5 ก.ย. 2020 เวลา 04:30 • สุขภาพ
เรื่องเล่าเม้าท์ไปเรื่อย..... ตอน วัคซีนโควิด-19 ไปถึงไหนแล้ว ภาค 1
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังค่อนข้างรุนแรงอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ความหวังหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่จะชะลอหรือหยุดการระบาดของโรคโควิด-19 คือ การมีวัคซีนมาใช้ป้องกันการติดเชื้อ นานาประเทศล้วนต่างพยายามศึกษาวิจัยวัคซีน มีความคืบหน้ามาก
1. มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บริษัทยา AstraZeneca ออกมาเปิดเผยว่า วัคซีนChAdOx1 nCoV-19 ผลการศึกษาอย่างน้อยสองการวิจัย ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองจำนวนกว่า 1,077 คน และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการตอบสนองจากภูมิต้านทาน และ T-Cell โดยวัคซีนชนิดนี้ เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บริษัทยา AstraZeneca อาจจะใช้ได้ในสิ้นปี 2563 โดยจะใช้ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน จากนั้นจึงผลิตเพื่อให้ประชากรส่วนที่เหลือ
ขณะนี้การทดลองในระยะที่สามได้เริ่มต้นขึ้นแล้วทั้งในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ และกำลังจะมีกำหนดเริ่มทำการศึกษาในสหรัฐ ฯ ในช่วงต้นปี 2021
หากการทดลองประสบผลสำเร็จจะสามารถเริ่มผลิตวัคซีนได้ต้นปี 2021 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามประเทศสหราชอาณาจักร บราซิลและออสเตรเลียได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าจากบริษัท Astrazeneca แล้วรวมกันกว่า 250 ล้านโดส
2.Moderna บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563 ว่า วัคซีน mRNA-1273 สามารถสร้างการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันได้อย่างแข็งแกร่ง ผลการทดลองขั้นต้นในการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 กับผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมีการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันในระดับที่แข็งแกร่งและสามารถผลิตNeutralizing antibodyได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน และได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
นอกจากนี้ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน พบว่าสูงกว่าภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 2-3 เท่า
ขณะนี้ Moderna กำลังทำการศึกษาวัคซีนในระยะที่ 3 ในเดือนกรกฎาคม มีผู้เข้าร่วมในสหรัฐแล้ว 13,000 คน จาก 89 พื้นที่ ทั่วสหรัฐอเมริกา โดยตั้งเป้าไว้ 30,000 คน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจะเริ่มผลิตวัคซีนได้ในปี 2564
อย่างไรก็ตามประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศจองวัคซีนจากบริษัท Moderna ไว้แล้วกว่า 500 ล้านโดส
3. บริษัท Pfizer และบริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทั้งสองบริษัทได้รับสถานะ “fast track” จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ในการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ขณะนี้ วัคซีน BNT162b1 และ BNT162b2 ถือเป็นวัคซีน 2 ตัวที่มีความคืบหน้ามากที่สุดของไฟเซอร์ และ BioNTech จากทั้งหมด 4 ตัว
การทดลองในเฟสสามเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมแล้ว 23,000 คน ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 30,000 คน กำลังทำการทดลองใน 120 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็น 39 รัฐในสหรัฐอเมริกา
วันที่ 4 กันยายน 2563 CEO ของบริษัท ไฟเซอร์ได้แถลงการณ์ว่า ผลการทดลองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในระยะสาม จะสามารถสรุปผลการทดลองได้ปลายเดือนตุลาคม นั่นหมายความว่าเราอาจจะมีวัคซีนทันใช้ภายในสิ้นปีนี้
และหากวัคซีนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอ ทางบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ และมากกว่า 1.2 พันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า
4. บริษัท Sinovac บริษัทสัญชาติจีน ที่มีความคืบหน้าการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 ลำดับต้นๆของโลก ผลิตวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า CoronaVac เป็นการทำให้ไวรัสอ่อนแรงลง ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ได้
ขณะนี้กำลังทำการทดลองร่วมกับศูนย์วิจัยด้านสาธารณสุขของบราซิล เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 มีอาสาสมัครบราซิลที่เข้ารับการทดสอบคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนประมาณ 9,000 คนใน 6 รัฐ คาดว่า จะสามารถทราบผลได้ภายใน 90 วัน
นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาทดลองในเฟส 3 ที่ประเทศอินโดนีเซียและบังคลาเทศ
คาดว่าไม่เกิน 6 เดือนจะสามารถสรุปผลการทดลองและผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้
หากวัคซีนได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ศูนย์วิจัยของบราซิลจะมีสิทธิ์ในการผลิต 120 ล้านโดสตามสัญญา
5. บริษัท Sinopharm บริษัทสัญชาติจีน ที่ทดลองร่วมกับบริษัทชีวโมเลกุลในอู่ฮั่นและปักกิ่ง
ได้ทำการศึกษาวัคซีนเชื้อตาย เป็นบริษัทแรกๆของโลก
ผลการทดลองของบริษัท Sinopharm ได้เผยแพร่ผลวิจัยในวารสาร JAMA ว่า ผลการทดลองในเฟส 2 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากและไม่มีผลข้างเคียงเลย รวมถึงสามารถกระตุ้น Neutralizing antibody ได้ แต่ในบทไม่วิจัยไม่ได้วัดการตอบสนองของ T cell ในระบบภูมิคุ้มกัน
ขณะนี้บริษัทกำลังทำการทดลองเฟส 3 ในบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครกว่า 15000 คน ตั้งแต่อายุ 18 ปีถึง 60 ปีในสหรัฐอาหรับเอมิเรต เปรู อาเจนติน่า และบาห์เรน
การทดลองจะเสร็จสิ้นและสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้อีก 4 เดือนหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีข้อมูลล่าสุด ราคาวัคซีนของSinopahrm อยู่ที่สนนราคา 4551 บาทต่อ 2 โดส (ต้องมีการฉีดกระตุ้น)
ยังมีอีกหลายบริษัทที่ได้อัพเดทข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 รอติดตามชมภาค 2 ครับ
เรื่องเล่าเม้าท์ไปเรื่อย.....
หากต้องการให้กำลังใจ กรุณาช่วยกดไลค์ กดแชร์ กระทู้ต่อไปนี้หน่อยนะครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา