25 ต.ค. 2020 เวลา 02:00 • ข่าว
กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์เริ่มจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประท้วงที่ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุม 6 คน และต่อมารัฐได้ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงและมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนส่งผู้ต้องหา 84 ศพ และสูญหายอีกจำนวน 7 คน และจนถึงปัจจุบันไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว
1
การที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น หนึ่งในนั้นเป็นการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี มีข้อสงสัยว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจำนวนรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจำนวน 1,370 คน มีเพียง 28 คัน ซึ่งไม่เพียงพอ แม้ภายหลังได้นำรถบรรทุกทั้งของทหารและตำรวจมาเพิ่มก็ไม่เพียงพออยู่ดี
แม้การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร มีการรายงานว่าค่อนข้างจะเป็นไปด้วยความสับสนและฉุกละหุกภายใต้สถานการณ์ขณะนั้น ตามเอกสารคือ มีรถของตำรวจ ทหาร และนาวิกโยธิน รวม 28 คัน และจำนวนผู้ถูกควบคุมซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน เพิ่งมาทราบทีหลังว่ากว่า 1,300 คน คิดเฉลี่ยคันละกว่า 50 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่บรรทุกได้ แต่เมื่อรถคันแรกๆ บรรทุกไม่ถึง 50 คน คันหลังต้องบรรทุกมากกว่า 50 คน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องพยายามบรรทุกให้หมด อีกทั้งต้องมารับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสกัดและควบคุมตัวไว้ที่สามแยกตากใบก็ต้องพยายามบรรทุกคนขึ้นไปให้หมด ผลจึงปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอยู่ในรถบรรทุกคันหลังๆ ซึ่งเกิดจากการไม่พร้อมในการขนส่ง
วิธีการเคลื่อนย้ายนั้น ผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่อ้างว่าถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อนกันหลายชั้น บางคนพูดถึง 3-4 ชั้น ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าให้นั่งไปและยืนไป มีรถคันหนึ่งในสี่คันแรกที่มีการนอนทับซ้อนกัน และต้องมาขนลงหลังจากที่ ผบช.ภ.9 และ มทภ.4 มาพบและสั่งให้เอาลง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนซึ่งถ่ายภาพรถบรรทุกผู้ควบคุมคันหนึ่ง ซึ่งนอนทับซ้อนกันหลายชั้นได้ชี้แจงว่าได้ยิน ผบช.ภ.9 และ มทภ.4 สั่งให้เจ้าหน้าที่เอาคนลงมา แต่ไม่ได้อยู่ดูว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่
อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการทับซ้อนในรถคันหลังๆ เพราะจากรายงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล ซึ่งพิจารณาผลชันสูตรพลิกศพ และจากการสอบถามแพทย์ผู้รักษาผู้บาดเจ็บ และการเยี่ยมผู้บาดเจ็บล้วนสรุปได้ว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ถูกควบคุมอยู่ในสถาวะอ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที ขาดอาหารและน้ำประกอบกับได้รับอากาศหายใจน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงลงและจากการกดทับ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง "แนวนอน แนวดิ่ง และแนวเฉียง" เพราะการบรรทุกที่แน่นเกินไป หลายรายตายจากสาเหตุจากการถูกกดทับ ที่หน้าอก หลายรายมีภาวะเสียสมดุลของสารในเลือด มีภาวะการทำลายกล้ามเนื้อเกิดขึ้น (Rhabdomyolysis) และอาจมีอาการไตวายชนิดเฉียบพลัน (Acute renal fallure) ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การทับกันคงมีจริง แต่ทับแบบไหน แนวนอน แนวดิ่ง หรือแนวเฉียง ซึ่งทุกแนวทำให้เกิด Compression Syndrome ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ผลการชันสูตรพลิกศพยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตมาจากสาเหตุคอหัก และไม่มีร่องรอยของการรัดคอหรือการครอบถุงพลาสติก
คณะกรรมการอิสระได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อย ที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งแต่เพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์
แม้ญาติผู้เสียหายได้มีการฟ้องแพ่งต่อ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ว่าศาลจังหวัดปัตตานีได้ไกล่เกลี่ยและประนีประนอมยอมความ โดยกองทัพบกยอมจ่ายสินไหมทดแทนผู้เสียหาย 42.2 ล้านบาท แลกกับการถอนฟ้องต่อผู้มีอำนาจสั่งการทั้งหมด ขณะที่อัยการก็ถอนฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน ในข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ส่วนกรณีการไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 78 รายนั้น ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และผู้ตายทั้งหมดตายเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างการปฏิบัติหหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยคำพิพากษานี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทรณ์ได้
1
เนื้อหาอ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า
BBC thai
โฆษณา