8 ส.ค. 2020 เวลา 13:36 • ธุรกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียกำลังอยู่ในขั้นเลวร้าย !
ผมเพิ่งเขียนไปเมื่อวันก่อนว่า รัฐบาลอินเดียเพิ่งประกาศนโยบายการต่อต้านจีนชุดใหม่ประจำเดือนสิงหาคมออกมา โดยทางรัฐบาล Narendra Modi นั้นเขาตั้งใจที่จะแบนแอพสัญชาติจีนออกไปจาก App Store และ Google Play ของอินเดียให้หมด
เนื่องจากทางอินเดียยังคงมีท่าทีไม่พอใจ และโกรธรัฐบาลจีนอยู่ที่กองทัพ PLA (People's Liberation Army) ของจีนนั้นได้บุกเข้ามารุมตะลุมบอนกับทหารอินเดีย ณ บริเวณชายแดนหุบเขากัลวาน
จนทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตไปกว่า 20 คน จากการที่ทหารของกองทัพจีนนำเหล็กฝังตะปูมาใช้ฟาดหัวทหารของอินเดีย รัฐบาลอินเดียนั้นชี้แจงว่าพวกเขาพยายามที่จะส่งทีมเจรจา และนักการทูตออกไปพูดคุยกับทางจีนแล้ว
แต่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ทางทีมเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีทีท่าหรือแนวโน้มจะสามารถหาข้อยุติของความขัดแย้งดังกล่าวในครั้งนี้ลงได้เลย สถานการณ์ยังคงตึงเครียดเหมือนเดิมไม่มีอะไรพัฒนาขึ้น
กระแสต่อต้านประเทศจีนภายในอินเดียก็มีมากขึ้น คนอินเดียหลายคนถึงขั้นโยนข้าวของที่ผลิตในจีน หรือสินค้าบางอย่างที่มาจากจีนลงถังขยะ ไม่ก็เอาธงชาติประเทศจีนมาเผาทิ้ง เพื่อเป็นการประท้วง
รัฐบาลอินเดียของ Modi เองก็ไม่ต้องการที่จะทำอะไรขัดกับเจตจำนงส่วนใหญ่ของประชาชนชาวอินเดีย ก็เลยต้องออกมาประกาศแบนแอพสัญชาติจีนไปแล้วอย่างน้อยๆกว่า 100 แอพ ไม่ว่าจะ WeChat, Tiktok, ShareIt, หรือแม้แต่เว็ปบราวเซอร์ Baidu
สถานการณ์ ณ บริเวณหน้างานมันเลวร้ายลงมากๆ เพราะมีบริษัทสัญชาติจีนอยู่หลายบริษัทที่ได้เข้าไปทุ่มเงินลงทุนภายในประเทศอินเดีย โรงงานประกอบโทรศัพท์มือถือของบริษัทจีนหลายแห่งก็อยู่ในอินเดีย
การที่รัฐบาลอินเดียประกาศศึก และออกมาเป็นตัวละครหลักในการปลุกกระแสต่อต้านจีนครั้งนี้ จึงส่งผลโดยตรงไปยังกลุ่มธุรกิจ และอุตสาหกรรมของจีนที่ปฏิบัติการอยู่ในอินเดีย หลายๆบริษัทถึงขั้นต้องปิดตัวลงชั่วคราว
บางโรงงานก็ต้องหยุดทำการผลิตสินค้าลงไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะกลัวว่าหากผลิตสินค้าออกมาสู่ตลาดแล้ว จะดันเข้าสู่ตลาดภายในประเทศอินเดียไม่ได้ อย่างโทรศัพท์มือถือนี้ยิ่งแล้วใหญ่ ช่วงเวลานี้คงไม่มีใครกล้าซื้อโทรศัพท์ยี่ห้อจีน
มิหนำซ้ำรัฐบาลอินเดียยังได้เข้ามาแทรกแซงภาคเอกชนด้วยการสั่งชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในรัฐต่างๆของอินเดียลงอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะโครงการสร้างรางรถไฟ ทางด่วน และเสาสัญญาณโทรศัพท์
เนื่องจากโครงการเหล่านั้น มีผู้รับเหมาเป็นบริษัทสัญชาติจีน (จีนเริ่มเข้ามาลงทุนภายในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียหนักมากๆก็ช่วงปี 2010 ที่มีมูลค่าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 25,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ)
และกระทรวงคมนาคมของอินเดียเองก็ไม่อยากที่จะทำอะไรขัดใจกับรัฐบาลของอินเดียในภาพรวม ก็เลยต้องออกคำสั่งให้ชะลอโครงการก่อสร้างถนน เสาไฟ ทางด่วน รางรถไฟอะไรพวกนี้ออกไปก่อนทีเดียวหลายโครงการเลย
ทางกระทรวงคมนาคมนั้นไม่ได้ระบุว่าการเข้ามายับยั้งโปรเจคการก่อสร้างเหล่านี้จะมีระยะเวลาเท่าใด แต่ถ้าดูจากปริมาณเม็ดเงินที่จีนอัดเข้ามากว่า 26,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น คาดว่ารัฐบาลอินเดียคงไม่คิดจะดึงเกมไว้นาน
อาจจะแกล้งสั่งให้ชะลอโครงการไว้ในระยะสั้นๆ เพื่อเป็นการข่มขู่จีน และบอกกับจีนว่าให้รีบๆหาข้อยุติกับปัญหาที่ชายแดน ณ หุบเขากัลวานโดยเร็วที่สุด ไม่งั้นบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในอินเดียจะมีปัญหามากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้มีบริษัทจีนและกลุ่มทุนของประเทศจีนเข้ามาลงทุนภายในประเทศอินเดียไม่ต่ำกว่า 1,000 กว่าบริษัท (อาจมากถึง 1,500 กว่าบริษัทด้วยซ้ำ) การตัดสินใจกลั่นแกล้งบริษัทจีนในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ทำให้จีนเจ็บแค่คนเดียว
1
แต่คนอินเดียภายในประเทศก็จะเจ็บด้วย เพราะบริษัทสัญชาติจีนที่เข้ามาลงทุนในอินเดียนั้น เขามีการจ้างงานคนท้องถิ่นของอินเดียเป็นจำนวนมาก เอาง่ายๆแค่อินเดียสั่งแบน UC Browser เมื่อไม่นานมานี้ คนก็ตกงานเป็น 100 ๆ คนแล้ว
ลองคำนวนดูก็ได้ว่าขณะนี้แบนไปแล้วมากกว่า 100 แอพ และรัฐบาลอินเดียมีแผนจะแบนเพิ่มอีกมากกว่า 200 แอพ คนท้องถิ่นภายในอินเดียที่ทำงานให้กับบริษัทเหล่านี้จะเดือดร้อนขนาดไหน
เกมนี้ยังไงๆอินเดียก็เสียด้วย เพราะจีนอัดฉีดเงินลงทุนไปให้อินเดียในโปรเจ็คมิตรภาพมากมาย ถ้าอินเดียถือโอกาสเอาประเด็นตรงนี้มาเล่นเป็นเกมยั่วยุจีน สุดท้ายเศรษฐกิจอินเดียนั้่นแหละที่จะมีปัญหา
References
1. บทความจาก South China Morning Post ชื่อ "Chinese investment in India may fall due to border conflict, analysts say"
2. บทความจาก The Diplomat ชื่อ "Lessons for India after the Galwan Valley clash"
3. บทความจาก Al Jazeera ชื่อ "Standoff with China will be long, India warns in pulled statement"
4. บทความจาก Livemint ชื่อ "India bans more Chinese apps, including some from Xiaomi, Baidu: Report"
5. บทความจาก India Today ชื่อ "Exclusive: UC Browser decides to close India operations, employees set to lose jobs"
6. บทความจาก The Indian Express ชื่อ "Xiaomi’s Mi Browser now banned in India"
7. บทความจาก Nikkei Asian Review ชื่อ "Indian apps soar after ban on China's Tiktok, WeChat and Baidu"
8. บทความจาก Nikkei Asian Review ชื่อ "In depth: What will Chinese apps do after India ban?"
9. บทความจาก Business Today ชื่อ "India restricts Chinese bidders from public procurement projects"
10. บทความจาก Financial Times ชื่อ "Tech cold war comes to India: Silicon Valley takes on Alibaba and Tencent"
โฆษณา