16 ต.ค. 2020 เวลา 06:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิกฤติว่างงานยาวนาน 3 ปี คู่มือพนักงานดาวเด่น ในองค์กร ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง
- วิกฤติโควิดตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้โรงงานไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ปิดกิจการ หรือเลิกจ้างพนักงาน รวมถึงหลายองค์กร จัดโครงการเกษียณก่อนกำหนด เพื่อลดจำนวนพนักงาน โดยตัวเลขปี 2563 มีการปลดพนักงานและเลิกจ้างทั้งประเทศกว่า 3 ล้านคน และคาดว่าปี 2564 จะมีพนักงานถูกปลดมากถึง 10 ล้านคน
- พนักงาน "ถูกเลิกจ้าง" พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานที่มีความสามารถในระดับทั่วไป ไม่มีความโดดเด่นในการทำงาน หรืออยู่ในตำแหน่งงานที่สามารถรับผู้จบใหม่เข้ามาทำงานทดแทนได้ เพื่อลดต้นทุนองค์กร ขณะที่กลุ่มคนทำงานที่เป็นดาวเด่นกลับถูกรั้งให้อยู่กับองค์กรให้นานที่สุด เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า โดยในหนึ่งองค์กร จะมีดาวเด่นไม่เกิน 5 คนเท่านั้น
- ดาวเด่นองค์กร หรือ “สตาร์” ปัจจุบันมีการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนมีพรสวรรค์” หรือ Talented Genius ซึ่งมีศักยภาพ มีความสามารถ และมีผลงานโดดเด่น องค์กรจึงให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ อย่างที่ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของไมโครซอฟท์ กล่าวไว้ว่า “หากองค์กรสูญเสียคนเก่งไปเพียง 20 คน อาจทำให้บริษัทถูกลดความสำคัญลงในโลกธุรกิจ”
- นอกจากนี้มีการคาดการณ์วิกฤติการปลดพนักงาน จะยาวนานจนถึง 3 ปีข้างหน้า กว่าที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาฟื้นตัว และรูปแบบการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ได้ทำให้มีการทำงานแบบ “เวิร์ก ฟอร์ม โฮม” มากขึ้น และการติดต่อสื่อสารทำได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ความต้องการพนักงานลดจำนวนลง เพราะพนักงานหนึ่งคนสามารถสร้างผลงานได้มากกว่าเดิม
จากความปกติวิถีใหม่ หรือ New Normal ทำให้องค์กรเห็นศักยภาพที่แท้จริงของพนักงาน รวมถึงทัศนคติในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เห็นความสามารถในการสร้างผลงานและการพาทีมงานเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ทำให้เห็นศักยภาพของพนักงานได้อย่างชัดเจน หรือที่เรียกว่า “ยุคต่อจากนี้ เป็นยุคของคนเก่งจริงที่จะอยู่รอด” ซึ่งองค์กรหลายแห่งเลือกที่จะเก็บพนักงานพิเศษ หรือ Talented Genius กลุ่มนี้ไว้
เมื่อองค์กรต้องการ “คนมีพรสวรรค์” หรือ Talented Genius เพื่อช่วยพัฒนาองค์กร แล้วคนที่ไม่สามารถก้าวถึงการเป็นดาวเด่นในลักษณะนี้ได้ จะต้องทำอย่างไร? เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามผ่านวิกฤติการถูกเลย์ออฟ ผ่านการให้คำตอบสำหรับคนทำงานโดย “นงลักษณ์ ธนรักษ์” อดีตซีอีโอ บริษัท Headhunter ข้ามชาติ ผู้มีประสบการณ์ในการคัดสรรและสัมภาษณ์ผู้บริหารมากว่า 1 หมื่นคน ให้กับองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “Talented Genius เผยรหัสลับ DNA คนเก่ง เปลี่ยนตนเองสู่ยอดมนุษย์ Hi-Po” ซึ่งคนกลุ่มนี้จะได้รับการพัฒนาทักษะและศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้นำขององค์กรในอนาคต
“นงลักษณ์ ธนรักษ์” มองว่า มนุษย์ Hi-Po นอกจากทำงานเก่งแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างให้กับพนักงานคนอื่นๆ เป็นตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร และมีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจโดยรวม มีความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนเติบโตในหน้าที่การงาน และประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างรวดเร็วกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ แต่สถานภาพมนุษย์ Hi-Po อาจไม่ได้คงอยู่ตลอดไปในมาตรฐานเดิม หรือเริ่มมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น อาจมีปัญหาส่วนตัว ปัญหาทางการเงิน หรือปัญหาครอบครัว ทำให้เป็นโอกาสสำหรับคนที่ไม่เคยถูกจัดเป็นมนุษย์ Hi-Po จะต้องมีการพัฒนาจนเริ่มมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานองค์กร
สำหรับคุณลักษณะการเป็นสุดยอดมนุษย์ Hi-Po ที่มีศักยภาพสูง มีความเป็นมืออาชีพ และมีคุณลักษณะที่นายจ้างต้องการมากที่สุด เช่น มีความน่าเชื่อถือ มีความทุ่มเทในการทำงาน และมีความชาญฉลาด รวมถึงคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่น ในการมีทักษะเป็นผู้นำสูง เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ แสดงความต้องการที่จะเลื่อนขึ้นเป็นผู้นำในองค์กร และขออาสาเป็นผู้นำทันทีเมื่อมีโอกาส
นอกจากนี้ ต้องมีความสามารถในการรับรู้ มีความฉลาดทางด้านสติปัญญา มีความคล่องตัวในการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือสอนงานได้เร็ว พร้อมน้อมรับคำติชม ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นสะท้อนกลับอย่างจริงจัง เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงาน
ในการเป็นพนักงานศักยภาพสูง ต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำสิ่งต่างๆ ลงมือทำเองโดยไม่ต้องมีคนคอยกำกับอย่างใกล้ชิด และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องในการเรียนรู้ความเชี่ยวชาญใหม่ๆ ในงานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีความสามารถในการจัดการกับความกดดัน บริหารเวลาได้ดี ไม่ยอมแพ้ต่อความกดดัน เป็นมิตร สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ในการให้ความช่วยเหลือโดยไม่ลังเล
“พนักงานที่มีศักยภาพสูง สามารถจัดการโครงการและงานที่ได้รับมอบหมายเพียงผู้เดียวได้ ไม่ต้องมีผู้อื่นช่วยเหลือ และผู้บริหารสามารถไว้วางใจได้ว่า งานจะสำเร็จภายในกำหนดเวลา มีคุณภาพ และนอกจากทำงานคนเดียวได้แล้ว ยังสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อเน้นย้ำความเข้าใจ ให้ผลงานออกมาตามที่ต้องการ”
พฤติกรรมส่วนตัวที่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เช่น มีความรับผิดชอบสูง รักษาคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับผู้อื่น ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหารระดับสูง อีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ Hi-Po ต้องมีนิสัยกล้าเสี่ยง มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ หากมีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้น โดยใช้ความสามารถเฉพาะตัว และต้องมีศักยภาพในการเป็นหัวหน้างาน มีความยุติธรรม มีความรู้ทักษะในการบริหารงานและบริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งสำคัญของมนุษย์ลักษณะนี้ มักแสวงหาบทบาทและโครงการที่ท้าทาย เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาทักษะใหม่ๆ และมีบุคลิกภาพที่เรียบง่าย ไม่ลอยตัวเหนือผู้อื่น สามารถทำงานและใช้ชีวิตเข้ากับเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ได้ ซึ่งสิ่งที่มนุษย์ Hi-Po ทำ ล้วนมีคุณภาพที่ยอดเยี่ยม สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป และต้องเปิดกว้างมีความยืดหยุ่น เปิดรับข้อเสนอแนะจากผู้อื่น หากทำสิ่งผิดพลาด จะน้อมยอมรับผิด แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้น
อีกสิ่งคือความสำคัญกับภาพรวมขององค์กร มากกว่าสนใจเรื่องของตนเอง เรียนรู้การบริหารงานภายในองค์กร และวิธีที่จะมีส่วนร่วมในการทำงาน โดยยึดค่านิยมหลัก วัฒนธรรมองค์กร และกลยุทธ์เป้าหมายขององค์กร ใส่ใจการวางแผนพัฒนารายบุคคล เพื่อประโยชน์ขององค์กร ทั้งรายได้และความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จต้องลงมือทำ จากแรงบันดาลใจในการทำงานให้ได้ผลงานที่ดีกว่า ผ่านการทำงานอย่างหนัก มีความทะเยอทะยาน กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย อดทนต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายได้
ส่วนสิ่งสุดท้ายต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถควบคุมอารมณ์ ทำให้วิถีชีวิตและการทำงานเป็นไปอย่างสรา้งสรรค์ เกิดความก้าวหน้า สามารถตอบสนองในการรับรู้และตอบสนองด้านอารมณ์ความรู้สึก ทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
“ความฉลาดทางอารมณ์ คือ มองโลกในแง่ดี มีแรงจูงใจในตนเอง มีความยืดหยุ่น เป็นคนที่เข้าถึงง่าย เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป ถ้าหากยังไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์ Hi-Po แต่มีความมุ่งมั่น พัฒนาตัวเอง ให้ค่อยๆ เรียนรู้ปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด จะส่งผลให้คนอื่นมองเห็นความเป็นคนพิเศษของคุณได้ในที่สุด”.
ผู้เขียน : ปูรณิมา
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา