30 ก.ค. 2020 เวลา 03:30 • ข่าว
จุดจบนักเลงตีกันในโรงพยาบาล โทษอาญาหนักถึงพ่อแม่
เหตุการณ์กลุ่มอันธพาลหัวร้อน ตามไล่ล่าเช็กบิล “คู่อริ” ไปจนถึงในโรงพยาบาล ที่ยังมีลักษณะพฤติกรรมกร่างบ้าคลั่งท้าทาย ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง กลายเป็นความรุนแรง ที่มักเกิดบ่อยซ้ำซากถี่ขึ้นทุกวัน
ย้อนหลังในช่วง 7 ปีก่อนนี้...ก็มีข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ระบุเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาล ตั้งแต่ปี 2555-2562 พบว่า มี 51 เหตุการณ์ แบ่งเป็นทะเลาะวิวาท 15 เหตุ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 29 เหตุ ทำลายทรัพย์สิน 1 เหตุ ก่อความไม่สงบ 1 เหตุ กระโดดตึก 6 เหตุ และอื่นๆ 6 เหตุ
ผลความรุนแรงนี้ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ประชาชนเสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 43 ราย เมื่อแยกเป็นรายปี 2555 และปี 2557 ทั่วประเทศเกิดเหตุ 1 ครั้ง ปี 2556 ไม่เกิดเหตุในปี 2558 เกิดเหตุ 7 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 10 ครั้ง ปี 2561 จำนวน 17 ครั้ง และปี 2562 เกิดเหตุ 12 ครั้ง
คราวนี้อุกอาจถึงขั้นลงมือ “ชกทำร้ายแพทย์หญิงและพยาบาล” เพราะเข้าใจผิดไม่พอใจ “แพทย์รักษาล่าช้า” เป็นเหตุให้ “เพื่อนถูกคู่อริใช้อาวุธแทงเสียชีวิต” ก่อนยกพวกตามไป “รุมยำทำร้ายคู่อริ” ที่กำลังรักษาตัวอยู่อีกโรงพยาบาล จนทำเอา “แพทย์ พยาบาล และคนไข้” ต่างแตกตื่นหนีตายกันจ้าละหวั่น
นับเป็นความรุนแรงไม่น่าเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะแม้แต่ใน “สมรภูมิสงคราม” ยังมีข้อกำหนดให้ “โรงพยาบาล” เป็นพื้นที่ยกเว้นหลัก “ห้ามใช้กำลังทางทหาร”...ไม่ทำลายสถานพยาบาล หรือบุคคลทางการแพทย์
แต่กลับมี “กลุ่มอันธพาลครองเมือง” ไม่สนใจกฎกติกานี้ที่ทำลายทิ้งไปโดยสิ้นเชิง
สะท้อนว่า...ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นในโรงพยาบาลค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นถึงปัญหาความไม่ปลอดภัย ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน และบุคลากรของโรงพยาบาลตามมาด้วย...
แม้ว่า...“กระทรวงสาธารณสุข” มีแผนป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ทั้งมาตรการทางกฎหมาย เพื่อการป้องปราม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ก่อเหตุใช้ความรุนแรงทะเลาะวิวาททุกราย
อีกทั้งยังให้ทุกโรงพยาบาลจัดทำแผนการป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท
และความรุนแรง ที่กำหนดมาตรการป้องกัน จัดทำระบบทางเข้าออกที่ปลอดภัยอย่างน้อย 2 ทางในห้องฉุกเฉิน พร้อมมีระบบควบคุมประตู มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้และจัดทำแนวปฏิบัติ...กรณีเกิดเหตุที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของบุคลากร และผู้รับบริการรายอื่น ต้องเร่งประสานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตำรวจ ทหาร เข้ามาระงับเหตุเร่งด่วน และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ถ้าความเสี่ยงสูงให้พิจารณาปิดบริการทันที...
แต่สุดท้ายก็ยังมีเหตุทะเลาะวิวาท และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอยู่เช่นเดิม ทำให้ในเรื่องนี้ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด มองว่าเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันในสถานพยาบาลทำให้ผู้มาใช้บริการไม่ปลอดภัยนี้ มักเกิดขึ้นมาเป็นคดีฟ้องต่อศาลกันอยู่เป็นระยะ
โดยเฉพาะ “ช่วงวันหยุดยาว” ที่มีกิจกรรมสังสรรค์ปาร์ตี้ ดื่มสุราของมึนเมา เช่น เทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ เป็นต้น
กระทั่งมีเหตุทะเลาะทำร้ายกัน เมื่อมี “คนบาดเจ็บ” ก็ส่งตัวมารักษาในโรงพยาบาล แต่ยังมีการตามมาทำร้ายกันในโรงพยาบาลอีก ทั้งที่สถานที่ แห่งนี้ควรเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด จนกลายเป็นข่าวตามหน้าสื่อมวลชนค่อนข้างบ่อยขึ้น ทำให้แพทย์และประชาชนก็ต่างเรียกร้องขอให้โรงพยาบาลเป็นที่ที่ปลอดภัย
ประเด็นเรื่องนี้ก็มี “ข้อกฎหมาย” ในบทลงโทษผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทตามสถานพยาบาลไว้อยู่หลายบท ทั้ง “คดีอาญา” และ “คดีแพ่ง” เริ่มตั้งแต่ “ข้อหาบุกรุก” เพราะแม้ว่า “สถานพยาบาลของรัฐ” เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ประชาชนสามารถเข้าออกได้สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง
แต่อย่าลืมว่า...“ในโรงพยาบาล” มีบางส่วนเป็นพื้นที่ “สงวนของบุคลากรทางการแพทย์” ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ และห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกก่อนได้รับอนุญาตด้วยซ้ำ เช่น ห้องฉุกเฉิน ห้องพักแพทย์ พยาบาล แม้เป็นญาติผู้ป่วย ก็ต้องได้รับอนุญาตถึงจะมีสิทธิ์เข้าพื้นที่นี้
ดังนั้น “บุคคลใด” เข้าไปยังพื้นที่สงวน หรือพื้นที่ส่วนตัวทางการแพทย์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็น “ความผิดฐานบุกรุก” ชัดเจนแน่นอน และเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทนี้ก็มักเกิดขึ้น “ในเวลากลางคืน”
นั่นหมายความว่า “บุกรุกในเวลากลางคืน” ที่มีบทลงโทษฉกรรจ์รุนแรงเพิ่มอีก
ต่อมา...หากมีการทะเลาะวิวาทกันในโรงพยาบาล จนเป็นเหตุให้ “บุคลากรทางการแพทย์” ได้รับบาดเจ็บอาจต้องถูกดำเนินคดีฐานความผิดทำร้ายร่างกาย ในการดำเนินคดีก็ต้องเป็นไปตามผลของการกระทำที่ก่อเหตุขึ้น เช่น ถ้าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมาก ก็ต้องรับโทษมาก หากได้รับโทษน้อย ก็ต้องรับโทษน้อยไป
ความจริง...“แพทย์ พยาบาลของรัฐ” นับเป็นพนักงานราชการตามกฎหมาย เพราะรับเงินเดือนจากภาครัฐ การปฏิบัติหน้าที่ในชุดยูนิฟอร์ม มีการแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานชัดเจน ถ้าผู้ก่อเหตุยังเข้าทำร้ายร่างกาย “แพทย์ พยาบาลของรัฐ” ก็มีโอกาสเข้าข่ายทำร้ายเจ้าพนักงาน มีบทลงโทษสูงกว่าการทำร้ายบุคคลทั่วไปได้
และในระหว่างทะเลาะวิวาท มีการตะลุมบอนทำร้ายกันอยู่นั้น อาจทำให้บุคคลอื่นเกิดความกลัวตกใจ ก็ต้องมีความผิดทำให้ผู้อื่น “ตกใจกลัว” ในความผิด “ลหุโทษ” ขึ้นได้ด้วย
ดังนั้น “คดีอาญา” พนักงานสอบสวนจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานไล่เลียงลำดับเหตุการณ์ขั้นตอนของการกระทำความผิดข้อเท็จจริง ที่ต้องมีบทลงโทษต่างกันออกไป
ทว่า...“คดีแพ่ง” เมื่อมีการทะเลาะวิวาทกัน มักเกิดการชุลมุนตะลุมบอนกัน ส่งผลให้ “อุปกรณ์ทางการแพทย์” มูลค่าหลายสิบล้านบาทมีความเสี่ยง เกิดความเสียหายได้ เพราะสัญชาตญาณของคนมีอารมณ์ “หัวร้อน” ที่มีความโกรธแค้น และอาการหน้ามืด หากสามารถหยิบคว้าสิ่งใดได้ ก็ต้องจับใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันเสมอ...
ถ้ามีอุปกรณ์นี้เกิดความเสียหายขึ้น...ผู้ก่อเหตุต้องรับโทษฐานความผิดอาญา “ทำให้เสียทรัพย์” อีกทั้ง “โรงพยาบาล” ก็ยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหาย “คดีแพ่ง” ได้อีกต่างหากด้วย หากผู้ก่อเหตุเป็นผู้เยาว์ ย่อมส่งผลให้ “บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง” ต้องมาร่วมรับผิดชอบตามกฎหมาย
ก่อนหน้านี้เคยคุยกับ “สุขุม กาญจนพิมาย” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันการตีกันในโรงพยาบาลด้วยการแยกญาติคนเจ็บทั้งสองฝ่ายออกจากกัน แต่ก็เห็นใจโรงพยาบาล เพราะมีข้อจำกัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยน้อย ทำให้ต้องขอกำลัง “ตำรวจ” เข้ามาระงับเหตุที่มีอำนาจใช้กำลังพอสมควรแก่เหตุร้าย
ปัจจุบันนี้มีคดีลักษณะก่อเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาลราว 6-7 คดีต่อปี ที่มีการประสานกับสำนักงานอัยการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้บรรยายสำนวนฟ้องคดีว่า ผู้ต้องหามีพฤติกรรมท้าทายไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มีการก่อเหตุในสถานพยาบาล และขออำนาจ “ศาล” พิจารณาลงโทษในสถานหนัก...
อีกทั้งยังมี “การตรวจประวัติผู้ก่อเหตุ” ถ้าเคยกระทำผิดซ้ำซาก หรือมีโทษรอลงอาญา ก็จะฟ้องเพิ่มโทษหนักขึ้น เพราะบุคลากรทางการแพทย์ มักเป็นลูกคนเดียวในครอบครัว มีจุดประสงค์ทำงานรักษาผู้ป่วย แต่ต้องมาเผชิญเหตุร้ายแบบนี้อาจย้ายมาอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่ต่างจังหวัดขาดแคลนตามมาได้
ทำให้ต้องบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด เพื่อลงโทษผู้ก่อเหตุให้หลาบจำไม่กลัวกระทำผิดอีก...
สิ่งสำคัญ...“ผู้ก่อเหตุ” ต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวตลอด ในยุคนี้แม้คนดีเรียนจบระดับสูงยังหางานทำยากลำบาก แต่ถ้าบุคคลมี “ประวัติเกเรทำร้ายแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาล” มั่นใจว่า “บริษัทเอกชน” ต้องตรวจสอบคนก่อนเข้าทำงาน เมื่อเจอประวัติเคยก่อเหตุคดี ซึ่งคงไม่มีองค์กรใด ต้องการรับเข้าทำงานแน่นอน
ดังนั้น “ผู้ปกครอง” อย่าปล่อยปละละเลยบุตรหลาน หรือ “วัยรุ่น” ก็ไม่ควรก่อเหตุเช่นนี้ เพราะจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดี มีประวัติอาชญากรรม จนหมดโอกาสไม่มีทางเดินในสังคมต่อไป.
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา