5 ส.ค. 2020 เวลา 04:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
'อสุจิ' หลอก(ตา)นักวิทยาศาสตร์มากว่า 340 ปี เกี่ยวกับการเคลื่อนที่
ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 340 ปีก่อน “อันโตนี ฟัน เลเวินฮุก” เปิดร้านขายผ้าอยู่ที่เนเธอแลนด์ แต่นอกจากขายผ้า พี่แกก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย โดยอันโตนีเป็นผู้ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมาคนแรกของโลก จนได้รับขนานนามว่า "บิดาแห่งวิชาจุลชีววิทยา"
ด้วยความสามารถของกล้องจุลทรรศน์ ทำให้อันโตนีค้นพบแบคทีเรียเซลล์เดียว ซึ่งตอนนั้นทำเอาวงการแพทย์แตกตื่นฮือฮากันพอตัว
แต่ที่นับว่าฮือฮากว่านั้น ก็ตอนที่พี่แกเอาอสุจิของตัวเองมาส่องกล้องด้วย และพบว่าในอสุจิมันมีสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วเคลื่อนที่อยู่ด้วย!
หลังจากนั้น อันโตนีได้เขียนรายงานไปยัง Royal Society ที่ลอนดอน โดยเรียกเจ้าอสุจินี้ว่า “Animalcules” และอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วนี้ ใช้หางในการเคลื่อนที่ คล้ายกับ “งู” หรือ “ปลาไหล” เวลาว่ายน้ำ
กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป มนุษย์โลกมีการศึกษาเกี่ยวกับอสุจิมากมาย แต่เราก็ยังคงเข้าใจกันอย่างที่อันโตนีเข้าใจ ว่าอสุจิเคลื่อนไหวแบบงูหรือปลาไหล คือใช้ส่วนหางสะบัดไปมาเพื่อเคลื่อนที่ไปหาไข่
ล่าสุด แอร์เมส กาเดลญ่า นักวิจัยจากภาควิชาคณิตศาสตร์วิศวกรรม แห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ที่มีชื่อเสียงทางด้านการแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของโลก ได้ทำการศึกษาอสุจิอีกครั้ง
โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบ 3D Super high speed camera ที่สามารถบันทึกภาพได้มากกว่า 55,000 เฟรมต่อ 1 วินาที ร่วมกับการคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์วิศวกรรม แล้วพบว่าจริงๆ แล้วอสุจิไม่ได้เคลื่อนที่แบบที่เราคิด!
แต่เคลื่อนที่ในลักษณะ “ควงสว่าน” ต่างหาก เขาบอกว่าถ้าเราใช้กล้องแบบเดิม เราจะไม่มีทางเห็นเลยว่ามันเคลื่อนที่แบบนี้
ผลงานวิจัยนี้ ได้รับความชื่นชมอย่างล้นหลาม เพราะช่วยไขข้อเข้าใจผิดอันยาวนานเกี่ยวกับอสุจินับร้อยๆ ปี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว
และที่สำคัญกว่านั้น ผลงานวิจัยนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าใจการสืบพันธุ์อย่างถ่องแท้มากขึ้น เพราะลักษณะการหมุนและรอบการหมุน ที่ส่งผลต่อความเร็ว อาจจะมีความลับของอสุจิซ่อนอยู่
The Columnist - ทุกการกดติดตาม คือกำลังใจดีๆ ในการแบ่งปันเรื่องราวของเรา
สำหรับผู้อ่านที่ใช้ Facebook สามารถติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/TheCOLUMNISTth/
โฆษณา