3 ต.ค. 2020 เวลา 08:23 • กีฬา
ที่จอดรถเต็ม คนแน่นสนาม : เมื่ออยู่ ๆ พอล สโคลส์ ก็เล่นให้ทีมดิวิชั่น 11 | MAIN STAND
"เอาล่ะเว้ย ! วันนี้ผมได้เป็นคู่แข่งกับ พอล สโคลส์ ว่ะครับเพื่อน ๆ" นักบอลสมัครเล่นคนหนึ่งจากทีมในลีกระดับดิวิชั่น 11 ของอังกฤษ โพสต์ข้อความนี้ออกไปทางทวิตเตอร์ หลังรู้ตัวว่าวันนี้ลีกรากหญ้าที่เขาจะลงแข่งขัน มีอดีตเเข้งระดับโลกผู้ยิ่งใหญ่อย่าง พอล สโคลส์ ลงสนาม และจะลงแข่งขันในฐานะนักเตะทีมคู่แข่งของเขา
ทันทีที่ข้อความหลุดออกไป สนามเหย้าของทีม สต็อคพอร์ท จอร์เจียนส์ ที่ไม่มีแม้แต่ชาวบ้านหรือเพื่อน ๆ นักบอลเข้ามาดู เริ่มมีรถยนต์มาจอดมากขึ้นเรื่อย ๆ คนดูมาจากไหนไม่รู้แห่เข้ามาในสนาม รู้ตัวอีกที เรื่องราวของ สโคลส์ ในซันเดย์ลีก ก็กลายเป็นไวรัลจนสื่อทั้งประเทศพร้อมกันรายงาน ...
เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น สโคลส์ กับดิวิชั่น 11 มาเจอกันได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่ ?
ลีกบ้าน ๆ ที่มีแต่ความสุข
มันคือความบ้าฟุตบอลของคนอังกฤษโดยแท้จริง แม้พวกเขาจะมีลีกฟุตบอลอาชีพที่ได้รับความนิยมมาก คนดูแน่นสนามได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ แต่ปัญหาคือคนอังกฤษไม่ได้แค่ชอบดูอย่างเดียวเท่านั้น ... พวกเขาชอบเตะฟุตบอลด้วย
Photo : www.herefordtimes.com
ดังนั้นประชากรที่มีอาชีพและงานอดิเรกเป็นนักฟุตบอลจึงมีอยู่ทั่วทุกมุมประเทศ การจะให้ผู้เล่นจำนวนเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ไปอัดแน่นในลีกอาชีพที่มีพื้นที่รองรับนักเตะที่ดีที่สุดเพียงหลักพัน คงจะไม่ตอบโจทย์มากมายนัก พวกเขาจึงต้องเพิ่มลีกสมัครเล่นขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ลีกฟุตบอลของอังกฤษแบบรวมทั้งอาชีพและสมัครเล่นจึงมีถึง 17 ดิวิชั่นกันเลยทีเดียว
ส่วนความแตกต่างลีกรากหญ้าระดับล่างมาก ๆ (ดิวิชั่น 10 เป็นต้นไป) กับดิวิชั่นบน ๆ ก็คือจุดประสงค์ในการลงสนาม ในกลุ่มชนชั้นลีกล่าง พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ลงแข่งขันกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ หรือหวังจะสร้างชื่อเสียงด้วยฟุตบอลแต่อย่างใด ทีมเหล่านี้ไม่ได้หวังอะไรใหญ่โตจนเกินตัว เป้าหมายหลักคือการเป็นพื้นที่สันทนาการของชุมชน ให้ผู้คนได้มาออกกำลังกาย ได้มีทางเลือกที่สองในการเชียร์ฟุตบอล นอกจากจะเชียร์ทีมใหญ่เป็นทุนเดิมแล้ว การมีทีมเล็ก ๆ แถวบ้านที่คนรู้จักเป็นนักเตะ เป็นโค้ช หรือเป็นประธานสโมสร ก็จะทำให้ผู้คนในชุมชนสามารถใช้เป็นที่รวมตัวกัน สร้างความสุข ความสัมพันธ์ ในหมู่คนดู และสร้างสุขภาพพลานามัยของคนที่เป็นนักฟุตบอลด้วยนั่นเอง
Photo : www.dreamteamfc.com
ความบ้าน ๆ ของลีกรากหญ้านั้นเป็นเสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็ต้องหลงรัก เพจเฟซบุ๊ก หรือ เว็บไซต์เกี่ยวกับฟุตบอลระดับโลกมากมาย ก็ยังชอบหาเรื่องราวแปลก ๆ ในลีกเหล่านี้มาเล่าบนพื้นที่ของพวกเขาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวที่แสนตลกโปกฮา เรื่องราวของนักสู้ หรือแม้กระทั่งความประหลาดที่ไม่อาจจะเห็นได้ในลีกระดับบน ๆ ของประเทศเลย
เอารองเท้าแตะใส่แทนสนับแข้งเพื่อหลอกตากรรมการ (ตามกฎต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน), นักเตะเมาค้างปั่นจักรยานมาถึงสนามแล้วลงเล่นทันที, กรรมการขอพัก 5 นาทีเพื่อสูบบุหรี่, ผู้รักษาประตูตัวอ้วน 150 กิโลกรัม ... นี่คือเรื่องที่เคยเป็นข่าวหรือเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียมาแล้วทั้งนั้น
Photo : Swinton Park Inn @parkinnfc
ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน และวิธีการเล่นที่ห่างกันหลายช่วงตัว จึงทำให้น้อยครั้งมากที่จะพบนักเตะซึ่งเคยเล่นในระดับสูงมาปรากฎตัวในลีกรากหญ้าเช่นนี้ และถ้าหากว่านักเตะเบอร์ใหญ่ที่สุดที่มาโผล่ในสนามที่เป็นหลุมเป็นบ่อ หญ้ามีบ้างไม่มีบ้างเป็นหย่อม ๆ เหล่านี้คือใคร หนึ่งในคำตอบนั้นจะต้องมี พอล สโคลส์ ตำนานนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่างแน่นอน
นักเตะของ รอยตัน ทาวน์
เรื่องราวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนปี 2018 กับสโมสรที่ชื่อ รอยตัน ทาวน์ (Royton Town) ทีมในลีกท้องถิ่นของเมืองแมนเชสเตอร์ (Rochdale Alliance League) แรกเริ่ม ทีมนี้ชื่อ Stotts Benham ก่อตั้งโดยกลุ่มพนักงานโรงงาน ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็นทีมเป็นเช่นปัจจุบันในปี 1985
Photo : Royton Town AFC
อย่างไรก็ตาม นโยบายของสโมสรนั้น เน้นการสร้างทีมเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของท้องถิ่นมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน รอยตัน ทาวน์ ก็ไม่เคยได้เล่นลีกระดับอาชีพเลยสักครั้ง แม้จะไร้ความสำเร็จที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่สิ่งที่พวกเขาได้กลับมาคือท้องถิ่นสัมพันธ์ ทีมมีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนมากมาย อาทิ การวิ่ง 200 กิโลเมตร เพื่อนำเงินให้กับการกุศล เป็นต้น ด้วยการทำทีมแนวนี้จึงทำให้ รอยตัน คือทีมที่มีแฟนบอลชาวเมืองเข้ามาร่วมเชียร์และสนับสนุนเสมอหากไม่ตรงกับโปรแกรมทีมรักอันดับหนึ่งของแต่ละคนลงแข่งขัน
และจุดนี้เองที่ทำให้เรื่องราวของ พอล สโคลส์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับทีม เพราะนี่คือทีมที่ให้โอกาสทุกคนที่อยากจะเล่น จะอายุน้อยหรือมาก หากชอบเล่นฟุตบอล และมีคุณสมบัติที่สามารถอยู่กับทีมได้ ประตูทางเข้าพร้อมต้อนรับเสมอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แอรอน สโคลส์ ลูกชายคนแรกของมิดฟิลด์ทีมปีศาจแดงนั่นเอง
Photo : www.oldham-chronicle.co.uk
แอรอน ไม่ใช่คนเล่นฟุตบอลเก่งอะไร และก็ไม่ได้ถูกพ่อผลักดันให้ลุยเรื่องฟุตบอลอย่างจริงจัง ดังนั้นเขาจึงไม่ได้เติบโตมาจากระบบอคาเดมี แต่เขาเลือกจะเรียนหนังสือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างจริงจังมากกว่า อย่างไรก็ตามด้วยความบ้าบอลของคนอังกฤษ เสี้ยวหนึ่งในชีวิตของพวกเขาย่อมต้องผูกกับฟุตบอลเป็นอย่างน้อย และนั่นทำให้ แอรอน ได้เข้ามาอยู่ในทีม รอยตัน ทาวน์ ตั้งแต่อายุ 17 ปี
ย้อนกลับไป ณ เวลานั้น รอยตัน ทาวน์ สิ้นหวังมาก นอกจากจะไม่มีแววเลื่อนชั้นแล้ว นักเตะตัวหลักในทีมยังติดภารกิจลงเล่นไม่ได้ บางคนเจ็บ บางคนลางานไม่ได้ บางคนก็มีธุระส่วนตัว ซึ่งด้วยความเป็นสัญญาแบบพาร์ทไทม์ การไม่ลงเล่นให้ต้นสังกัดไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร พวกเขาแค่ไม่ได้เงินค่าตอบแทนเท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้มีอาชีพหลักและบทบาทชีวิตจริงให้ต้องรับผิดชอบ การจะโดนหักเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่ปัญหา ครอบครัวและปากท้องต้องมาก่อน ฟุตบอลมาทีหลังอะไรประมาณนั้น
ก่อนโปรแกรมดวลกับ สต็อคพอร์ท จอร์เจียนส์ (Stockport Georgians) กุนซือของ รอยตัน อย่าง มาร์ค ฮาเวิร์ด ต้องปวดสมองเพราะนักเตะหายไป 9 คน และ ฮาเวิร์ด เองจริงจังกับเรื่องนี้ เขาไม่กลัวการแข่งแล้วแพ้ แต่การแพ้เพราะตัวไม่ครบและคนอื่น ๆ ที่อยากลงสนามต้องผิดหวัง ... อันนี้เขารับไม่ได้
1
"นักเตะตัวหลักของเราหายจากทีมไป 8-9 คนเลยนะตอนนั้น ผมต้องขอความช่วยเหลือ" ฮาเวิร์ด ว่ากับ BBC และความช่วยเหลือนั้นก็มาจาก แอรอน สโคลส์ ลูกทีมของเขาเอง
เดิมที รอยตัน เริ่มหานักเตะที่จะมาลงเล่นเกมนี้ได้แล้วแต่ยังไม่ครบ ทำยังไงก็ยังขาด ดังนั้น แอรอน จึงบอกกับ ฮาเวิร์ด ว่า "เดี๋ยวผมไปบอกพ่อผมให้" ... ซึ่งตัว สโคลส์ เองก็ถือเป็นลูกหลานเมืองแมนเชสเตอร์ (เจ้าตัวเกิดที่ ซัลฟอร์ด ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชานเมือง) และเห็นทีม รอยตัน มานาน มีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด ดังนั้นเขาจึงตอบกลับว่า "ได้สิ" เท่านั้นเอง รอยตัน ทาวน์ ก็ตัวครบพร้อมลงแข่งขันแล้ว
Photo : www.dailymail.co.uk
"จากนักเตะที่ขาดไปเพียบ ผมบอกกับ พอล และเขาตอบกลับว่ายินดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจะได้เล่นร่วมกับลูกชายของเขา" ฮาเวิร์ด กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นลีกสมัครเล่น แต่การดำเนินการสิ่งใด ๆ นั้นจำเป็นจะต้องเป็นไปตามกฎตามระเบียบ การจะให้สโคลส์กระโดดลงสนามเลยทันทีมันไม่ได้ เพราะผิดกฎ พวกเขาต้องทำเอกสารและส่งชื่อให้กับสมาคมให้เรียบร้อยก่อน และเรื่องนี้ แกรี่ ลีมิ่ง ประธานสโมสรผู้เป็นคนรับเรื่อง ก็รีบจัดการให้โดยทันที
กฎของลีกสมัครเล่น คือทีมสามารถเซ็นสัญญานักเตะตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีช่วงเวลาตลาดซื้อขาย หากเอกสารการโอนย้ายเรียบร้อย นักเตะสามารถลงเล่นได้ทันที ดังนั้น สโคลส์ จึงได้ขึ้นชื่อว่าครั้งหนึ่งเป็นนักเตะของต้นสังกัด รอยตัน ทาวน์ ในปี 2018 ตอนที่เขาอายุ 43 ปี
"เราสิ้นหวังแบบสุด ๆ เลย ไม่มีทางรอด นักเตะหายไปค่อนทีม แถมตัวเลือกก็แทบไม่เหลือ โชคยังดีที่ สโคลส์ บอกว่าเขายินดีจะช่วย หากเราหมดทางไปไร้คนลงแข่งจริง ๆ" แกรี่ ลีมิ่ง ว่าต่อ
"ก่อนแข่งวันเดียวผมรีบไปทำเรื่องเอกสารการเซ็นสัญญากับเขา ข้อมูลที่ผมจะต้องกรอกส่งให้สมาคมคือ ชื่อเสียงเรียงนามและสโมสรเก่าที่นักเตะคนนั้นเคยลงเล่น ผมก็กรอกไปว่า พอล สโคลส์ เคยลงเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รู้ไหมลีกตอบกลับผมว่ายังไง ?"
"ผมส่งเอกสารไปปุ๊บพวกเขาก็โทรมหาผมปั๊บ บอกว่า "นี่คิดว่าผมตลกด้วยเหรอ ?" แกรี่ ยังฮาลั่นเมื่อเล่าเรื่องนี้ให้กับสื่อท้องถิ่นอย่าง Manchester Evening News ฟัง เพราะแม้แต่ประธานลีกยังไม่เชื่อ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีม รอยตัน ทาวน์
ลีกดิวิชั่น 11 ที่คนดูเต็มสนาม
"When Sathurday Comes" คือวลีของคนอังกฤษที่สื่อให้เห็นว่าเมื่อวันเสาร์มาถึง พวกเขาจะได้ดูฟุตบอล และสำหรับทีมลีก 11 อย่าง รอยตัน แฟนของพวกเขาเริ่มทยอยเข้ามาดูเกม ด้วยจำนวนไม่ต่างจากแมตช์อื่น ๆ
1
Photo : www.dailymail.co.uk
แฟนบอลนั่งลงประจำที่ และเมื่อมีการวอร์มอัพก่อนลงสนามพวกเขาก็เห็นคนที่คุ้นหน้าคุ้นตา ลูกหลานเมืองแมนเชสเตอร์และฮีโร่ของเมืองนี้อย่าง พอล สโคลส์ ... เมื่อนั้นทุกคนไม่อาจจะอยู่เฉยได้ อยู่ดี ๆ ก็ได้เห็น พอล สโคลส์ ในลีกดิวิชั่น 11 หลายคนถ่ายรูปอัพสเตเตัสบอกเล่าเรื่องนี้ก่อนเกมเริ่มเพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่า "รีบมาดูสโคลส์เร็ว ๆ"
ไม่ใช่แค่แฟนบอลเท่านั้น วิล คัลเลน นักเตะของทีมคู่แข่งยังโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า "เอาล่ะเว้ย ! วันนี้ผมได้เป็นคู่แข่งกับ พอล สโคลส์ ว่ะครับเพื่อน ๆ" เมื่อสองแรงบวกกันก็เป็นไฟลามทุ่ง ผู้คนในย่านนั้นต่างรีบกุลีกุจอมาที่สนาม จนลานจอดรถเต็ม แม้เกมนั้น รอยตัน จะต้องไปเยือน สต็อคพอร์ท ก็ตาม
"ตั้งแต่ผมเป็นผู้บริหารทีมมา ผมไม่เคยเห็นครั้งไหนที่มีคนเข้าสนามมากขนาดนี้เลยนะ ที่จอดของสต็อคพอร์ทเต็มเอี๊ยดขยับไม่ได้เลย" แกรี่ ว่าต่อ
Photo : Royton Town AFC
สโคลส์ ในวัย 43 ปี ถูกส่งลงสนามในฐานะตัวสำรอง และเริ่มเรียกเสียงฮือฮาให้กับแฟนบอลทั้งสองทีม ต่อให้เป็นแฟนของทีม สต็อคพอร์ท พวกเขาก็อยากเห็นสโคลส์ ยิงไกลให้ดูเป็นบุญตา ... มันมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่กลุ่มแฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด ทำ นั่นคือเมื่อสโคลส์ ได้อยู่ในพื้นที่ส่องไกล แฟนบอลจะตะโกนว่า "ชู้ตตตตตต" (ยิงแม่งเลย) พร้อม ๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่าเสียงนี้เกิดขึ้นในเกมระหว่าง สต็อคพอร์ท กับ รอยตัน ทาวน์ ด้วย
น่าเสียดายที่สุดท้าย สโคลส์ ในวัยเสือเฒ่า เปลี่ยนแปลงอะไรผลการแข่งขันไม่ได้ การขาดนักเตะไป 9 คน ยากเกินจะพลิกสถานการณ์ สุดท้าย รอยตัน ก็แพ้ สต็อคพอร์ท ไป 0-1 แต่สิ่งสำคัญหลังจากนั้นคือ การที่สโคลส์มาปรากฎตัวในสนามของลีกดิวิชั่น 11 แบบนี้ ทุกสื่อฟุตบอลต่างลงข่าวจนเป็นกระแสในชั่วข้ามคืน
"มันยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่ สโคลส์ มาเล่นให้กับเรา เขายกระดับนักเตะรอบตัวได้ประมาณ 10-15% เกมดูสนุกขึ้นมากเพราะนักเตะฝั่งตรงข้ามก็ไม่อยากทำอะไรโง่ ๆ ต่อหน้าพวกเรา" มาร์ค ฮาเวิร์ด กล่าว
ด้าน แกรี่ ลีมิ่ง ก็ชอบใจไม่หยุด ทีมของเขาลงบนหน้าสื่อทุกฉบับทั่วประเทศ และถ้ามีโอกาสเขาคงหวังให้นักเตะในทีมลาป่วยลากิจครึ่งค่อนทีมอีกสักครั้ง ทีมจะได้เจออะไรระดับปรากฎการณ์แบบนี้อีก
Photo : Arron Scholes @azscholes
"มันสุดยอดจนนึกภาพไม่ออก สำหรับฟุตบอลระดับสมัครเล่นอย่างเรา ใครบางคนที่ยิ่งใหญ่เหมือน พอล สโคลส์ ก็ยังสามารถมาลงเล่นในลีกระดับนี้ได้ เขายังคงเป็นแม่เหล็กเรียกสื่อ และมันทำให้ทุกคน ทุกฝ่ายฮือฮากับการปรากฎตัวของเขา" แกรี่ กล่าว
ผลการแข่งขันในเกมนี้ หรือแม้กระทั่งกระแสของ พอล สโคลส์ อาจจะไม่ได้ช่วยเปลี่ยนอะไรในระยะยาวเกี่ยวกับฟุตบอลรากหญ้า แต่ที่สำคัญคือมันทำให้เราได้รู้ว่าลีกเล็ก ๆ ที่เล่นกันในท้องถิ่นของอังกฤษ มีความสำคัญกับประชากรท้องถิ่นมากขนาดไหน และนั่นคือเหตุผลที่ว่าถึงแม้พวกเขาจะแข่งกันไปวัน ๆ แต่สุดท้ายลีกสมัครเล่นเหล่านี้ก็สมควรที่จะได้รับการใส่ใจดูแลต่อไป ชุมชนคือรากฐานที่สำคัญของประเทศฉันใด ฟุตบอลลีกรากหญ้าก็ถือเป็นฐานที่แข็งแกร่งของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฉันนั้น ... นั่นเอง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา