13 ส.ค. 2020 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
EU สั่งลงตัดสิทธิทางการค้าของกัมพูชาแล้ววันนี้ !!
ประเด็นรอบบ้านช่วงนี้ที่น่าสนใจๆคงหนีไม่พ้นทางกัมพูชาที่เพิ่งมีข่าวเรื่องการวางแผนจะเซ็นข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA กับรัฐบาลจีนออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ในฐานะมาตรการกระชับความสัมพันธ์
ที่กัมพูชานั้นเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ยอมเปิดทางให้รัฐบาลจีนส่งนักธุรกิจเข้าไปลงทุนภายในประเทศได้อย่างปลอดภัย และอบอุ่น จนเกิดโปรเจ็คพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่ง
ล่าสุดนี้ทางสหภาพยุโรปที่เคยมีปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลกัมพูชาภายในกรณีการคุกคามกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านเมื่อช่วงหลายปีก่อน ก็ได้ออกมาประกาศความเคลื่อนไหวแล้วว่าทางสหภาพยุโรป
จะทำการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของกัมพูชาออก ในฐานะมาตรการลงโทษที่กัมพูชาไม่ยอมปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกำหนดเอาไว้โดยสหประชาชาติ (Human rights convention)
ทางสหภาพยุโรปจึงตัดสินใจที่จะใช้มาตรการดังกล่าวนี้เป็นการบีบบังคับให้รัฐบาลกัมพูชาให้เลิกคุกคามสิทธิทางการเมือง และเลิกกดขี่ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลเสียที
โดยถ้าหากสหภาพยุโรปนั้นตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของกัมพูชาออก ก็จะทำให้กว่า 20% ของสินค้าจากกัมพูชาที่ส่งออกไปยังปลายทางในกลุ่มประเทศยุโรปเจอรีดภาษีอย่างมหาศาล
คาดการณ์มูลค่ารวมๆแล้วจะเกิดความเสียหายกับภาคการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการที่กัมพุชาสูญเสียสิทธิพิเศษที่เรียกว่า EBA (Everything But Arms) ที่สหภาพยุโรปเคยมอบไว้ให้ เพราะเห็นกัมพูชาเป็นประเทศด้อยพัฒนา
สิทธิ EBA ที่ว่านี้เป็นสิทธิพิเศษทางการค้าที่จะช่วยหักลดภาษีขาเข้าให้แก่สินค้าที่ประเทศด้อยพัฒนาแห่งนั้นๆสามารถส่งของไปขายยังประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องกำแพงภาษี
สินค้าเกือบทุกชนิดที่ส่งไปขายจะได้รับการยกเว้นภาษี ยกเว้นสินค้าประเภทอาวุธหรือยุทโธปกรณ์ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนสำหรับประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว คือ ขอให้เคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิทางการเมืองของประชาชนภายในประเทศก็พอ
1
ซึ่งกัมพูชาไม่เคยเคารพ และไม่เคยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กติกาที่ชุมชนระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ให้เลย แต่ยังมีพฤติกรรมตีกิน พยายามจะใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่สหภาพยุโรปมอบให้แบบฟรีๆ
ทำให้ทางสหภาพยุโรปนั้นรู้สึกว่ากัมพูชาไม่มีความจริงใจ และไม่มีความตั้งใจจริงในการที่จะปฏิรูป แก้ปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศตามที่สหภาพยุโรปเคยร้องขอเอาไว้
เลยถึงเวลาแล้วที่สหภาพยุโรปจะต้องริบสิทธิเหล่านั้นคืนจากกัมพูชา ซึ่งผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจกัมพูชาแน่ๆนั้นจะไปตกอยู่กับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แฟชั่น เช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้า โรงงานผลิตเครื่องแต่งกาย รวมถึงรองเท้า
อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายนี้อาจจะดูเหมือนเป็นอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศไม่ให้ความสำคัญ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนาแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้คือ Cash cows หรือตัวทำเงินอย่างดีของประเทศเลย
กัมพูชาฟันเงินจากอุตสาหกรรมนี้ไปได้อย่างน้อยๆก็ 10,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยทุกๆปีนั้นกว่า 1 ใน 4 ของสินค้าทั้งหมดที่โรงงานภายในกัมพูชาผลิตได้นั้นจะถูกส่งไปขายยังยุโรป
แปลว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องมีอย่างน้อยๆก็ 2,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วคนงานในกลุ่มอุตสาหกรรม GTF (อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและรองเท้า) ของกัมพูชานี้มีอย่างต่ำๆระหว่างจำนวน 500,000 ถึง 1,000,000 คนน่ะ
ถ้ากัมพูชาเสียสิทธิตรงนี้ไป สินค้าจากโรงงานกัมพูชาต้องเจอภาษีที่สหภาพยุโรปกันบานแน่ และอาจจะทำให้กัมพูชาต้องเจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวที่รุนแรงขึ้น เพราะคนงานระดับรากหญ้านั้นตกงานเป็นจำนวนมาก
และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือตัวเลขการส่งออกของปี 2020 นี้ ที่อาจจะถูกทำให้หดลงไปกว่ามากกว่า 10% จากเดิมที่เจอวิกฤติจากไวรัส COVID-19 ระบาด จนทำให้ยอดออเดอร์จากต่างประเทศนั้นลดลงอยู่แล้ว (ถ้ามาเสียสิทธิ EBA ครั้งนี้ไปอีก ยังไงก็เจอปัญหาหนักแน่นอน)
อย่างไรก็ดี ทางตัวแทนของสหภาพยุโรปนั้นได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนไว้ว่า ทางสหภาพยุโรปยังยินดีที่จะปรับแก้มาตรการนี้ แล้วโอนอ่อนผ่อนปรนให้แก่กัมพูชา ขอแค่กัมพูชาตัดสินใจแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และเลิกคุกคามผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ทางสหภาพยุโรปก็ยินดีจะมอบสิทธิ EBA ดังกล่าวนี้คืนให้แก่กัมพูชาแต่โดยดี
ทว่าจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จีนมีต่อกัมพูชาในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ อาจมีความเป็นไปได้สูงว่าทางกัมพูชาจะไม่สนใจการลงโทษ และการตัดสิทธิ์ EBA ของสหภาพยุโรปแต่อย่างใด
เพราะถ้าหากกัมพูชาต้องการเงิน ก็แค่หันไปหาประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหญ่ระดับภูมิภาคภายในเอเชียตะวันออกแห่งนี้ และรัฐบาลกัมพูชาก็เชื่อว่าจีนก็คงยินดีที่จะให้การช่วยเหลือตนอย่างเต็มที่ จึงไม่มีท่าทีตอบโต้ใดๆกลับมาจากทางทำเนียบรัฐบาลกัมพูชา
References
1. บทความจาก Nikkei Asian Review ชื่อ "Cambodia loses EU trade privileges as it rushes FTA with China"
2. บทความจาก Asia Times ชื่อ "What’s next for Cambodia after EBA withdrawal?"
3. บทความจาก Bangkok Post ชื่อ "Hun Sen's big gamble"
4. บทความจาก Financial Times ชื่อ "EU revokes some of Cambodia's trade privileges over human rights violations"
5. บทความจาก Reuters ชื่อ "EU reinstates trade duties on some Cambodian imports over human rights violations"
โฆษณา