจังหวะที่นีล อาร์มสตรองเหยียบดวงจันทร์ร่วมกันนั้น ทำให้ก้าวเล็กๆในวันนั้น กลายเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของคนทั้งโลกในการข้ามอุปสรรคที่เกิดจากความเชื่อว่าทำไม่ได้ออกไป โมเมนต์แบบนั้นทำให้เกิดความเชื่อมั่นใหม่ถึงการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และทำให้เกิดการพัฒนา เกิดแรงบันดาลใจต่อเนื่องในเรื่องต่างๆอีกมากมาย
……
ที่ผมอยากเขียนเรื่องนี้ก็เพราะในชีวิตคนเรานั้น มีอุปสรรคลวงตาอยู่หลายอย่างที่เรากลัวหรือไม่กล้าไปเอง คิดว่าสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ และเอาข้อจำกัดนั้นมาบีบให้ตัวเองไม่กล้าเดินต่อ การหา moon landing moment ของตัวเองให้เจอนั้น อาจจะพาชีวิตเราออกจากกับดักบางอย่างที่เราดักตัวเองไว้ก็เป็นได้
ผมเองก็เคยมี moon landing moment ของตัวเองเมื่อตอนที่วิ่งได้สิบกิโลเมตรครั้งแรก จากการที่ในชีวิตไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะทำได้ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาผมวิ่งได้อย่างมากก็แค่สองกิโล (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในเพจ) แต่จากเหตุการณ์สองอย่างบีบให้ผมต้องวิ่งให้ได้ ก็คือการป่วยเข้าโรงพยาบาลและการจัดแข่ง impossible race วิ่งสิบกิโลเมตรของดีแทค ทำให้ผมต้องเริ่มวิ่งซ่อมสุขภาพ ค่อยๆหัดค่อยๆฝึกจนวิ่งได้ห้ากิโล ซึ่งก็คิดว่าได้แค่นี้แล้ว แต่จำได้ว่าในวันที่ซ้อมวันนั้นวิ่งเกินเลยไปได้เจ็ดกิโล แล้วเพื่อนที่วิ่งอยู่ด้วยกันบอกว่าไหนๆมาถึงขนาดนี้แล้ว ลองฮึดต่ออีกหน่อยไหม ได้เท่าไหนเอาเท่านั้น ก็ค่อยๆลากกันจนได้ครบสิบกิโล จำได้ว่าพอวิ่งได้แล้ว หลังจากนั้นการวิ่งสิบกิโลก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีก และทำให้ผมได้ไปลองวิ่งยี่สิบกิโลต่อไปจนสำเร็จ
การหา moon landing moment เล็กๆของเราเองจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะจริงๆแล้วตัวเราเองมีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด เรื่องราวของสี่ท่านที่เพิ่งเล่าสู่กันฟังก็เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ลองคิดกันเล่นๆก็ได้นะครับว่ามีอะไรที่เราอยากทำแต่คิดว่าเป็นไปไม่ได้บ้าง แล้วลองหาจังหวะ push สุดๆซักครั้งดู ซ้อมหนักหน่อย ลองเสี่ยงดูบ้าง อยากเขียนหนังสือซักเล่ม อยากวิ่งมาราธอนให้ได้ อยากลดน้ำหนักซักสิบโล หรือแม้กระทั่งอยากจีบดอกฟ้าที่ดูเหมือนจะเอื้อมไม่ถึง ลองก้าวข้ามเส้นเดิมของตัวเองไปดู
ไม่เคยทำได้มาก่อน ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้นะครับ …
โฆษณา