21 ต.ค. 2020 เวลา 21:35 • ปรัชญา
“อย่าปล่อยให้จิตเข้าไปในอุปจารสมาธิ”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓
พระเณรสมัยปัจจุบันยุคปัจจุบันนี้ก็มีหลวงปู่มั่นนี่แหละ ที่สามารถเข้าอุปจารสมาธิได้ หลวงปู่มั่นนี้ใครไปอยู่กับท่านนี้กลัวมาก จะไม่กล้าคิดเรื่อยเปื่อย ไม่กล้าคิดไปในทางที่ไม่ดีไม่ควร ต้องคอยระมัดระวังจึงเป็นวิธีฝึกสติได้ดี ถ้าได้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่สามารถตรวจสอบความคิดของเราได้ เราจะไม่กล้าคิดไปกับกิเลสตัณหาต่างๆ เพราะถ้าคิดเดี๋ยวตอนเช้าจะโดนทัก ครั้งหนึ่งหลวงปู่มั่นท่านไปธุดงค์ที่ถ้ำสาลิกา ในประวัติพระอาจารย์มั่นหลวงตาท่านเขียนไว้ หลวงปู่มั่นท่านอยู่บนเขาแล้วมีพระรูปหนึ่งอยู่ที่ตีนเขา พระที่อยู่ตีนเขานี้ก็มีอายุมีครอบครัวแล้วมาบวช พอตอนกลางคืนหลวงปู่มั่นส่งกระแสจิตมาดูว่าหลวงพ่อรูปนี้กำลังคิดอะไรอยู่ ก็เห็นว่ากำลังคิดถึงลูกคิดถึงเมีย คิดถึงครอบครัวห่วงใย ตอนเช้าพอเจอกันหลวงปู่มั่นก็ทักว่า ไปยุ่งไปกังวลกับครอบครัวเขาทำไม เรามาเป็นนักบวชแล้ว เราควรที่จะมาควบคุมความคิดทำใจให้สงบดีกว่า พอท่านทักแค่นี้หลวงพ่อองค์นั้นเปิดเลย ไม่อยู่แล้ว อยู่แล้วเดี๋ยวเผลอไปคิดอะไรหลวงปู่มั่นท่านก็จะรู้ทันที นี่คือการอ่านวาระจิตของผู้อื่น รู้วาระจิตคือรู้ความคิดของผู้อื่น รู้ได้ด้วยการเข้าในอุปจารสมาธิ นอกนั้นก็ระลึกชาติได้หรือมีคุณวิเศษเหาะเหินเดินอากาศ ขยายร่างจากหนึ่งร่างเป็นสองร่างเป็นสามร่าง อันนี้ด้วยอำนาจของอุปจารสมาธินี้เอง
แต่อุปจารสมาธินี้ไม่มีประโยชน์ต่อการสนับสนุนจิตในการไปต่อสู้กับกิเลสตัณหา เพราะสมาธิแบบนี้จะไม่มีกำลัง ออกจากสมาธิมาแล้วเหมือนกับไม่ได้นั่งสมาธิ จิตไม่สดชื่นไม่อิ่มเอิบ เหมือนถ้านอนหลับแล้วฝันนี่ นอนหลับสนิทไม่ฝันกับนอนแล้วฝันนี่ต่างกัน นอนหลับสนิทแล้วไม่ฝันนี้จะพักผ่อนเต็มที่ ถ้านอนแล้วฝันนี่ตื่นขึ้นมาจะรู้สึกไม่อิ่มไม่พอไม่มีกำลัง ไม่ได้พักผ่อน อุปจารสมาธินี้จึงไม่ควรไปเข้าถ้าเกิดเราเข้าได้ แต่น้อยคนที่จะเข้าอุปจารสมาธิได้ เท่าที่ได้ยินท่านบอกว่าร้อยหนึ่งจะมีสักห้าคนที่จะเข้าสมาธิแบบนี้ได้ ถ้าเข้าได้ถ้ายังไม่ได้ฆ่ากิเลส ยังไม่ได้หลุดพ้นยังไม่บรรลุธรรมอย่าไปสนใจ อย่าไปปล่อยให้มันเข้าไปในอุปจารสมาธิ ใช้สติดึงกลับให้เข้ามาสู่อัปปนาสมาธิ เพราะถ้าอยู่ในอัปปนาสมาธิแล้วจิตจะมีพลัง มีกำลังต่อสู้กับกิเลสตัณหา ความโลภความโกรธความหลง ความอยากต่างๆ
ดังนั้น สำหรับผู้ที่ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต้องอย่าปล่อยให้จิตไปในอุปจารสมาธิ ถ้าจะให้ไปต้องรอให้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดก่อน อย่างพระพุทธเจ้าหรืออย่างหลวงปู่มั่นนี่ ท่านสามารถที่จะใช้อุปจารสมาธิให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ คือท่านจะแสดงธรรมให้กับเทวดาได้ นี่พระพุทธเจ้าทรงมีเทวดามาฟังธรรมทุกคืน หลวงปู่มั่นท่านก็มีเทวดามาฟังธรรม แต่หลวงปู่มั่นหรือพระพุทธเจ้านี้ท่านบรรลุแล้ว ท่านตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว หลวงปู่มั่นบรรลุธรรมแล้ว หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ทีนี้ ถ้าท่านจะเข้าไปในอุปจารสมาธิก็ไม่มีผลกระทบต่อจิตใจในทางลบแต่อย่างใด แต่ถ้าจิตไปทางอุปจารสมาธิจะไม่มีกำลังมาสนับสนุนในการกำจัดความทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจได้ เหมือนกับนักศึกษานักเรียนควรเข้าห้องเรียน อย่าออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนถ้ายังเรียนไม่จบ ไว้รอเรียนให้จบก่อน เมื่อเรียนจบแล้วได้ปริญญาแล้ว ทีนี้ถ้าอยากจะไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนก็ทำได้เต็มที่ จะไปทำประโยชน์ให้กับสังคม ไปเป็นอาสาสมัครหรือไปทำอะไรก็สามารถทำได้ เพราะการกระทำเหล่านี้จะไม่มาขัดขวางการเรียนการจบปริญญานั่นเอง แต่ถ้ายังเรียนอยู่ยังไม่จบปริญญาแล้วออกไปทำกิจกรรมภายนอกห้องเรียน ก็จะมาทำให้การเรียนเสียไปได้ ก็จะเรียนไม่จบ
ฉันใด ผู้ที่บำเพ็ญก็ควรเป็นอย่างนั้น ควรอย่าเข้าไปในอุปจารสมาธิ ดึงกลับให้เข้าสู่อัปปนาสมาธิเพื่อที่จะได้ใช้อัปปนาสมาธิมาสนับสนุนวิปัสสนาหรือปัญญา ไว้ในการฆ่ากิเลสตัณหา กิเลสตัณหาไม่ตายด้วยสมาธิแต่ก็ไม่ตายด้วยปัญญา ถ้าปัญญาไม่มีสมาธิสนับสนุน ปัญญาต้องเป็น “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาที่พวกเรามีกันตอนนี้ยังใช้ไปฆ่ากิเลสไม่ได้ ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง ปัญญาที่เกิดจากการอ่านหนังสือธรรมะนี้ยังไม่มีกำลังพอที่จะไปฆ่ากิเลสตัณหา ปัญญาระดับที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน คือ “จินตามยปัญญา” ต่างจาก “สุตตะ” ก็คือเป็นปัญญาที่เราเอามาพัฒนาจาก “สุตตมยปัญญา” ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วก็เอามาพิจารณาอยู่เนืองๆ มาคิดอยู่บ่อยๆ ให้รู้เพื่อที่จะได้ไม่ลืม ให้รู้ว่ากิเลสตัณหาเป็นตัวสร้างความทุกข์ ให้รู้ว่าปัญญาเป็นผู้กำจัดความทุกข์ ปัญญาก็คือการเห็น “ไตรลักษณ์” การเห็นอริยสัจ ๔ อันนี้ต้องมาทบทวนอยู่เรื่อยๆ ว่าไตรลักษณ์เป็นยังไง อนิจจังเป็นอย่างไร ทุกขังเป็นอย่างไร อนัตตาเป็นอย่างไร ถึงจะสามารถที่จะไปดับความทุกข์หยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ด้วยการยุติตัณหาความอยากทั้ง ๓ คือ “กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา” ปัญญาที่จะฆ่ากิเลสได้นี้ต้องเป็นปัญญาที่พัฒนาจากจินตามยปัญญามาเป็นภาวนามยปัญญา ก็คือต้องมาฝึกสมาธิทำใจให้สงบ ให้มีสมถะภาวนา ถ้ามีสมถะภาวนาทำจิตให้เข้าสู่อัปปนาสมาธิได้ จิตก็จะมีกำลังที่จะสนับสนุนปัญญาในการกำจัดกิเลสตัณหา ความโลภความโกรธความหลง ความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป นี่คือความสำคัญของอัปปนาสมาธิ ถ้าไม่มีอัปปนาสมาธิ ถ้าไปท่องเที่ยวในโลกทิพย์หรือไปเล่นกับอภิญญาต่างๆ ไปอ่านความคิดของคนอื่น ไปเหาะเหินเดินอากาศ อันนี้จะทำให้จิตไม่มีกำลังสู้กับกิเลสตัณหาได้
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา