5 ต.ค. 2020 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ECONOMY INSIGHT : ผู้นำของ IMF กล่าวว่าวิกฤต COVID-19 คือโอกาสที่ดีในการแก้ไขระบบทุนนิยมโลกไปสู่รูปแบบที่มีความเท่าเทียมกันในทั้งประเทศที่ร่ำรวยและยากจน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมโลกที่มุ่งเน้นไปสู่พลังงานสะอาด
การเติบโตภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้สอนให้ Kristalina Georgieva เห็นคุณค่าของตลาดเสรีและการแข่งขัน และปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression ทำให้เธอมองเห็นโอกาสในการปฏิรูประบบทุนนิยม
IMF Managing Director Kristalina Georgieva shown in her office 2020. Photographer: Kim Haughton/IMF
เมื่อ Kristalina Georgieva กลายเป็นกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อปีที่แล้ว เธอได้นำประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครมาสู่บทบาทนี้ และเธอยังเป็นหัวหน้าของ IMF คนแรกที่เกิดในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเติบโตในเมือง Bulgaria เมื่อครั้งเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต ซึ่งแตกต่างจากผู้นำรุ่นก่อนของเธอ Christine Lagarde จากฝรั่งเศสซึ่งตอนนี้เป็นผู้นำธนาคารกลางยุโรป (ECB) และผู้ชายส่วนใหญ่ 10 คนที่มาก่อนเธอ
Georgieva ไม่ได้สร้างชื่อเสียงของเธอในกระทรวงการคลังหรือธนาคารกลาง แต่เธอเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาจากธนาคารโลก (World Bank) และที่คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป (European Commission)
เธอกล่าวว่าได้เตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่ IMF เรียกว่า "Great Lockdown" ซึ่งเป็นความตกใจทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อปี 1930 ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง IMF จึงได้ดำเนินการขอสินเชื่อฉุกเฉินจากสมาชิกมากกว่าครึ่งหนึ่งจาก 189 คนซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IMF และธนาคารโลกซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1944
Georgieva ได้พูดคุยกับ Bloomberg Markets เมื่อวันที่ 11 กันยายนเกี่ยวกับความท้าทายที่ IMF กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงความมุ่งมั่นของเธอในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรม
"ไม่สำคัญว่าธุรกิจหรือบริการทั่วโลกจะขายสินค้าอะไร เพราะเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ขาดแคลน และนั่นเป็นความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดว่าเรากำลังกดดันศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงการใช้ขีดความสามารถของเราต่ำเกินไปทำให้คนมีโอกาสน้อยลง ดังนั้นฉันจึงเป็นผู้สนับสนุนที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างสถานที่สำหรับการแข่งขัน (ที่เท่าเทียมกัน) โดยอาศัยกลไกตามธรรมชาติของตลาดเพื่อช่วยจัดสรรทรัพยากร"
"ส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราเกี่ยวกับการพัฒนา คือเราไม่สามารถมุ่งเน้นเพียงขอบเขตแคบ ๆ โดยไม่มีการเติบโตของ GDP เราต้องคิดถึงความยั่งยืนของการเติบโต ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม"
"นอกจากนี้ เราต้องคิดถึงการกำกับดูแลและการคอร์รัปชั่น เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของเรา และในฐานะที่เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของ World Bank ฉันจึงมองว่ามีความเสี่ยงที่สำคัญมากอยู่ตรงหน้าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่กลไกตามธรรมชาติของตลาดได้ ดังนั้นนโยบายจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของตลาด"
"ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐ ฯ ในช่วงทศวรรษที่ 80 สิ่งที่ฉันมุ่งเน้นในการศึกษาคือการใช้กลไกตลาดและการแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของตลาด โดยเฉพาะในการจัดการกับปัญหาของกำมะถัน และมันมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับสิ่งที่ฉันกำลังทำเพื่อจัดการกับวิกฤต COVID-19 ในตอนนี้โดยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสิ่งที่สอนฉันคือการกลั้นใจรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด ลงมือทำอย่างเด็ดเดี่ยว และมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือคนที่เปราะบางที่สุด"
"การตัดสินใจระดับมหภาคจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและเราต้องคิดถึงผลที่ตามมา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยุติธรรม และครอบคลุมมากที่สุด"
(กราฟด้านล่างจะแสดงให้เห็นถึงมูลค่าการปล่อยกู้แก่กลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดจาก IMF เพื่อลดความยากจนและเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของการเจริญเติบโต ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปี 2020 นี้มีการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า)
"ในระยะยาว วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดที่เรากำลังจะต้องเผชิญคือวิกฤตสภาพอากาศ และ IMF ควรจะอยู่ในระดับแนวหน้าสำหรับการแก้ปัญหานี้ ความรับผิดชอบของเราคือความมั่นคงทางการเงิน การเติบโตของเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ซึ่งหากเราไม่รับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้ ก็จะมีผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อการเติบโตในตลาดแรงงานและเสถียรภาพทางการเงิน
"ในด้านการบรรเทาทุกข์ ณ ตอนนี้ IMF มีความชัดเจนมากถึงแนวทางในแง่ของงบประมาณสาธารณะ วิธีใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง และระดับของการปล่อยก๊าชคาร์บอนที่พอเหมาะกับโลกใบนี้"
"เราสนับสนุนเรื่องการเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าชคาร์บอน ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด และตอนนี้ถ้าคุณคิดว่าภาษีควรจะอยู่ที่ 2 ดอลลาร์ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน แต่เราคิดว่ามันควรเป็น 75 ดอลลาร์/ตัน หากเราบรรลุวัตถุประสงค์ข้อตกลงของปารีส* (Paris Agreement objectives)
* ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป โดยมีข้อกำหนดหลักคือ
(1.) ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2°C จากระดับอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5°C โดยยตระหนักว่า ความพยายามนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงอย่างมีนัยสำคัญ
(2.) เพิ่มพูนความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประคับประคองความอุดมสมบูรณ์ของสภาพอากาศ และพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยแนวทางที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อการผลิตอาหาร
(3.) ก่อให้เกิดการไหลเวียนของกระแสเงินทุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับต่ำ
"สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั่นคือรูปแบบในการเฝ้าระวัง โดย IMF เป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวที่จับมือกับประเทศสำคัญหลากหลายซึ่งเป็นชีพจรของเศรษฐกิจทั่วโลก และเราก็มีเครื่องมือที่สำคัญมากขึ้นไปอีกคือ Financial Sector Assessment Programs (FSAPs)* และเราจะทำเพื่อทุกประเทศบนโลกไม่ว่าพวกเขาจะร่ำรวยหรือยากจน"
* Financial Sector Assessment Program : FSAP หรือ โครงการประเมินภาค​การเงิน คือโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง IMF และ World Bank ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 1999 โดยมีวัตถุประสงค์คือ
(1.) เพื่อช่วยให้แต่ละประเทศทราบถึงจุดอ่อน จุดแข็งในภาคการเงินของตน
(2.) เพื่อประเมินการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
(3.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางภาคการเงินทั่วโลกและการให้ความสนับสนุนในด้านเทคนิคและนโยบาย
(4.) เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ
(5.) เพื่อช่วยจัดลำดับความสำคัญในการออกนโยบายและแผนกลยุทธ์
การประเมิน FSAP เป็นการประเมินภาคการเงินระดับสากลที่ประเทศต่าง ๆ เข้ารับการประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 และ G29 ซึ่งเป็นเหล่าประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก ขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะต้องสมัครเข้าประเมินโครงการนี้ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
สำหรับรูปแบบการประเมิน FSAP จะมีอยู่ 2 ด้านคือ
(1.) การประเมินด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน (Stability) ซึ่งเป็นการประเมินภาคบังคับที่ใช้กับทุกประเทศ
(2.) การประเมินด้านการพัฒนาของระบบการเงิน (Development) ซึ่งเป็นการประเมินและการให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาภาคการเงินในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐในประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country)
"ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่กำลังเห็นสัญญาณของการฟื้นตัว นั่นกำลังทำให้เราก้าวไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง โดยคำแนะนำของ IMF ณ ปัจจุบันมี 3 ข้อคือ"
(1.) ทุกประเทศควรจัดลำดับความสำคัญของมาตรการที่เด็ดขาดในการยุติวิกฤตสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจขั้นสูง (Advanced Economies) หรือประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เพราะแม้ว่าบางประเทศจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเอง แต่หากคู่ค้าของพวกเขาประสบปัญหาที่รุนแรงขึ้นในอนาคต นั่นก็จะเป็นฉุดเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำลงอีกครั้ง
(2.) เริ่มต้นคิดในตอนนี้เลยว่าจะค่อย ๆ สนับสนุนสิ่งที่คุณต้องการเห็นในอนาคตได้อย่างไรบ้าง โดยคำถามของเราก็คือตำแหน่งงานได้รับการคุ้มครองหรือไม่? มีการสร้างงานเพิ่มหรือไม่? และทำไมการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green recovery) จึงน่าสนใจมาก?
ส่วนคำตอบบางอย่างก็คือ Green recovery อาจเป็นวิธีการกู้คืนที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากกลับมามีงานทำ โดยคุณสามารถสร้างงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสภาพอากาศ การปลูกป่า การจัดการกับความเสื่อมโทรมของที่ดิน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับแรงกระแทกในอนาคต การติดตั้งอาคาร การพัฒนาไปสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งหมดนี้คือการสร้างงานทั้งสิ้น
(3.) คิดเกี่ยวกับการสร้างความเท่าเทียมกันของโอกาสในอนาคต ซึ่งเราคิดว่าทุกประเทศควรใส่ใจกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยสิ่งหนึ่งที่ IMF จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นคือการผสมผสานระหว่างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Soical Safety Nets)* ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งจูงใจสำหรับผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวผู้ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดในวิกฤตนี้ นอกจากนี้ยังถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเศรษฐกิจ และยังเหมาะสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
* Social Safety Nets คือระบบสวัสดิการทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการสังคมที่ภาครัฐมอบให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนผู้ด้อยโอกาส และยากจน
"ในปี 2019 เราได้พูดคุยเกี่ยวกับการที่ผู้คนออกไปประท้วงตามท้องถนนเพราะไม่เพียงแต่เศรษฐกิจของประเทศที่พวกเขาอยู่มีการเติบโตและ GDP ที่ต่ำ แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ต่าง ๆ มักถูกบิดเบือนให้ไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหนึ่งของสังคม แทนที่จะกระจายไปทั่วขอบเขต และปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไป ดังนั้นขณะที่เรากำลังกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำไมเราจึงไม่ใช้โอกาสเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไปด้วย"
"เรายังคงมีความทรงจำที่เจ็บปวดจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 และเห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีการก่อหนี้และการขาดดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่มุมมองของ IMF เพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น"
"ทศวรรษที่ผ่านมาถือเป็น 10 ปีแห่งความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น และเราต้องการเห็นถึงการสนับสนุนในทั่วโลก และตอนนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงติดลบ ดังนั้นรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ จะสามารถกู้ยืมได้โดยมีต้นทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
"การกลับมาเติบโตของเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อนสิ่งอื่นใด เพื่อป้องกันการล่มสลายของธุรกิจและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งถ้าเราไม่ทำในขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับราคาที่ไม่แพง แล้วเราจะออกสู่จุดต่ำสุดจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร? รัฐบาลในปัจจุบันมีความคิดสร้างสรรค์ในการสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ และเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็สามารถออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นได้"
"หากเราต้องการผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฉลาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ณ ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เราต้องดำเนินการกับนโยบายเหล่านี้ และฉันคิดว่าตอนนี้ก็มีการยอมรับทางสังคมที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราสามารถสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่เราทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ กับสิ่งที่เราทำต้องทำเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม"
"IMF ได้มีส่วนร่วมกับธนาคารต่าง ๆ ในเรื่องความมั่นคงของหนี้ และฉันจะเน้นย้ำถึงจุดนั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ IMF ตระหนักว่าในช่วงวิกฤตที่รุนแรงเช่นนี้ เราควรเป็นผู้มีบทบาทในการตอบโต้เป็นสถาบันแรก ๆ ของโลก ในการที่เราจัดหาเงินทุนฉุกเฉินให้แก่ประเทศต่าง ๆ โดยเราได้มอบเงิน 3. หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ 75 ประเทศ ซึ่ง 47 ประเทศในนั้นคือประเทศที่มีรายได้ต่ำ และเราต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า IMF จะไม่สนใจว่าเงินเหล่านั้นจะถูกใช้ไปอย่างไร"
"ก่อนอื่น ต้องอย่าลืมว่า IMF ได้ประเมินสุขภาพของสถาบันในแต่ละประเทศ และมีบางประเทศที่เราไม่สามารถจัดหาเงินทุนฉุกเฉินให้พวกเขาได้ เนื่องจากพวกเขาไม่พอใจกับมาตรการป้องกันของเรา"
"เรามีข้อกำหนดที่ว่าประเทศต่าง ๆ จะต้องส่งหนังสือแสดงเจตจำนงของพวกเขา และในหนังสือนั้น พวกเขาจะต้องยอมรับภาระผูกพันบางประการ ขณะที่หลายประเทศกำลังมุ่งมั่นที่จะทำตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบหลังจากการปล่อยกู้ของเรา ดังนั้น IMF จึงรู้ว่าพวกเขาใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ไปเพื่ออะไรและมีประสิทธิภาพเพียงใด"
"ขณะนี้ เรามีการเปิดเผยการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 2.7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีมากกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์ที่พึ่งเบิกจ่ายไปอยู่ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ดังนั้นเราจึงไม่ได้เทเงินไปอย่างสุดความสามารถที่เรามีโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงเลย"
"และเงิน 9 หมื่นล้านดอลลาร์นี้ บางส่วนจะเป็นการระดมทุนไปยังประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอย่างเช่น ชิลี และเปรู"
"นอกจากนี้ การปล่อยกู้ให้แก่บางประเทศอย่างเช่น อียิปต์ ยูเครน ก็เป็นโครงการของเราโดยดั้งเดิมของ IMF อยู่แล้ว และตอนนี้เรากำลังจะมีอาร์เจนตินาเพิ่มเข้ามา โดยในแต่ละกรณีของการปล่อยกู้นั้น เราจะพิจารณาถึงความมั่นคงของหนี้ และเราจะไม่จัดหาเงินทุนฉุกเฉินในกรณีที่หนี้ของพวกเขาไม่มั่นคง รวมถึงประเทศที่ไม่สามารถนำเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้"
"สิ่งสำคัญในการตัดสินใจที่ดีคือ เราต้องนำมุมมองที่แตกต่างกันมาคำนึงอย่างเป็นกลาง และเราต้องจำไว้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ IMF ต้องช่วยให้ประเทศต่าง ๆ มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นต่อแรงกระแทกมากขึ้นในอนาคต"
"แต่เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราเองมีความคล่องตัวก่อน และนั่นหมายถึงการนำผู้คนมารวมกันและทำให้แน่ใจว่าพวกเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ในลักษณะที่มีความสามัคคีในวัตถุประสงค์ที่เดียวกัน"
"เราได้ดำเนินการร่วมกับ David Malpass ซึ่งเป็นประธานของ World Bank และเป็นผู้ริเริ่มการระงับการชำระหนี้สำหรับ 73 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก และตอนนี้เรากำลังมองหาแนวทางจะนำประเทศต่าง ๆ มารวมกันได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงจีนและประเทศในกลุ่ม G20 อื่น ๆ"
"อย่างไรก็ตาม ฉันกังวลอย่างมากว่าเมื่อความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในด้านเทคโนโลยี เราอาจเข้าสู่การระบบมาตรฐานที่แตกต่างกัน 2 ขั้วบนโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยังส่งผลกระทบต่อความสามารถของ IMF ในการผสานความสามัคคี"
"นี่คืองานของฉันที่จะทำให้พวกเขาคุยกันได้ ฉันจะไม่ยอมแพ้ และโปรดจำไว้ว่าในสงครามเย็นก็ยังคงมีพื้นที่ให้ผู้คนได้พูดคุยกัน ซึ่งฉันจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ IMF เป็นสถานที่ที่ประเทศต่าง ๆ มารวมตัวกันอย่างมีเหตุผล"
"เราจะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ใหญ่กว่า"
"ฉันไม่ชอบที่จะละทิ้งระบบทุนนิยม เนื่องจากมันเป็นระบบเดียวที่เปิดโอกาสให้คนเก่งได้เติบโต ซึ่งฉันหมายความว่าฉันเป็นตัวอย่างของใครบางคนที่มาจากระบบคอมมิวนิสต์และฉันทำได้ดีทีเดียว"
"ฉันเชื่อว่าเราต้องพยายามปรับปรุงระบบทุนนิยมอย่างต่อเนื่อง และการปรับปรุงที่สำคัญมากที่เราต้องบรรลุคือ ความครอบคลุมความรู้สึกที่เป็นธรรม"
"แม้ว่าการดำเนินชีวิตในระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางจะปฏิเสธระบบทุนนิยม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรยอมรับโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเศรษฐกิจของเรากำลังดำเนินไปอย่างไร และเราสามารถมุ่งมั่นเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าในปัจจุบันได้"
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
อยากลงทุน อยากมีเงินเก็บอย่างจริงจัง แต่ไม่มีพื้นฐาน World Maker มีคอร์สเรียนดี ๆ มาแนะนำให้ครับ รายละเอียดคลิกเลย !!
โฆษณา