16 ต.ค. 2020 เวลา 12:20 • ประวัติศาสตร์
ผมว่าท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับ "เทศกาลกินเจ" ที่ผู้คนปฎิบัติกันมาอย่างยาวนาน วันนี้ผมจึงขอเล่าประวัติศาสตร์ผ่านเทศกาลนี้ครับ
ในช่วงเดือนตุลาคมนี้เอง เทศกาลถือศีลกินผักที่กำลังจะใกล้เข้ามา ซึ่งตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคม 2563 รวม 9 วันครับ
ในการกำหนดว่าวันไหนเป็นวันเริ่มกินเจนั้น ใช้การกำหนดตามปฎิทินจีนครับ คือเริ่มวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปีและมักจะตรงกับเดือนตุลาคมในทุกๆปีนั่นเอง
"เทศกาลเจ" ว่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้วในประเทศจีน ตามตำนานระบุว่า เกิดขึ้นในสมัยที่ชาวจีนถูกแมนจูเข้ามาปกครอง และบังคับชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน
สมัยนั้นเองมีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้าร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้นุ่งขาว ห่มขาว และไม่รับประทานเนื้อสัตว์
ตามความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองได้ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “หงี่หั่วท้วง” แต่ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อแมนจู และพลีชีพไปจำนวนมาก
ทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของแมนจู จึงพร้อมใจกันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึง “หงี่หั่วท้วง”
นอกจากนั้น การกินเจยังเชื่อกันว่าเพื่อเป็นการสักการะพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรือดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ด้วยครับ
ในพิธีกรรมนี้งดเว้นการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยตั้งปณิธานการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อสมาทานศีลคือ
1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน
2. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน
3. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตนเทศกาลกินเจของคนเชื้อสายจีนในไทยก็เป็นไปตามความเชื่อข้างต้น คือเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า และเจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์
เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับการถือศีลกินเจได้สืบเนื่องมาจากแนวคิดของลัทธิขงจื๊อผสมร่วมกับศาสนาพุทธนิกายมหายานครับ
การที่ต้องกำหนดให้กินเจรวม 9 วัน มาจากความเชื่อเรื่องดาวนพเคราะห์ ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์รวมเป็นพระราชาธิราช 9 องค์ หรือดาวนพเคราะห์ ซึ่งคำว่า "เจ" หรือ "แจ" เป็นคำที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว
โดยในภาษาจีนกลางนั้น จะมีความหมายว่า "การรักษาศีล 8" แต่จะเจาะลึกลงไปถึงการละเว้นของคาว อาหารที่มีกลิ่นฉุน อาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด
และยังรวมการกระทำ ทั้งกาย วาจาใจ โดยเฉพาะการละเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ต่างๆ ด้วยครับ
หากถามผมว่าคนไทยรู้จักการกินเจมานานแล้วหรือยัง ผมคาดว่าว่าน่าจะรู้จักมานานมากแล้ว เพียงแต่ยังไม่นิยมเท่ากับสมัยนี้ครับ
ย้อนไปในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการค้ากับต่างชาติเกิดขึ้น ชาติหนึ่งในนั้น คือ ชาวจีน
ชาวจีนบางส่วนเดินทางมาทำการค้าและมีจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานระยะยาว
ภาพชาวจีนที่มาตั้งรกรากในไทย
โดยมีบันทึกจากหลายแหล่งที่อ้างถึงอาณาบริเวณพื้นที่ของกรุงเทพยุคโบราณนั้น มีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ก่อนยุคกรุงธนบุรีแล้วครับ
อีกทั้งยังมีชาวจีนที่กระจายอยู่ทั่วไปตามภูมิภาคต่างๆ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ ตรัง และทางมลายูอีกจำนวนมาก ต่างก็นำความเชื่อเหล่านี้เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิม
ภาพครอบครัวชาวจีนที่มาตั้งรกรากในไทย
การปฎิบัติถือศีลกินเจที่มีมาอย่างเนิ่นนานนี้ถูกดึงดูด จนผู้คนท้องถิ่นเดิมเริ่มให้ความสนใจ และเริ่มนิยมทำตาม ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าความเชื่อเรื่องการงดเบียดเบียนสัตว์ตามศพุทธศาสนิกชนในไทยมีมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อพบกับความเชื่อเรื่องกินเจและการชำระจิตใจ จึงมีความคล้อยตามกันในหลายส่วน
ในบันทึกของ นิโคลาส์ แชรแวส ผู้เข้ามาจดบันทึกเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังบันทึกไว้เกี่ยวกับอาหารการกินของคนอยุธยา และความนิยมรับประทานอาหารจำพวกปลา ไก่และเป็ด
ส่วนสัตว์ใหญ่จำพวกหมูและวัวนั้นมักนิยมบริโภคน้อยกว่าสัตว์อื่นมากครับ โดยเฉพาะวัวนั้นหาผู้บริโภคได้น้อยมาก อันเนื่องมาจากความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าว่าครั้งหนึ่งเคยเสวยชาติมาเกิดเป็นพระโค หรือ โคนันทิวิสาล ในนันทิวิสาลชาดก
โคนันทิวิสาล
จึงเชื่อกันว่าการบริโภควัวนั้นผิดพุทธบัญญัติ ความเชื่อนี้ยังโยงไปถึงการเข่นฆ่าสัตว์สี่เท้าทุกชนิดอีกด้วยนะครับ
ศาสนาจึงมีผลต่อความเชื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนอยุธยาในยุคนั้นมากครับ ผมจึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าใดนักที่วัฒนธรรมการกินเจจึงมีความนิยมและสามารถแทรกเข้ามาในสังคมไทยได้ค่อนข้างง่ายและกลมกลืนกัน
เทศกาลกินเจมีการจัดอย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังมีบางประเทศในเอเชีย เช่น ภูฏาน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงจีนเองด้วย
ส่วนในประเทศไทยก็มีเทศกาลกินเจเป็นปกติทุกปี ในกรุงเทพจะมีการจัดงานเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่บริเวณถนนเยาวราช และภาคใต้ เช่น เทศกาลกินเจหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรัง และเทศกาลถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ทั้งนั้นการกินเจในปัจจุบัน แม้จะเป็นเพียงการงดในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ถ้ามองในแง่ดี เทศกาลนี้สามารถทำให้ผู้คนหันมางดการเบียดเบียน และชำระกายใจ
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เหมือนสัญลักษณ์บางอย่างที่ยังคงอยู่คู่สังคมไทย พิสูจน์ถึงความเชื่อเกี่ยวกับศีลข้อที่หนึ่งในพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของไทยเราครับ
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง
โฆษณา