15 ก.ย. 2020 เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์
15 กันยายน “วันศิลป์ พีระศรี” บิดาศิลปะร่วมสมัยของไทย คณบดีศิลปากรคนแรก
"วันศิลป์ พีระศรี" 15 กันยายน บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย หากคุณเคยได้ยินหรือเห็นรอยสักคำว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ที่มาจากภาษาอิตาลีว่า “ars longa vita brevis” วลีนี้โด่งดังขึ้นมาเนื่องจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยึดเป็นแนวคิดคำสอนลูกศิษย์ตลอดมา
- ประวัติ “ศิลป์ พีระศรี”
พ.ศ. 2465 อาจารย์ศิลป์ ปั้นอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญ ณ เกาะเอลบา ก่อนเดินทางมาประเทศสยาม
ศาสตราจารย์ “ศิลป์ พีระศรี” เป็นชาวอิตาเลียนที่ได้รับสัญชาติไทยในภายหลัง เป็นผู้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์ ปรัชญา และความสามารถด้านประติมากรรมและจิตรกรรม ได้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมสำคัญไว้มากมาย ท่านเป็นคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และลูกศิษย์ของท่านเป็นศิลปินแห่งชาติหลายคน ประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เรียงตามไทม์ไลน์โดยย่อ ดังนี้
2435 - Corrado Feroci เกิดที่ประเทศอิตาลี ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2535
2451 - Corrado Feroci ได้เข้ารับการศึกษาในราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)
2458 - Corrado Feroci สำเร็จการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรช่างเขียนในวัย 23 ปี และสอบคัดเลือกได้เป็นศาสตราจารย์ เกียรตินิยมอันดับ 1
2466 - ศาสตราจารย์ Corrado Feroci เดินทางมายังประเทศไทยพร้อมภรรยา นาง Fanni Viviani และบุตรสาว Isabella เพื่อเข้ารับราชการ ตำแหน่งช่างปั้นกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466
ภาพศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับนาง Fanni Viviani และบุตรชาย Romano Viviani
2469 - ศาสตราจารย์ Corrado Feroci รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรม ตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งชาติราชบัณฑิตยสภา
2485 - ศาสตราจารย์ Corrado Feroci ถูกควบคุมตัวเพราะเป็นชาวอิตาเลียน เนื่องจากอิตาลียอมแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ฯพณฯ หลวงวิจิตรวาทการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้เจรจาให้รัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยตัวและโอนสัญชาติเป็นไทย ศาสตราจารย์ Corrado Feroci จึงใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ศิลป์ พีระศรี” เป็นต้นมา
2486 - โรงเรียนศิลปากรถูกแต่งตั้งเป็นมหาวิยาลัยศิลปากร โดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก ภายหลังในภาวะสงครามเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จึงขายทรัพย์สินและเดินทางกลับอิตาลี
ภาพศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับลูกศิษย์
2492 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดินทางกลับมาประเทศไทย เนื่องจากความรักในประเทศไทยและงานที่ยังคั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การกลับมาครั้งนี้ ภรรยาและบุตรไม่ได้ติดตามมาด้วย
2502 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี สมรสครั้งใหม่กับนางสาวมาลินี เคนนี่ (ไม่มีบุตรด้วยกัน)
2505 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากหัวใจล้มเหลวหลังจากผ่าตัดมะเร็งลำไส้ ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 69 ปี 8 เดือน 19 วัน
- “ศิลป์ พีระศรี” กับผลงานสำคัญ
ซ้าย - พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้เป็นอนุสาวรีย์ที่หน้าสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร ขวา - อาจารย์ศิลป์กำลังปั้นม้า ทรงอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสำหรับขยายแบบ ภายในห้องทำงานชั้นนอก
2472 - ปั้นแบบพระบรมรูปปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยหล่อที่ประเทศอิตาลี
2477 - ออกแบบสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
2482 - ออกแบบภาพปั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร
2484 - ปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้เป็นอนุสาวรีย์ที่หน้าสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร
2485 - ปั้นและหล่อทองแดงประติมากรรมประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
2499 - ออกแบบสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรรณบุรี
2500 - ปั้นพระพุทธรูปลีลา ฉลอง 25 พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา
ผลงานชิ้นสุดท้าย คือ ทำงานวิจัยจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรี และเขียนบทความชิ้นสุดท้าย เรื่อง An Appreciation of Sukhothai Art ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 เวลา 20.10 น.
- ภาพผลงานอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อยู่กลางวงเวียนระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท
เรื่องราวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการเก็บรักษาไว้โดยสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ซึ่งก่อตั้งโดยลูกศิษย์ของท่าน ทั้งจากลูกศิษย์ที่ได้เรียนกับท่านโดยตรงและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นต่อมาที่สำนึกในคุณูปการที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สร้างไว้ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกสารและอุปกรณ์การสอนต่างๆ ได้ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- ศิลป์ พีระศรี คําคม
รวมคำสอนสำคัญของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บรรณาธิการ คุณวิจิตร อภิชาติเกรียงไกร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2554 ครบรอบ 119 ปี
“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”
“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”
"นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"
"ถ้านายรักฉัน ขอให้นายทำงาน"
"พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน... ถึงจะเรียนศิลปะ"
"ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ”
"ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต"
"อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองยังคงศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา"
จากบทสัมภาษณ์ของคุณมาลินี พีระศรี ใน “หนังสือ 109 ปี ชีวิตและจิตวิญญาณ ศิลป์ พีระศรี” เล่าถึงมุมมองคำสอนของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ต้องการให้ลูกศิษย์ผู้เป็นนักศึกษาศิลปะแก้ไข ก็คือการเป็นทาสของสุรา ที่หลายคนใช้เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดแรงสร้างสรรค์ แต่แท้จริงคือความหายนะทั้งร่างกายและจิตใจ
ที่มา : หนังสือ 109 ปี ชีวิตและจิตวิญญาณ ศิลป์ พีระศรี, หนังสืออาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ , เฟซบุ๊กศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา