14 พ.ย. 2020 เวลา 11:56 • ประวัติศาสตร์
พี่ท่านหลายคนก็คงจะเคยได้ยินถึงเรื่องราวของกบฎเจ้าอนุวงศ์กันมาบ้างแล้วนะเจ้าค่ะ ซึ่งการก่อกบฎในครั้งนี้เองที่เป็นความฉิบหายที่สุดที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ที่ต้องมาล่มสลายในครั้งนี้เจ้าค่ะ ทั้งยังเป็นจุดผันเปลี่ยนของการโยกย้ายเทครัวชาวลาวเข้ามายังพระราชอาณาจักรสยามอีกเป็นจำนวนมากด้วยนั้นแหละเจ้าค่ะ
แน่นอนว่าหลายคนรู้ถึงความเป็นไปของการก่อกบฎในครั้งนี้ แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงชนวนและเหตุจูงใจที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ทรงเปลี่ยนพระทัยคิดการกบฎในครั้งนี้เจ้าค่ะ
แท้จริงแล้วสาเหตุของการก่อกบฎของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์นั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกันเจ้าค่ะ แต่ในที่นี้ฉันจะขอยกตัวอย่างชนวนเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นคราเจ้าอนุวงศ์ลงมางานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามเจ้าค่ะ
โดยในบรรทึกพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า
“ครั้งนั้น เจ้าอนุเวียงจันทน์ ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยในการพระบรมศพ มีผู้คนลงมาอันมา จึ่งทรงพระราชดำริแล้วให้ขอแรงไพร่พลที่มาด้วยให้ไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณ ลากเข็นลงมาตกท่า ไม่กำหนดว่าเท่าไร จะนำไปใช้ที่เมืองสมุทรปราการ อนุก็ให้ราชวงศ์คุมคนไปทำการ ครั้นจวบฤดูฝน อนุก็กลับขึ้นไป จึงทูลขอพวกนางละครข้างในกับดวงคำ (เจ้าจอมมารดาดวงคำหรือเจ้าหนูมั่นหลานปู่อนุวงศ์) ซึ่งเป็นเจ้าลาวเวียงที่ถูกต้อนครัวมาแต่แผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่เมืองสระบุรี แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่โปรดพระราชทานให้ ได้แต่ร้องขอเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์คนหนึ่งให้จัดให้ อนุก็กราบถวายบังคมลากลับไปเวียงจันทน์ มีความโทมนัสด้วยไม่ได้สมความปรารถนา”
และเหตุที่ทูลขอนางละครไม่ได้นี้เอง จึงเป็นชนวนให้พระองค์รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดมีความโทมนัสด้วยไม่ได้สมความปรารถนาเป็นอย่างมาก เมื่อชนวนนี้เกิดขึ้นและไปสมทบกับชนวนอื่นๆจึงทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะปลดแอกตัวเองออกจากการเป็นเบี้ยล่างของสยาม
พระองค์จึงทรงคิดการกบฎและได้ก่อกบฎขึ้นในที่สุด แต่อาจด้วยบุญบารมีของพระองค์นั้นทรงมีน้อยหรืออย่างไร พระองค์จึงทำการก่อกบฎไม่สำเร็จและถูกจับสำเร็จโทษด้วยการขังไว้ในกรงขนาดเท่ากรงหมาที่หน้าพระที่นั่งพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมหาราชวัง จนพระประชวรและสิ้นพระชมน์ในที่สุดเจ้าค่ะ
Le Siam
"สยาม...ที่คุณต้องรู้"
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam
อ้างอิง
เจ้าพระยาทิพยากรวงศ์ (ขำ บุนนาค),”พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3”
คำอธิบายภาพ
ภาพระบำหญิงสาวชาวสยามของคณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ถ่ายโดย โจคิม แอนโทนิโอ (Joaquim Antonio)
โฆษณา