16 ก.ย. 2020 เวลา 11:20 • ข่าว
ข้อตกลงอับราฮัม สันติภาพหรือผลประโยชน์ของใครในตะวันออกกลาง
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเจ้าภาพพิธีลงนามข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างอิสราเอลกับ 2 ชาติอาหรับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ที่ทำเนียบขาว
ทรัมป์ ในฐานะคนกลางไกล่เกลี่ย ประกาศว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในนโยบายต่างประเทศ ระบุว่า “ข้อตกลงฮับราฮัม” จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ และนับเป็นการเริ่มต้นของตะวันออกกลางฉบับใหม่
“ข้อตกลงนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับสันติภ่พอย่างครอบคลุมทั้งภูมิภาค เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะในเวลานี้ ยุคนี้ และในอีกหลายสิบปีข้างหน้า” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าว
-- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนได้อะไร --
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น อ้างคำให้สัมภาษณ์ของพระศาสนายิว ซึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของกษัตริย์บาห์เรน ว่าสำหรับรัฐอาหรับแล้ว หนทางที่จะไปสู่รัฐบาลสหรัฐฯได้นั้น ต้องเดินทางผ่านเยรูซาเลม หรือพูดง่ายๆ ว่า หากต้องการใกล้ชิดกับทรัมป์ ก็ต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำอิสราเอลนั่นเอง
ด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ไม่ได้ปิดบังว่า ประโยชน์อย่างหนึ่งแน่ๆ ของการลงนามครั้งนี้ ก็คือจะทำให้ซื้อเครื่องบินรบ F-35s จากสหรัฐฯได้ง่ายขึ้น และจะทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพทางการทหารเหนือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุชัดเจนว่า อิสราเอลจะต้องหยุดการผนวกดินแดนในเขตพื้นที่ปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลก็หยุดการปฏิบัติการแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะหยุดนานแค่ไหน
ข้อตกลงครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ซื้อเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูงของอิสราเอล อย่างระบบป้องกันขีปนาวุธที่เรียกกันว่าโดมเหล็ก หรือแม้แต่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ อีกมากมาย
ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้น ไม่ว่าทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่ก็ตาม ถ้าทรัมป์อยู่ต่อ ก็ถือว่าได้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นแล้ว หรือถ้าเปลี่ยนเป็นรัฐบาลนำโดย โจ ไบเด็น ก็ยังถือว่าได้เหยียบเข้ามาในด้านบวกของรัฐบาลแล้วเช่นกัน
ส่วนตัวผู้นำอิสราเอลเอง เบนจามิน เนทันยาฮู ก็ถือว่าข้อตกลงครั้งนี้ ได้มาช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาในประเทศ ทั้งอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ วิกฤตไวรัสโคโรนาที่ทำให้ต้องล็อกดาวน์รอบสอง และคดีความทุจริตที่เนทันยาฮูเองต้องเผชิญในศาล
-- บทบาทของทรัมป์ --
รัฐบาลของทรัมป์เล็งเห็นโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางและได้ฉวยโอกาสนี้เปลี่ยนความสนใจจาก ประเด็นขัดแย่งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่แก้ไม่ตก
หลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ รับบทบาทเป็นตัวกลางในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และเป็นคนกลางที่สำคัญกับการเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ นักวิเคราะห์จึงระบุว่า ไม่ว่าจะมีทรัมป์อยู่ในภาพหรือไม่ ข้อตกลงนี้ก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว และทรัมป์และเนทันยาฮูผลักดันให้รีบสำเร็จตอนนี้ เพราะจะได้ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาในประเทศตนเอง
หลังจากนี้จะมีประเทศอื่นตามมาอีกหรือไม่ โอมานออกมาแสดงความยินดีกับข้อตกลงที่เกิดขึ้น ให้สัญญาณว่าอาจเป็นประเทศต่อไปที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอล และถ้าซาอุดิอาระเบียเข้าร่วมด้วย ก็จะนับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่าของภูมิภาค แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญคาดว่าไม่น่าเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
-- ปาเลสไตน์รู้สึกเหมือนถูกทิ้ง --
บทวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นระบุว่า พูดได้ว่า ปาเลสไตน์รู้สึกเหมือนถูกหักหลัง การเจรจาสันติภาพที่ซาอุฯเป็นฝ่ายนำในปี 2002 ระบุไว้ว่าต้องยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ก่อนที่ชาติอาหรับจะสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอล แต่สิ่งที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนทำนั้น กลับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตกลงไว้ เดินหน้าสถาปนาความสัมพันธ์แม้ความขัดแย้งยังไม่ดีขึ้น
ปาเลสไตน์ระบุว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนได้ทรยศต่อ เยรูซาเลม ต่อมัสยิดอัลอักศอ และต่อปาเลสไตน์
และเพราะข้อตกลงนี้ได้รับการผลักดันจากทำเนียบขาว ข้อตกลงอับราฮัมจึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ปาเลสไตน์คับข้องใจกับทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ตัดการสื่อสารกับทำเนียบขาวเมื่อรัฐบาลทรัมป์ตัดสินใจย้ายสถานทูตสหรัฐฯไปเยรูซาเลม
อย่างไรก็ตาม ทางเลือกของปาเลสไตน์นั้นน้อยลงทุกทีๆ ปาเลสไตน์ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ตุรกี และอีกไม่กี่ประเทศเท่านั้น ขณะที่ชาติอาหรับส่วนใหญ่กลับเอนเอียงไปทางอิสราเอล
โฆษณา