25 ก.ย. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
ทำไม เซเรีย อา จึงลบภาพจำการเป็นลีกน่าเบื่อไม่ได้ ทั้งที่ยิงกระจายในยุคนี้ | MAIN STAND
"อิตาลี บอลช้าเล่นน่าเบื่อ" ... ไม่ว่าใครก็ตามคงเคยได้ยินวลีนี้ ทว่าความจริงมันเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือ?
ในซีซั่น 2019-20 ฟุตบอล อิตาลี คือลีกที่ยิงประตูถล่มทลายเป็นอันดับ 2 ของ 5 ลีกดังของยุโรป มีการยิงประตู 1,150 ลูก เฉลี่ยแล้วทุกๆนัดจะมีประตูเกมละ 3.04 ลูก ดังนั้นเรื่องการยิงประตูคงไม่ต้องสงสัยว่าระเบิดภูเขาเผากระท่อมขนาดไหน
ทว่าทำไมมุมมองที่ผู้คนมีต่อลีกอิตาลี หรือความนิยมทั้งในแง่การถ่ายทอดสดและจำนวนแฟนบอลในสนามจึงยังต้องตกเป็นรองลีกดังอื่นๆอีกมากมาย โดยเฉพาะลีกอังกฤษที่ ณ ปัจจุบันมีการยิงประตูรวมทุกนัดน้อยกว่าพวกเขาเสียอีก
ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่
ภาพจำที่ชัดเจน
แม้ว่า กัลโช่ เซเรีย อา จะเป็นลีกที่มีการยิงประตูเฉลี่ยมากที่สุดใน 5 ลีกดังยุโรปเมื่อซีซั่นที่เเล้วไป แต่สถิติดังกล่าวถือเป็น "ของใหม่" และเพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเท่านั้น ทำให้สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเป็นคือการติดอยู่กับภาพจำเก่าๆ หรือสิ่งที่เห็นเป็นประจำติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ภาพจำเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเปิดรับสิ่งใหม่ และนั่นคือสิ่งที่ฟุตบอล เซเรีย อา กำลังถูกมองอยู่ ณ เวลานี้
ในปี 2019-20 พวกเขาอาจจะยิงประตูเฉลี่ยสูงถึง 3.09 ประตู แต่ซีซั่นที่ผ่านมา หรือจะย้อนกลับไปลึกกว่านั้นอีก 3-4 ปี ก็ยังไม่มีปีใดที่มีค่าเฉลี่ยยิงประตูเกิน 3 ลูกต่อ 1 เกมเลย (2018-19 ยิงรวม 1,019 ประตู 2.68 ลูกต่อเกม หรือ ปี 2017-18 ยิงรวม 1,017 ประตู เฉลี่ย 2.68 ลูกต่อเกม) สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและเปลี่ยนภาพจำจากมุมมองของคนดูเสียใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนดูที่เดิมเป็นแฟนลีกอื่นๆอย่างลีกอังกฤษ เพื่อเข้าใจว่าฟุตบอลอิตาลี กำลังเข้าสู่ยุคแห่งความเอ็นเตอร์เทนในเวลานี้
โดยธรรมชาติ เมื่อคนเรารู้สึกพอใจกับสิ่งใด รวมถึงการโตขึ้นมากับสิ่งเหล่านั้น มันยากที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิด หรือมองหาสิ่งใหม่ที่เป็นไปตามยุคสมัย ฟุตบอลก็เหมือนดนตรี ว่ากันว่าคนเรานั้นเมื่ออายุมากขึ้นพวกเขาจะหยุดฟังเพลงหรือเปิดรับเพลงยุคใหม่เพราะชีวิตมีความยุ่งเหยิง พวกเขามีเรื่องให้คิดมากเกินกว่าจะศึกษาอะไรใหม่ๆ
และไม่ว่าเพลงหรือฟุตบอลก็ถือเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย และความหมายของการผ่อนคลาย "ใช้สมองให้น้อย ใช้ความรู้สึกให้มาก" ดังนั้นการจดจำว่าฟุตบอลอิตาลีช้าและน่าเบื่อ จึงยังฝังหัวคนส่วนใหญ่ โดยที่พวกเขานั้นไม่เปิดรับข้อมูลใหม่ๆเท่าไรนักนั่นเอง
ส่วนคำถามต่อมาก็คือทำไมพวกเขาถึงถูกจดจำว่าน่าเบื่อ?
ภาพจำของฟุตบอลอิตาลีนั้น จะบอกว่าน่าเบื่อมันก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่ฟุตบอลอิตาลีนั้นมีเสน่ห์เป็นของตัวเองที่อาจจะไม่ตรงจริตคนดูบอลยุคใหม่เท่าไรนัก เมื่อ 30 ปีก่อน เสน่ห์ของฟุตบอลอิตาลีคือ "เกมรับ" ... ซึ่งปฎิเสธไม่ได้เลยว่านั่นคือกำเเพงชั้นแรก เพราะมีคนจำนวนไม่มากนักที่จะเลือกดูเกมฟุตบอลที่เน้นแท็คติกและวิธีการ มากกว่าฟุตบอลเกมรุกที่เดินหน้าฆ่ามัน เสียเท่าไรยิงคืนเท่านั้นเหมือนฟุตบอลอังกฤษ
ไม่มีใครปฎิเสธเสน่ห์ในเรื่องนี้ จุดเริ่มต้นมาจากกฎของฟุตบอลลีกในยุคเก่าๆที่มีกฎชนะได้ 2 แต้มเสมอได้ 1 แต้ม ช่องว่างของ "ชนะ กับ เสมอ" นั้นห่างกันนิดเดียวเท่านั้น ดังนั้นการเล่นเเบบเพลย์เซฟ คือทางออกที่ยอดเยี่ยมหากต้องการหวังผลงานตอนปลายฤดูกาล
1
ในขณะเดียวกัน จุดเริ่มต้นในยุค 70s ยังส่งผลทางวัฒนธรรมฟุตบอลของอิตาลีมากมาย เช่นการเล่นสไตล์ที่เรียกว่า "คาเตนัคโช่" ที่แปลว่า "ใส่กลอนเกมรับ" ไม่ให้ใครเจาะได้ง่ายๆ และใช้เเท็คติกในการเข้าทำที่น้อยจังหวะแต่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผลผลิตนักเตะดังของอิตาลีหลายคนส่วนใหญ่ก็เป็นนักเตะเกมรับ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเหล่าผู้เล่นเกมรับที่ดีที่สุดในโลกมาตั้งแต่ยุค ดิโน่ ซอฟฟ์, ฟรังโก้ บาเรซี่, เปาโล มัลดินี่, บิลลี่ คอสตาคูต้า, อเลสซานโดร เนสต้า หรือ ฟาบิโอ คันนาวาโร่ ชื่อพวกนี้เป็นแนวรับขึ้นหิ้งทั้งสิ้น
ด้านบทความฟุตบอลของเว็บไซต์ Football Italia ที่ชื่อว่า "Italian teams ought to entertain" หรือ "ทีมในอิตาลีควรจะเล่นฟุตบอลให้สนุกได้เเล้ว" ก็ยังพูดถึงความน่าเบื่อการการเน้นเรื่อง "แท็คติก" มากกว่าลีกอื่นๆ จนบางครั้งสิ่งเหล่านี้เป็นการกลบความสนุกและเอ็นเตอร์เทนไป แม้แต่เหล่านักเตะหลายคนที่ย้ายมาเล่นในลีกอิตาลี ก็ให้สัมภาษณ์ไปในทำนองเดียวกันว่าความยากนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่การซ้อมแล้ว
1
ความยากในที่นี้ไม่ใช่การเล่นตามระบบฟุตบอลที่มีโมเดลชัดเจนอย่างฟุตบอลเยอรมัน แต่ที่อิตาลี มันคือการหาความเชี่ยวชาญของตัวเองและของทีมให้เจอ ปรับเปลี่ยนแท็คติกอย่างอิสระในแต่ละเกม พวกเขาให้ความสำคัญในด้านแท็คติกมากเกินไป และนั่นอาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าเมื่อสโมสรจาก อิตาลี ออกไปเล่นในเวทียุโรป พวกเขามักจะโดนทีมจากลีกอื่นๆเอาชนะได้ด้วยความเร็วและความแข็งแกร่งนั่นเอง
เรื่องนี้ตรงกับสิ่งที่ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ที่เคยเป็นทั้งผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจ นักข่าวกีฬาที่ประเทศอังกฤษ ไปจนถึงผู้บริหารบริษัทชั้นนำของประเทศไทย พูดถึงฟุตบอล อิตาลี ไว้อย่างน่าสนใจว่านักเตะแต่ละคนต้องแสดงความสามารถออกมาก่อน หาจุดลงตัวและวิธีการเล่นที่จะสามารถเข้ากับทีมได้ ทุกอย่างมีอิสระในการเล่นแต่ต้องไหลไปกับกระแสเกมแต่ละนัดให้ได้อย่างแนบเนียนที่สุด
“ผมเคยคุยกับ เยิร์ก ไฮน์ริค (Jörg Heinrich) ซึ่งเป็นนักเตะชาวเยอรมัน ที่เคยเล่นให้กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และมีประสบการณ์ไปเล่นที่อิตาลี กับฟิออเรนตินา ผมถามเขาว่าฟุตบอลเยอรมันกับอิตาลี ต่างกันมากแค่ไหน?”
"เขาบอกว่าต่างกันมาก ที่เยอรมันโค้ชวางแผนให้หมด ว่านักเตะคนไหนมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ตำแหน่งนี้เล่นอย่างไร มีความรับผิดชอบจุดไหน สิ่งที่คุณต้องทำคือต้องเล่นตามแผนให้ได้"
"แต่ไปที่อิตาลี โค้ชของไฮน์ริคในตอนนั้น คือ โจวานนี ตราปัตโตนี (Giovanni Trapattoni) บอกเขาว่าให้ไปซ้อมในแบบที่ตัวเองอยากจะเล่น ไฮน์ริคก็งงเลยตอนนั้น เพราะซ้อมตามแผนที่โค้ชกำหนดมาให้ทั้งชีวิต อยู่ดีๆมาเจอให้ลงไปเล่นฟุตบอลแบบไม่มีแผน" ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ให้สัมภาษณ์กับ MainStand ในบทความ เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มนุษย์ผ่านโลกฟุตบอล กับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
เมื่อเป็นระบบทุกคนรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมแต่ละคนจะอยู่จุดไหน เมื่อเพื่อนได้บอลสิ่งที่ตามมาคือการเข้าทำที่สวยงาม รู้ใจ และมีประสิทธิภาพ ขณะที่ฝั่งของ อิตาลี นั้น แม้ปลายทางคือการยิงให้เข้าปิดสกอร์ด้วยคุณภาพของความเฉียบคม แต่ระหว่างทางคือความสวยงามที่อาจจะไม่เท่ากับฟุตบอลที่มีระบบชัดเจน ตัวอย่างชัดที่สุดคือฟุตบอล บุนเดสลีก้า เยอรมัน ในซีซั่นที่เเล้ว มีประตูรวมทั้งฤดูกาล 982 ลูก (จากทั้งหมด 306 เกม) เฉลี่ยรวม 3.21 ลูกต่อ 1 เกม มากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป
ทุกอย่างกลับไปที่จุดเริ่มต้น ฟุตบอลอิตาลีไม่ได้น่าเบื่อแต่พวกเขามีความสวยงามในแบบของตัวเอง มันคือเกมที่ใช้ศาสตร์ของเกมรับและตัดสินกันว่าใครจะอยู่กับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันได้ดีกว่า เพียงแต่วิธีการอาจจะไม่ถูกจริตคนส่วนใหญ่ที่ชอบบอลเกมรุกสวยงาม มีประตูเยอะๆ นั่นเอง
ปัญหาไม่จบไม่สิ้น
ป่วยการที่จะพูดถึงกัลโช่ โปลี ในปี 2006 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการฉุดภาพลักษณ์ของฟุตบอลอิตาลี จุดนี้หลายคนรู้ดีอยู่เเล้ว ทว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ทำให้ฟุตบอลอิตาลีไม่ได้เป็นที่นิยมในคนส่วนใหญ่ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "การจัดการ" สิ่งนี้สำคัญอย่างที่สุด และมีปัญหามาอย่างยาวนานจนทำให้ลีกที่เคยดีที่สุดในโลกในยุค 90s เดินทางสู่ขาลงเรื่อยๆ
"ฟุตบอลไปถึงจุดสูงสุดแล้วแต่กลับนิ่งไม่ได้พัฒนาอะไรต่อ มันเหมือนจุดสิ้นสุดของทุกสิ่ง ถ้าคุณไม่พัฒนาและเดินหน้าต่อสุดท้ายคุณก็จะโดนแซง ฟุตบอลอิตาลีเป็นอย่างนั้นและยังนิ่งมาจนถึงทุกวันนี้" สเตฟาน สันติ วีระบุญชัย อดีตนักแสดงลูกครึ่งไทย-อิตาลี ที่ปัจจุบันทำแชนแนลฟุตบอลของตัวเองในยูทูบอย่าง Anti Hero พูดถึงเรื่องของการบริหาร ที่ทำให้ฟุตบอลอิตาลีตกต่ำ และโดนจำแบบนั้นเรื่อยมา
"ยังนิ่งมาจนถึงทุกวันนี้" ประโยคนี้ถูกยืนยันโดยสิ่งที่เกิดขึ้นในฟุตบอล กัลโช่ เซเรีย อา ในปลายฤดูกาล 2019-20 ที่อยู่ดีๆลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดระดับท็อป 5 ของโลก ก็ไม่มีการถ่ายทอดสด เนื่องเจ้า beIN Sport เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย ไม่พอใจอย่างมากที่ผู้บริหารของ เซเรีย อา ไม่ตื่นตัวหรือช่วยยับยั้งการขโมยสัญญาณถ่ายทอดสดแบบผิดกฎหมายโดยช่องที่ตั้งชื่อมาเพื่อล้อเลียนอย่าง Beout Sport จากประเทศ ซาอุดิอาระเบีย
สิ่งที่ beIN โกรธเพราะว่าผู้บริหารระดับสูงของกัลโช่ เซเรีย อา ไม่มีความจริงจังในการจัดการกับปัญหานี้เลย เพราะนี่ไม่ใช่ซีซั่นแรกที่ฝั่ง beIN โดยขโมยสัญญาแบบดื้อๆ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018-19 แล้ว ทาง beIN มองว่าการเพิกเฉยก็เหมือนกับการสนับสนุนช่องเถื่อน ดังนั้นพวกเขาที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อถ่ายทอดไปทั่วโลกแต่เพียงผู้เดียว ก็เหลืออดจนประกาศยุติการถ่ายทอดกัลโช่ เซเรีย อา มาจนทุกวันนี้ ...
เห็นได้ชัดว่าปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสดแบบเถื่อนที่ทุกลีกทั่วโลกแก้ปัญหากันได้ แต่ลีก อิตาลี ที่เป็นลีกชั้นนำกลับไม่ยอมแก้ไขอย่างจริงจัง มันเหมือนกับพวกปล่อยให้งูเหลือมเข้าบ้าน เข้ามาลักไก่ไปจนหมดเล้า โดยที่พวกเขายืนดูเฉยๆโดยไม่ทำอะไร
"ถ้าลีกอังกฤษหรือลีกเยอรมัน ทางลีกเขาจะเข้ามาจัดการช่วยเคลียร์เรื่องพวกนี้เเล้ว แต่อิตาลีแม่งนิ่งไม่ทำอะไร จน beIN เหลืออดต้องด่าฝั่งผู้บริหารของกัลโช่ ที่ไม่คิดแม้แต่จะพยายามช่วย" สเตฟาน กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้เซเรีย อา ยังพลาดสิ่งสำคัญจุดใหญ่ที่สุดอย่าง "การตลาด" หรือ "ทีมมีเดีย" ที่จะเผยแพร่สิ่งดีๆ เรื่องราวสนุกๆ ประตูสวยๆ ภายใน เซเรีย อา ให้ออกไปสู่สายตาคนภายนอกเหมือนกับที่ บุนเดสลีก้า หรือ พรีเมียร์ลีก ทำในทุกวันนี้
ฝั่งบุนเดสลีก้าเองเต็มที่กับเรื่องนี้มากในปัจจุบัน เพราะถ้าใครได้ติดตามทางช่องยูทูบ หรือแม้แต่เพจเฟซบุ๊คอย่างเป็นทางการ จะพบว่ามีการอัพเดทเรื่องราวน่าสนใจตลอดเวลาทั้งแบบวีดีโอไฮไลต์ หรือบทสัมภาษณ์นักเตะ เหนือสิ่งอื่นใดคือฝั่งบุนเดสลีก้ามีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าทุกกับผู้คนทั่วโลกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ฝั่งอังกฤษแทบไม่ต้องสงสัย พวกเขาให้ความสำคัญกับจุดนี้มานานจนกลายเป็นลีกมูลค่าสูงที่สุดในโลก ทุกช่องชั้นนำมีรายการเกี่ยวกับฟุตบอลให้ได้รับชมอย่างเต็ม เรียกได้ว่าเป็นราชาของคอนเทนท์โดยแท้จริง
แตกต่างกับลีกอิตาลี แม้ว่าพวกเขาจะมีคลิปไฮไลต์ หรือคอนเทนท์ทางยูทูบ แต่หลายครั้งกลับเป็นการนำเสนอผ่านช่องเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด โดยเฉพาะในไทยที่ผ่านแชนแนล beIN Sport ซึ่งจุดนี้อาจจะตกหล่นสิ่งที่ต้องการสื่อสารจริงๆ
นอกจากนี้ พวกเขายังสอบตกในการนำเสนอคอนเทนท์เรียกแฟนบอลใหม่ๆ เช่นการให้นักเตะอวยพรแฟนบอลในประเทศต่างๆด้วยภาษาท้องถิ่น หรือการให้นักเตะชาเล้นจ์แปลกๆ อาทิ ลิเวอร์พูล ที่เคยให้นักเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาไทย แมนฯ ซิตี้ ให้นักเตะอ่านชื่อเมืองต่างๆทั่วโลก ที่ทีแฟนบอลของพวกเขา อะไรแบบนี้เป็นต้น
ดังนั้นต่อให้พวกเขาจะเล่นสนุกขึ้นแค่ไหน มีค่าเฉลี่ยการทำประตูสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดอย่างไร ก็คงไม่มีความหมาย หากสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถไปเสิร์ฟถึงหน้าจอของกลุ่มแฟนบอลหน้าใหม่ได้ เมื่อส่งสารและบอกเล่าสิ่งดีๆที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ถึงผู้รับสาร ก็ยากที่ใครสักคนจะเปิดใจเพื่อพิสูจน์ว่า เซเรีย อา ไม่ได้น่าเบื่ออีกต่อไป
ส่วนแนวทางแก้ไขนั้นคงต้องดูลีกอย่างพรีเมียร์ลีกหรือบุนเดสลีก้าเป็นตัวอย่าง ให้ความสำคัญเรื่องการตลาดและการนำเสนอให้มากเข้าไว้ ฟุตบอลยุคปัจจุบันไม่ใช่กีฬา แต่มันคือความเอ็นเตอร์เทน การจะทำให้คนสนุกกับฟุตบอลอิตาลี ไม่ใช่แค่การยิงประตูที่เยอะแยะมากมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้การเล่นให้สนุกจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แต่ฟุตบอลอิตาลียังต้องพยายามตื่นตัวในอีกหลายๆด้าน อย่างน้อยที่สุดพวกเขาต้องเริ่มใส่ใจ เห็นคุณของสิ่งที่ตัวเองมี และต่อยอดให้ยั่งยืนกว่าเดิม ไม่ใช่ตกต่ำกว่าเคยเหมือนทุกวันนี้
เพราะที่จริงพวกเขาไม่ได้น่าเบื่อ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ขายสิ่งที่ดีที่สุดที่ตัวเองมีเท่านั้นเอง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา