18 ก.ย. 2020 เวลา 05:07 • ความคิดเห็น
เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ สินสมรสหรือสินส่วนตัว
ที่เราเข้าใจอยู่ มันใช่หรือเปล่า??
วันนี้ขอนำเรื่องสินสมรสและสินส่วนตัว มาพูดคุยกันในภาษาชาวบ้าน ฉบับฟังกันง่ายๆนะคะ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญที่ควรทราบ ให้กับทุกท่านประกอบการวางแผนการเงินส่วนบุคคลค่ะ
🙏เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักวางแผนทางการเงิน ไม่ได้เป็นนักกฏหมายโดยตรง ผิดพลาดประการใด กรุณาแนะนำกันได้ค่ะ รายละเอียดอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม อยู่ที่ link ด้านล่างนะคะ เรามาเริ่มกันเลยค่ะ
โดยทั่วไปทุกท่านทราบดีแล้วว่า ทรัพย์สินก่อนสมรส เป็นสินส่วนตัวของแต่ละคน แต่เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสจะเป็นเป็นสินสมรส แต่บางอย่างยังเป็นข้อสงสัยสำหรับใครหลายคนอยู่ เช่น
🤔 ดอกผลของสินส่วนตัว เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย และ รายได้ที่เราหามาได้ระหว่างสมรสหล่ะ เป็นของใคร? หากเราได้รับมรดกมาระหว่างสมรส จะกลายเป็นสินสมรสไหม??
เพื่อความเป็นธรรม กฏหมายเปิดโอกาสให้กับคู่สมรสสามารถทำสัญญาก่อนสมรส พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส เพื่อระบุรายการทรัพย์สินส่วนตัวและเงื่อนไขการจัดการทรัพย์สินหลังสมรสไว้ก่อนได้
ตัวอย่างเช่น บ้านที่ซื้อร่วมกันระหว่างสมรส ยกให้เป็นของภรรยาแต่เพียงผู้เดียว หรือ ค่าเช่าบ้านที่เป็นสินส่วนตัวของภรรยาเมื่อสมรสแล้ว ขอให้ค่าเช่านี้ยังเป็นสินส่วนตัวของภรรยา ไม่เป็นสินสมรส ก็สามารถทำได้ โดยระบุลงในสัญญาก่อนสมรส ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย
อะไรก็ตามที่เป็นทรัพย์สินที่สร้างขึ้นด้วยกันระหว่างสมรส ถือเป็นสินสมรสแน่นอน แต่สินสมรสบางรายการที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นสินส่วนตัว หรือสินส่วนตัวที่เข้าใจว่าคือสินสมรส มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
☝️สินส่วนตัวที่ติดตัวมาก่อนสมรส เมื่อเกิดดอกผลในระหว่าง สมรส ถือเป็นสินสมรส เช่น เรามีคอนโดที่เราซื้อมาก่อนสมรส จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 2 ล้านบาท เมื่อแต่งงานแล้วนำคอนโดออกปล่อยเช่า เดือนละ 10,000 บาท รายได้ส่วนนี้ถือเป็นสินสมรส แต่ถ้านำคอนโดนี้ไปขายเกิดกำไรจากการขาย กำไรนั้นเป็นสินส่วนตัว
☝️เงินฝากธนาคารที่เป็นสินส่วนตัวก่อนสมรส เมื่อเกิดดอกเบี้ยในระหว่างสมรส เป็นสินสมรส (เงินฝากธนาคารเป็นสินส่วนตัว ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส)
☝️รายได้ที่เราสร้างขึ้นมาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน หรือ กำไรจากการค้าขายทำกิจการ เมื่อนำไปฝากธนาคาร ลงทุน หรือ ซื้อทรัพย์สินใดๆ รายได้และผลงอกเงิยจากรายได้เหล่านั้น ถือเป็นสินสมรส
☝️มรดกที่ได้รับระหว่างสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว ดอกผลของสินส่วนตัวระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส หมายความว่าถ้าเราได้รับมรดกเป็นที่นาให้เช่า ที่นาเป็นสินส่วนตัว ค่าเช่าที่ได้รับเป็นสินสมรส
📿💍💎เครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา เครื่องเพชร หรือ เครื่องใช้ส่วนตัวเช่น คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ถึงแม้จะซื้อมาด้วยรายได้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นสินสมรส ก็ถือว่า ของใช้ส่วนตัวเป็นสินส่วนตัว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยใช่มั้ยคะ ที่คุณผู้หญิงจะสะสมเครื่องประดับมีค่าเก็บไว้เยอะๆ
☝️เครื่องมือในการประกอบวิชาชีพของแต่ละฝ่ายถึงแม้จะซื้อมาด้วยรายได้ระหว่างสมรส ก็ถือเป็นสินส่วนตัว เช่น อุปกรณ์ทำเบเกอรี่ของภรรยา รถยนต์ที่ใช้ทำงานของสามี โดยถ้าวิชาชีพของสามีไม่ต้องใช้รถยนต์เช่น ทันตแพทย์ รถยนต์ที่สามีขับก็เป็นสินสมรส
☝️บ้านที่บุพการีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยกให้คู่สมรสเป็นของขวัญแต่งงาน ถือเป็นสินสมรสถึงแม้จะมอบให้ก่อนสมรส นอกจากระบุในรายการทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสัญญาก่อนสมรสว่าเป็นสินส่วนตัวของใคร จึงจะเป็นสินส่วนตัว
☝️บ้านที่ซื้อด้วยกันระหว่างสมรส ถึงแม้จะใส่ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ก็นับเป็นสินสมรส
👉 และสินทรัพย์ใดๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นสินส่วนตัว ให้ถือว่าเป็นสินสมรส
ซึ่งการตรวจสอบ และจำแนกสินสมรสกับสินส่วนตัวไว้อย่างชัดเจนนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการวางแผนการเงิน เนื่องจากเมื่อมีเหตุที่เราไม่อยากให้เกิด ได้แก่ การหย่าร้าง การชดใช้หนี้สินกับเจ้าหนี้ และ การส่งมอบทรัพย์มรดกหลังจากเสียชีวิต จะได้จัดสรรได้อย่างยุติธรรมและไม่สร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่าย
⚖กรณีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก่อหนี้ โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รับรู้ร่วมด้วย การบังคับชำระหนี้นั้น คู่สมรสไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ฟังๆดูอาจจะดูเหมือนไม่กระทบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องกระทบแน่นอน หากสินส่วนตัวของฝ่ายที่เป็นหนี้ไม่พอชำระ จะต้องมีการมาแบ่งสินสมรส ครึ่งหนึ่งไปชำระหนี้ด้วย
ซึ่งสินสมรสนั้น บางครั้งไม่ได้แบ่งง่ายๆ เพราะไม่ใช่เงินสดเสมอไป อาจจะเป็นบ้านที่ทุกคนในครอบครัวอยู่ และ ต้องถูกบังคับขายบ้าน เพื่อนำเงินสดมาแบ่งชำระหนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง ควรรีบพูดคุยกันก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย
📝ตัวอย่างกรณี ของคุณหนุ่ม ศรราม และ คุณติ๊ก บิ๊กบราเธอร์ หนี้ในส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส หากไม่เข้าข่ายหนี้ 4 ประเภทนี้แล้ว คุณศรราม ก็ไม่ต้องร่วมชดใช้หนี้กับคุณติ๊ก ได้แก่
เครดิตภาพจาก สยามรัฐวาไรตี้
1.หนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส
2.หนี้สินที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและสิ่งจำเป็นในครอบครัว
3.หนี้สินจากอาชีพการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส
4.หนี้สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้น เพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายได้ให้สัตยาบัน ซึ่งการให้สัตยาบันจะทำให้หนี้ดังกล่าวกลายเป็นหนี้ร่วมื่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ภรรยาทำสัญญาขอสินเชื่อ และ สามีเป็นพยาน ไม่ว่าทางวาจาหรือการทำหนังสือ สินเชื่อดังกล่างจะเป็นหนี้ร่วมของสามีและภรรยา
⚖กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตจากไปก่อน การส่งมอบทรัพย์มรดกจะเป็นดังนี้
1.แบ่งทรัพย์สินทรัพย์ออกเป็น สินส่วนตัว และ สินสมรส
2.แบ่งสินสมรสออกเป็น 50:50 แยกคืนให้คู่สมรส 50%
3.นำสินสมรส 50% ของเจ้ามรดก มารวมกับสินส่วนตัว และ ส่งมอบตามพินัยกรรม หากไม่มีพินัยกรรม ก็จัดสรรส่งมอบให้กับทายาทโดยธรรมตามลำดับ
4.คู่สมรส จะเป็นหนึ่งในทายาทโดยธรรมด้วย ส่วนจะรับกี่ % นั้น รายละเอียดจะพูดคุยกันในบทความต่อไปค่ะ
วันนี้เราก็ได้ทราบแล้วนะคะ ว่าแนวทางการจำแนกสินส่วนตัวและสินสมรส เป็นอย่างไร เราควรจะวางแผนจัดสรรล่วงหน้าไว้ให้ดี อย่างรอบคอบ เพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ จะดีกว่าค่ะ
พบกันใหม่บทความหน้า
ด้วยความปรารถนาดีจาก
เงินทองต้องวางแผน 🌹🙏
อ่านบทความอื่นๆของเงินทองต้องวางแผน
ขอบคุณข้อมูลจาก
✏ช่องทางการติดตาม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา