12 ส.ค. 2020 เวลา 10:00 • การเมือง
เมื่อลูกไปม็อบ : เสียงจากแม่ถึง 'การเมือง' ของ 'คนรุ่นใหม่'
ทำความเข้าใจ "คนรุ่นใหม่" กับ "การเมือง" ที่กำลังโอบล้อมอยู่รอบตัวเราผ่านสายตาของคนเป็นแม่
1
เมื่อลูกไปม็อบ : เสียงจากแม่ถึง 'การเมือง' ของ 'คนรุ่นใหม่' | กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เสียงของข้อเรียกร้องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มแผ่กระจายออกไปทุกพื้นที่ของสังคม และดังขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การเกิดม็อบเยาวชนปลดแอกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จนกระทั่งการรวมกลุ่มที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ที่บริหารประเทศให้หันมาฟังความเห็นของพวกเขาบ้าง
ถึงชั่วโมงนี้ การรวมตัวของเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ คงไม่ใช่แค่สีสันที่จะมองว่าเป็นไฟไหม้ฟาง หากแต่มีโอกาสจะกลายเป็นกระแสการแสดงออกบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น แม้จะมีความกังวลถึงการล้ำเส้นในบางประเด็น หรือกระทั่งการจัดข้าง แบ่งหมวด แต่นี่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่อาจมองข้ามในชั่วโมงนี้
โดยเฉพาะกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ลูกๆ กำลังตั้งคำถาม และถกเถียงถึงสภาพสังคมที่พวกเขาอยู่ในวันนี้ หรืออนาคตที่รออยู่ในวันพรุ่งนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป
วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2563 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ถือโอกาสชวนคุณแม่ของตัวแทน 3 รุ่นมารวมพูดคุยถึงเด็กๆ ในกลุ่มผู้ชุมนุม ที่กำลังเคลื่อนไหวการเมืองกันอย่างคึกคักในชั่วโมงนี้ เพื่อแลกเปลี่ยน และทำความเข้าใจพวกเขา เพื่อเราจะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น
💁🏼 แม่ของนักกิจกรรม
"คุณอยู่สบายไม่ได้หรอก ถ้าสังคมมันไม่ดี"
เสียงยืนยันจาก กนกวรรณ เกิดผลานันท์ สื่อมวลชนอาชีพจากค่ายฟากบางนา คุณแม่ของ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ หนึ่งในนักกิจกรรมหญิงที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในหลายๆ วาระที่ผ่านมา อธิบายถึงมุมมองของเธอเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคม หรือการเมืองที่ส่งแรงกระเพื่อมถึงทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ส่วนตัว เธอไม่ปฏิเสธว่า การเมืองเป็นความสนใจพื้นฐานที่ติดตัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยยุคสมัยที่เติบโตขึ้นมานั้น กนกวรรณมักถูกบอกกล่าวจากผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ไม่อยากให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมือง มันจึงกลายเป็นความขัดแย้ง และคำถามที่สั่งสมอยู่ภายในใจตลอดมา
จนกระทั่งวันที่เธอได้เป็นแม่คน มุมมองบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็กระจ่างชัด
เรามองว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะที่มาทำแบบนี้ ถ้ามันจะมีความเดือดร้อน เราต้องกล้าเผชิญหน้า ก็คิดว่า มันถึงยุคที่เด็กควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้น
โดยเฉพาะเมื่อการเมืองกับครอบครัวเป็น 2 เรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ครอบครัวถือเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม อะไรที่เกิดขึ้นกับการเมืองภาพใหญ่ขึ้นมา ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในหน่วยย่อยเหล่านี้ด้วย ดังนั้น กนกวรรณจึงเลือกที่จะสร้างความสนใจด้านการเมืองให้กับลูกสาวคนเดียวของเธอ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมกับสังคมในฐานะพลเมือง และไม่เพิกเฉยต่อเรื่องการเมือง
การมีส่วนร่วมต่อสังคมของลูกสาวเธอนั้น กนกวรรณอธิบายว่า นอกจากการเลี้ยงดูในครอบครัวแล้ว หนังสือ และสภาพสังคมที่เติบโตมานั้นก็เป็นส่วนประกอบสำคัญ ขณะที่ภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นด้วยความสนใจส่วนตัว หรือแขนงวิชาที่ต้องเก็บหน่วยกิตในห้องเรียนล้วนแล้วแต่หล่อหลอมตัวตนมาเรื่อยๆ กระทั่งการไปเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ยุโรปเมื่ออ้อมทิพย์ขึ้นชั้นมัธยม
กนกวรรณเล่าว่า ลูกสาวเธอได้เห็นเพื่อนๆ ทำกิจกรรมมากมายที่ต่างจากเด็กไทย อย่างกรณีที่มีผู้อพยพทะลักเข้ายุโรป เพื่อนๆ ของเธอก็ต่างออกไปเป็นอาสาสมัครที่เกาะกรีก ทุกอย่างจึงนำไปสู่การขับเคลื่อนทางสังคมผ่านความชอบ และความสนใจของเด็กสาวคนนี้ในเวลาต่อมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลุกขึ้นมาขับเคลื่อนการเมืองของเด็กสาวคนเดียวในบ้านนั้นได้เปลี่ยนองคาพยพของครอบครัวไปโดยปริยาย แม่ และน้องสาวของกนกวรรณจากที่ไม่ได้ใส่ใจกับการเมืองก็หันกลับมาสนใจติดตามข้อมูลข่าวสาร และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่หลานสาวหัวแก้วหัวแหวนถูกข้อหา MBK39 ก็ยิ่งทำให้ทุกคนที่บ้านตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก
กนกวรรณมองว่า นี่คือ อีกผลกระทบหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการเมืองกับครอบครัว และเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกคนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของอ้อมทิพย์ ถึงเธอจะรู้สึกว่าลูกสาวไม่ได้เป็นคนช่างพูด หรือพูดเก่ง เมื่อเทียบกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ แต่ "คำพูด" และ "สติ" ก็เป็นเรื่องที่เธอมักเตือนลูกอยู่เสมอ ซึ่งตัวอ้อมทิพย์เองก็ดูเหมือนจะรับรู้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และกนกวรรณมักได้ยินลูกสาวตัวเองยืนยันให้ฟังเสมอว่า ไม่ได้ชอบการเมือง และไม่อยากให้ใครมาเข้าใจ หรือมองว่าตัวเองเป็นแบรนด์การเมือง จึงทำให้การวางตัว ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกินเลยไปจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองคือชีวิต ผลกระทบของการเมืองต่อคุณภาพชีวิตก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง กนกวรรณยกตัวอย่างตัวเธอเองที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือลูกสาวที่กำลังก้าวขาสู่ตลาดแรงงาน หากการเมืองดี มีคุณภาพ ทุกคนในสังคมก็จะไม่ต้องมานั่งพะวงกับเรื่องเหล่านี้ และนั่นก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายๆ คนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวกันในวันนี้
💁🏼 แม่ของ วัยรุ่น ที่เริ่มสงสัยถึง การเมือง
ด้าน บี-ทิพย์พิมล แม่ของ ‘วัยรุ่น’ ชั้น ม.4 ที่แม้จะไม่ได้ “การเมืองจ๋า” แต่ก็เริ่มมีคำถามกับการเมืองไทยประปราย หลังกลายเป็นประเด็นสนทนารอบตัว ทั้งบนโลกออนไลน์-ออฟไลน์
เธอเล่าถึงสไตล์การเลี้ยงลูกว่า ปกติเลี้ยงแบบคุยทุกเรื่อง ยิ่งตัวเองทำงานด้านสื่อสารเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ก็จะเลี้ยงแบบเป็นเพื่อนกัน อยู่ข้างๆ เขา ส่วนเรื่องการเมือง แม้ว่า ทั้งพ่อและแม่ต่างก็สนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิม แถมยังทำงานด้านสื่อ แต่ก็ไม่พยายามยัดเยียดความคิด หรือเลคเชอร์จริงจัง
“เด็กวัยนี้ไปบอกตรงๆ ไม่ได้ เขามองบนใส่เลยนะ ก็ใช้วิธีคุยกันผ่านเคส เช่น วันนี้ทวิตเตอร์มีแฮชแท็กอะไรบ้าง ก็ชวนคุยไป”
จริงๆ ลูกเราไม่ได้การเมืองจ๋า เขาก็ยังเป็นเด็กวัยรุ่นที่สนุกกับชีวิตประจำวัน ได้เจอเพื่อนใหม่ โรงเรียนใหม่ แต่ช่วง 2-3 เดือนมานี้ การเมืองมันเข้มข้น เขาเล่นทวิตเตอร์ก็เจอเรื่องการเมือง อันไหนสงสัยก็มาถาม เราก็ดูจังหวะเขา เช่น ลูกถามว่า ทำไมเขามาชุมนุมกัน ก็อธิบายสถานการณ์ให้ฟัง แล้วลองโยนหินถามต่อว่า อยากไปไหม หรือบางทีเวลาเจอคำศัพท์แปลกๆ เรื่องการเมือง หรือสงสัยอะไร เขาก็จะมาถาม
อย่างก่อนหน้านี้ เขาก็เคยถามว่า ทำไมประเทศไทยถึงมีนายกฯ เป็นทหาร เราก็อธิบายให้เขาฟังเรื่องการทำรัฐประหาร เล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าเขาฟังแล้วยังดูสนใจ อยากฟัง ก็เล่าต่อเรื่องระบอบการปกครอง เรื่องประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ ฯลฯ
ซึ่งลูกเราเขาจะรับรู้ว่า ประวัติศาสตร์มันมี 2 ชุด คือ แบบที่ต้องตอบในข้อสอบ กับ ความจริงที่อยู่ข้างนอก ก็อธิบายเขาว่า ประวัติศาสตร์ในตำรา มีหน้าที่เพื่ออะไร เขาก็เข้าใจโลกสองใบนี้
โฆษณา