EP.42 หนึ่งนาทีของเราไม่เท่ากัน
เวลาเท่ากัน แต่รู้สึกต่างกัน
เป็นความจริงขั้นพื้นฐานที่ว่า ทุกคนมี “เวลา” เท่ากันคือวันละ 24 ชั่วโมง แปลงย่อยกว่านั้นคือ 1,440 นาที ย่อยกว่านั้นอีกก็ 86,400 วินาที จะเห็นได้ชัดเจนว่าในแง่ของความน่าเชื่อถือ เวลามีตัวเลขอ้างอิงที่ชัดเจน เป็นหน่วยวัดที่เราเชื่อมั่นได้ว่าเที่ยงตรง และซื่อสัตย์มากที่สุดสิ่งหนึ่งบนโลกใบนี้
Time is
Too slow for those who Wait,
(เวลาช่างเชื่องช้าสำหรับผู้ที่รอคอย)
Too swift for those who Fear,
(รวดเร็วเกินตามทันสำหรับผู้หวาดเกรง)
Too long for those who Grieve,
(เนิ่นนานเต็มทีสำหรับผู้เศร้าโศก)
Too short for those who Rejoice,
(ย่นย่อชั่วครู่สำหรับผู้ชื่นชมยินดี)
But for those who Love,
Time is not.
(แต่สำหรับผู้มีความรัก เวลานั้นเป็นอนันต์)
1
บทกลอนข้างต้นคือ “Time Is” ของ ‘Henry van Dyke’ (1852-1933) นักเขียน และนักประพันธ์ชาวอเมริกัน นี่คือบางส่วนที่เขาได้แต่งไว้ในหนังสือ “Music and Other Poems” (1904) โดยพรรณนาถึงความหมาย และมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อกาลเวลา ซึ่งนิยามมาจากความรู้สึกของผู้คนที่ตกอยู่ในภวังค์หรืออารมณ์บางอย่าง ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในบทกลอนที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของเขา
และกลอนที่ว่าตีแผ่ความจริงบางอย่างออกมาให้ได้เห็นกัน นั่นก็คือ “เวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน” และ “เวลาของตัวเราเองในสถานการณ์ที่แตกต่างนั้นก็ไม่เท่ากัน”
ในช่วงเวลาที่เท่ากัน เชื่อว่าทุกคนคงเคยรู้สึกถึงความแตกต่างที่ว่า ทำไมเวลานี้ถึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันทำไมเวลานี้ถึงค่อยๆ ผ่านไปอย่างเชื่องช้า
ทำไม?
พูดง่ายๆ ก็คือการทำงานที่ซับซ้อนของสมองทำให้ “เวลา” กับ “ความรู้สึกจริง” ของเรามันออกมาไม่เท่ากันยังไงล่ะครับ
ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญทุกท่าน ไปพบกับความรู้สึกบนพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับเวลา และคำตอบทางจิตวิทยาที่พร้อมจะอธิบายให้กระจ่าครับ มาเลยๆ
1. ช่องว่างระหว่างความคิด อันนี้อ้างอิงจาก Dr. Michael Shadlen นักประสาทวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์เออร์วิงของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กซิตี้ กล่าวคือสมองคนเรานั้นจะมี “ช่องว่าง” ในระหว่างความคิดอยู่ เจ้าช่องว่างนี้มันก็จะทำงานคล้ายๆ กับการเว้นวรรคในหนังสือ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ประโยคหรือทุกๆ ถ้อยคำในทุกๆ บรรทัดที่เขียน ในกรณีที่เรากำลังตั้งใจทำอะไรที่ชอบอยู่สมองจะมองช่องว่างดังกล่าวในภาพรวม คล้ายกับการอ่านหนังสือ และหยุดในท้ายย่อหน้า ทำให้ทุกอย่างดูผ่านไปเร็วกว่าในความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันหากเราทำในสิ่งที่ไม่ชอบ สมองจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดๆ ไป คล้ายการหยุดอ่านหนังสือในทุกๆ คำที่เขียนไว้ การกระทำเช่นนี้จะทำให้ในช่วงเวลาเท่าๆ กันสมองมีช่องว่างของความคิดมากกว่าเวลาที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เลยทำให้ความรู้สึกด้านเวลาดูนานขึ้นตามไปด้วย
2. เมื่อเรามัวแต่จดจ่อกับตัวเองแน่นอนว่าเวลาเดินช้าลง การขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีต่อหน้าคนมากๆ ราวๆ 5 นาที อาจทำให้รู้สึกเท่าๆ กับการเดินกลับบ้าน 1 ชั่วโมงเลยก็ได้ นั่นก็เพราะการได้ทำในสิ่งที่เคยทำซ้ำๆ เป็นกิจวัตร เรามักจะคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่เพ่งสมาธิไปกับความเป็นจริง แต่เมื่อไรก็ตามที่ เราต้องทำอะไรต่อหน้าคนหมู่มาก นั้นเราจะเกิดความกังวล ประหม่า ซึ่งนั่นจะทำให้เรารับรู้ถึงรายละเอียดรอบตัวได้มากขึ้น จนเป็นเหตุให้เวลานั้นเดินช้าลงนั่นเอง
3. หากมัวแต่จ้องนาฬิกาเวลาเดินช้าลง อาการดังกล่าวเรียกว่า “Stopped Clock Illusion” นั่นก็เพราะขณะที่เรากำลังมองนาฬิกาสติของเราจะหลุดจากการคิดเรื่องอื่นเสมอ สมองจึงหลอกเราว่าที่จริงกำลังดูนาฬิกาอยู่ตลอด ทำให้เหมือนกับนาฬิกาแทบไม่กระดิกเลย และนี่เองที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า
4. เมื่อเรารู้สึกเบื่อเวลานั้นเดินช้าลง นั่นก็เพราะสมองเราเบนความสนใจจากกิจกรรมน่าเบื่อเหล่านั้น ทำให้เรารับรู้ถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวมากเกินไป นั่นจึงทำให้การรับรู้เวลาของเรานานขึ้นด้วย ตรงกันข้าม หากเรากำลังทำกิจกรรมที่สนุกอยู่ล่ะก็ สมองเราจะมุ่งความสนใจไปยังกิจกรรมนั้นๆ ทำให้เรารับรู้ถึงเวลาได้น้อย ก็เลยเหมือนว่าเวลาผ่านไปเร็วนั่นเอง
5. เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเมื่อมีการรอคอย ต้องเรียกอาการนี้ว่าคลาสสิกในใจตลอดกาลกันเลยทีเดียว ก็จะประมาณ เมื่อรอคอยอะไรสักอย่าง สมองของเราจะไม่คิดถึงเรื่องอื่นนอกจากสิ่งที่เรากำลังรอคอย เลยทำให้เรารู้สึกถึงสิ่งรอบข้างได้ง่าย รวมไปถึงเวลาด้วย และเวลาในความรู้สึกก็เดินช้าลงด้วยเหตุนี้นี่เอง
6. เมื่อมีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวพบว่าเวลาเดินช้าลง อาทิลุ้นผล ตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพ ฯลฯ นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อคุณไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต คุณจะคิดมาก และรับรู้รายละเอียดรอบตัวได้มากขึ้นตามไปด้วย สมองจึงรับรู้เวลาอยู่ตลอด ไม่แปลกหรอกครับที่จะทำให้รู้สึกว่าเวลานานขึ้น
7. เวลาเดินช้าลงเมื่อรู้สึกถึงอันตราย นั่นก็เพราะว่าเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวหรืออันตราย สมองจะรับข้อมูลจำนวนมาก เพื่อคิดหาทางที่จะเอาชีวิตรอดให้ได้ เมื่อเรารับรู้สิ่งรอบตัวอย่างละเอียด เราจะรู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง แต่อาการนี้จะหายไปเมื่อเรากลับเข้าสู่สภาวะปกติ
8. ยิ่งรีบเวลายิ่งผ่านไปเร็ว นี่ก็อีกเคสคลาสสิก ไม่เชื่อลองตื่นสาย แล้วรีบไปทำงานดู เวลาจะผ่านไปเร็วมาก!!!
9. เมื่อพบเจอสิ่งใหม่เวลายาวนานขึ้นเสมอ อารมณ์ก็จะประมาณรู้สึกว่าถนนที่เพิ่งเคยไปครั้งแรกมันไกล แต่พอขากลับดันรู้สึกว่าใกล้ขึ้นซะอย่างนั้น นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อครั้งแรกที่เราเดินทางบนถนนเส้นนี้เรายังไม่รู้ว่าจะพบเจอกับอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเราเห็นสิ่งใหม่ๆ สมองเราจะรับรู้ และใช้เวลามากในการประมวลผลเพื่อรับส่งข้อมูล เพื่อให้ตัวเราเองได้เข้าใจ แน่นอนว่ายิ่งข้อมูลเยอะ ยิ่งใช้เวลาในการประมวลผลมาก ก็เลยเหมือนเวลาเดินช้าลง แต่เมื่อข้อมูลถูกนำขึ้นมาประมวลผลใหม่ในครั้งที่สอง สมองเราจึงประมวลได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
10. อายุมากขึ้นเวลาเดินเร็วขึ้น หนึ่งวันสำหรับเด็กๆ นั้นอาจจะแสนยาวนาน แต่หนึ่งสัปดาห์สำหรับผู้ใหญ่อาจจะรวดเร็วเพียงกระพริบตา เคยสังเกตกันไหมว่าความทรงจำครั้งเยาว์วัยนั้นเราจะสามารถจำมันได้ดี ในขณะที่สิ่งต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรากลับจำมันไม่ได้ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าเมื่อเราโตขึ้น สมองของเราไม่ได้รับข้อมูลใหม่ๆ อย่างที่เคยได้รับแบบตอนเด็กอีกแล้ว ตอนเป็นเด็ก ทุกสิ่งดูใหม่สำหรับเราไปหมด สมองเราจึงทำการประมวลข้อมูล และรับรู้เวลาที่ยาวนานขึ้นนั่นเอง
สุดท้ายจะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้เวลาผ่านไปช้าหรือเร็วอยู่ที่ความคิดของเรานั่นเอง “สุขทุกข์อยู่ที่ใจ” วันไหนพบเจอความทุกข์ แม้จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ก็ขอให้อดทน รู้ไว้เลยว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ส่วนถ้าวันไหนพบกับความสุข แม้เวลาเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ก็ขอให้ซึมซับมันเอาไว้อย่างเต็มที่ แต่อย่าไปยึดติดนะ เพราะวันหนึ่งมันก็จะผ่านไปอีกเช่นกัน
เวลา / Cocktail
หนึ่งนาทีของเราไม่เท่ากัน / เจมส์ เรืองศักดิ์
เธอกลับมาเพื่อหมุนเข็มนาฬิกาให้เดินกลับหลัง / BANDWAGON
รักไม่ต้องการเวลา / Klear
นาฬิกา / ปลานิลเต็มบ้าน
นาฬิกา / บี พีระพัฒน์
นาฬิกาเรือนเก่า / Palmy
นาฬิกาตาย / Bodyslam
อยู่นานๆ ได้ไหม / ศรัณย่า
นานอีกหน่อย / Monotone
ขอบคุณทุกช่วงเวลา (Glad To Have You) Feat. เมธี น้อยจินดา / Sqweez Animal

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา