10 ก.ย. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ต้นตำรับ "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพผู้กล้าหาญและเฉียบขาด สั่งฆ่าหลานชาย และเฆี่ยนลูกชาย แม้จะเป็นลูกหลานของแม่ทัพเสนบดีผู้ใหญ่ก็ต้องเท่าเทียมตามกฎหมาย ไม่มีละเว้นแต่อย่างใด
"ตายก็ช่างมันเถิด จะได้ไปเกิดใหม่ให้เป็นคนดีๆ” เป็นคำพูดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) แม่ทัพใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3
รอยแผลเป็นจากการถูกเฆี่ยน ของทาสในอเมริกา
ภาพศึกอานามสยามจากละคร “ข้าบดินทร์”
เจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพผู้ตรากตรำศึกมานานับไม่ถ้วน กว่า 15 ปี จนทั้งแผ่นดินเขมร ลาว และ ญวณ ต่างเกรงขามในบารมีไปตามๆกัน
เจ้าพระยาบดินทรเดชาสืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิริวัฒนาพราหมณ์ปุโรหิตในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในช่วงเวลาของเจ้าพระยาบดินทรเดชามีศักดิ์เป็นเหลนของพราหมณ์ศิริวัฒนา
โดยท่านได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะความที่เป็นคนเด็ดเดี่ยวจงรักภักดี ทรหด รักแผ่นดิน ชิงชังคนไม่ซื่อสัตย์คดโกง ทั้งยอมสละความสุขสบายออกตระเวนรักษาพระราชอาณาเขต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคบูรพาอยู่เป็นเวลานานหลายปี บางครั้งรอนแรมอยู่ในสมรภูมิชนิดนอนกลางดินกินกลางทราย จนสามารถปกป้องรักษาราชอาณาเขตไว้ได้ เป็นการธำรงรักษาแผ่นดิน ประเทศชาติ และพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าให้ดำรงอยู่เรื่อยมา
รูปปั้น “เจ้าพระยาบดินทรเดชา” ณ วัดจักวรรดิวาส
ในหนังสือ "อานามสยามยุทธ" ที่เขียนและออกตีพิมพ์โดย นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ เมื่อปี พ.ศ.2444 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแม่ทัพใหญ่ผู้นี้ไว้ว่ามีบารมีถึงขนาดที่รัชกาลที่ 3 ทรงเรียกด้วยความยกย่องว่า "พี่บดินทร์"
รวมทั้งได้เล่าเหตุการณ์อันเฉียบขาดของเจ้าพระยาบดินทร์ (สิงห์) เมื่อหลานชายที่มีนามว่า "นายแสง" ขณะออกศึกกับญวณ หลานชายผู้นี้หลบกระสุนปืนญวน และมาแอบหลังจังกูดหางเสือเรือรบ ไม่ออกมาต่อสู้
เมื่อท่านแม่ทัพทราบเรื่อง จึงสั่งฆ่าเสีย เพราะถือว่าเป็นคนขลาด ถึงเป็นหลานแท้ๆก็ฆ่า ไม่มีการภาคทัณฑ์ จนบรรดาไพร่พลในกองต่างเกรงขาม ไม่กล้าหนีศึกสงครามเพราะเกรงอาญา
แผนที่การเดินทัพในสงครามอานามสยาม
อีกเหตุการณ์หนึ่งในช่วงที่ฝิ่นระบาดไปทั้งแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำลายฝิ่น รวมทั้งห้ามค้าและเสพ
"นายแสงมหาดเล็กหุ้มแพร" ผู้นี้เป็นบุตรของท่านแม่ทัพเอง (แต่ชื่อซ้ำกับนายแสงหลานชายคนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) ได้ลักลอบขายฝิ่นจนถูกทางการจับได้ เจ้าหน้าที่ได้นำความไปกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา
ท่านจึงสั่งมัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักขื่อคาแล้วให้นำหวายมาเฆี่ยนหลังที่หน้าจวนของท่าน
เมื่อความทราบถึงบรรดาขุนนางใหญ่หลายท่าน อาทิ พระยาราชนิกูล (เสือ),พระยาอภัยฤทธิ์ (บุญนาก),พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) สามคนนี้ชอบพอกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงรีบรุดไปที่จวนเพื่อขอให้ละโทษ หรือภาคทัณฑ์ไว้ก่อน เพราะกลัวนายแสงลูกชายจะตาย
เมื่อเหล่าบรรดาขุนนางใหญ่มาถึงจวน ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้กล่าวว่า
“เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เราเห็นว่าผู้ใดเป็นเสี้ยนหนามหลักตอต่อทางราชการแผ่นดินแผ่น ประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายแล้วเรามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้….”
การตรึงไว้ เพื่อเฆี่ยน ภาพจาก ละคร “ชาติพยัคฆ์” ช่องสาม
บรรดาขุนนางต่างจนใจพูดไม่ออก รวมทั้งเกรงบารมีของท่าน จึงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากดูท่านแม่ทัพสั่งเฆี่ยนบุตรชายตนเองซึ่งกำลังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
เมื่อราชมัลทะลวงฟัน(เจ้าหน้าที่ผู้ลงมือทำโทษ) เฆี่ยนไปได้ 84 ที นายแสงก็สลบไป
เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (ปาน) บุตรเขยของเจ้าพระยาบดินทรเดชา นําความไปกราบเรียน ขอให้แก้มัดออกมาพักรักษาให้หายก่อนแล้วจึงเฆี่ยนต่อ แต่ท่านกลับถามว่า
"เฆี่ยนได้เท่าไร"
เจ้าหมื่นฯ กราบเรียนว่า " 84 ที ยังขาดอีก 16 จึงจะครบ 100" เจ้าพระยาบดินทร์ก็สั่งให้เฆี่ยนต่อไปอีกจนครบร้อย
เจ้าหมื่นฯ กราบเรียนว่าถ้าเฆี่ยนต่อ เห็นจะตายในคา ท่านก็ว่า “ตายก็ช่างมันเถิด จะได้ไปเกิดใหม่ให้เป็นคนดีๆ”
เจ้าหมื่นสรรพเพธกลัวอาญาก็กราบลาออกมา และสั่งให้ราชมัลทะลวงฟันกระหน่ำเฆี่ยนหลังนายแสงต่อจนครบร้อย
เจ้าพระยาบดินทร์ถามว่า "ตายแล้วหรือยัง"
เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีกราบเรียน "ว่ายังไม่ตาย"
จึงมีบัญชาสั่งว่าให้ปล่อยตัวไปทำราชการต่อดังเก่าเพราะนายแสงมหาดเล็กหุ้มแพร มีราชการต้องเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้ารับใช้พระเจ้าแผ่นดินต่อ
ภาพจาก ละคร “บุพเพสันนิวาส”
รอยแผลเป็นจากการถูกเฆี่ยน
ในค่ำคืนนั่นเองนายแสงมหาดเล็กหุ้มแพรบุตรชายของแม่ทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 3 ในพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ทั้งที่หลังยังลาย เปื้อนโลหิตสดๆไหลลงมา
รัชกาลที่ 3 ทรงรับสั่งให้นายแสงเข้าไปเฝ้าใกล้ๆ นายแสงก็คลานเข้าไปให้ทอดพระเนตร
ทรงเห็นว่าเป็นรอยยับเหมือนสับฟากและสับเขียง ทรงรู้สึกสังเวชสลดพระราชหฤทัยในความดุร้ายของเจ้าพระยาบดินทรเดชา จากนั้นจึงทรงสั่งขุนธนศักดิ์ (ม่วง) ว่า
“อ้ายธนศักดิ์ มึงเอาเงิน 5 ชั่งในคลังให้แก่อ้ายแสงมันไปเจียดยามารักษาแผลที่หลังมันด้วย” และเสด็จเข้าไปในพระราชมณเฑียร
รัชกาลที่ 3
และนี่คือเรื่องราวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพผู้เฉียบขาดและเด็ดเดี่ยว ผู้สร้างความน่าเกรงขามให้แก่แผ่นดินญวณ เขมร และลาว รวมทั้งได้ถูกยกย่องเกียรติจากรัชกาลที่ 3 ว่าเป็นข้าราชการที่มีความจงรักภักดียิ่ง
แต่น่าเสียดายภายหลังจากราชการศึกสงคราม เมื่อท่านกลับมาพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานครได้หนึ่งปี เกิดอหิวาตกโรคระบาด โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและลุกลามมาถึงกรุงเทพฯในเดือนห้า พ.ศ. 2392
ในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอหิวาตกโรค ณ นิเวศสถานบริเวณริมคลองโอ่งอ่างบริเวณเชิงสะพานหันกับบ้านดอกไม้ สิริอายุได้เจ็ดสิบสามปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศเมื่อเดือนหกปี พ.ศ. 2393
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- หนังสือ อานามสยามยุทธ กุหลาบ ตฤษณานนท์ พ.ศ.2444
โดย สำนักพิมพ์แพร่พิทยา(พิมพ์ซ้ำ) พ.ศ.2514
- จดหมายเหตุของเจ้าพระยามุขมนตรี (เกต)
1
โฆษณา