22 พ.ย. 2020 เวลา 10:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
GOLD INSIGHT : เจาะลึกทองคำ คำถามใหญ่ของนักลงทุน...ตลาดกระทิงจะยังสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่หลังจากการระบาดถูกควบคุมแล้ว ?
1
ตลาดกระทิงที่ผลักดันให้ทองคำทำลายสถิติราคาสูงสุดในปีนี้กำลังเผชิญกับคำถามใหญ่ที่อยู่หลังจากการพัฒนาทางด้านเภสัชกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้ นั่นก็คือ : จะเกิดอะไรขึ้นกับราคาเมื่อวัคซีน COVID-19 เริ่มแจกจ่ายให้กับคนทั่วไป ?
ทองคำนั้นถูกมองโดยคนจำนวนมากว่าเป็น Safe Haven หรือแหล่งปลอดภัยของมูลค่าและถูกขับเคลื่อนโดยแรงหนุนจากความเสี่ยงของตลาด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จุดเริ่มต้นของจุดจบในวิกฤตครั้งนี้ (เมื่อวัคซีนสามารถควบคุมไวรัสได้) ย่อมส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดทองคำ แต่ในอีกแง่หนึ่ง โลหะมีค่าสีเหลืองนี้ก็ยังทำหน้าที่ป้องกันเงินเฟ้อได้อีกด้วย และด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (โดยเฉพาะจากการ Q.E. ของธนาคารกลาง) ทำให้สัญญาณใด ๆ ของราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น (ซึ่งสัมพันธ์กับเงินเฟ้อ) อาจส่งผลให้นักลงทุนกลับสู่การสะสมทองคำ
2
ในเกือบทั้งหมดของปี 2020 เงื่อนไขต่าง ๆ แทบจะไม่เคยดีกว่านี้เลยสำหรับทองคำ เนื่องจากการพิมพ์เงินจำนวนมาก รวมถึงเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และความไม่แน่นอนของโลก ซึ่งกระตุ้นให้เกิด Demand และทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดต่ำลงได้ทำให้เกิดการเติบโตของราคาทองคำที่สูงขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จนในที่สุดก็ส่งผลให้ Gold Spot พุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดตลอดกาลใหม่เหนือ 2,075 $/Oz
ขณะที่ราคาลดลงเล็กน้อยหลังจากนั้น แต่นักลงทุนก็ยังคงเร่งรีบในการเข้าสู่กองทุน ETF ซึ่งมีจุดสูงสุดในการซื้อทองคำไปกว่า 1,000 ตันในปีนี้ และคิดเป็นมากกว่า 2 เท่าของปี 2019
1
แต่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมาทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ทองคำลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 7 ปีหลังจาก Pfizer Inc. ประกาศผลการทดลองเบื้องต้นซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัคซีนของพวกเขามีประสิทธิภาพป้องกัน COVID-19 กว่า 90%
ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐฯ ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นในอนาคต และกองทุน ETF ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขึ้นของราคาในปีนี้ ก็ได้ทำการเทขายทองคำอย่างน้อย 6 วันติดต่อกัน ส่วน Hedge Fund ก็มีการเดิมพันกับทองคำแท่งอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนในช่วงวันที่ 9-17 พฤศจิกายน 2020
Tai Wong หัวหน้าฝ่ายซื้อขายอนุพันธ์โลหะของ BMO Capital Markets กล่าวว่า
“The strongly positive vaccine news augurs the real prospect of a return to normality perhaps by spring, While low rates and the potential for more government support will help boost bullion over time, the velocity of gold’s rise has likely been tempered in the short term,”
“ข่าววัคซีนที่ออกมาในเชิงบวกอย่างมากทำให้โอกาสที่แท้จริงของการกลับสู่ภาวะปกติอาจเป็นไปได้ภายในฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและศักยภาพในการสนับสนุนจากภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นให้ราคาทองคำแท่งเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ความเร็วของการเพิ่มขึ้นของทองคำมีแนวโน้มที่จะสงบลงในระยะสั้น”
1
ตลาดกระทิงจะมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่?
คำถามเกี่ยวกับเงินเฟ้อจะเป็นกุญแจสำคัญในการมองแนวโน้มระยะยาว โดยในอดีต ทองคำเคยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2011 หลังจากเกิดวิกฤตการเงินและธนาคารกลางเริ่มทำการ Q.E. อย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วผู้คาดหวังตลาดกระทิงจะต้องผิดหวัง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อถูกควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ
แต่ครั้งนี้อาจแตกต่างออกไปตามที่ Oliver Harvey นักยุทธศาสตร์มหภาคของ Deutsche Bank AG กล่าว
“When we come out of Covid there is a huge amount of liquidity. Saving rates have gone through the roof because people have been stuck at home, still earning money, If inflation ticks up to 3% to 3.5% in the developed world, a lot of people will notice.”
“เมื่อเราออกมาจาก COVID จะมีสภาพคล่องอยู่จำนวนมาก ขณะที่อัตราการประหยัดพุ่งทะลุเพดานเพราะผู้คนอยู่แต่ในบ้านแต่ก็ยังได้รับเงิน ดังนั้นหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปยัง 3-3.5% ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนจำนวนมากก็จะสังเกตุเห็น”
เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมักจะทำให้ราคาทองคำแท่งพุ่งสูงขึ้นเสมอ และการดำเนินการของธนาคารกลางเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ควรเป็นปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำ
Suki Cooper, นักวิเคราะห์โลหะมีค่าของ Standard Chartered Plc. กล่าวว่า
“Risks to gold prices remain skewed to the upside given expectations of loose monetary policy, with real rates remaining low or negative globally, Also sees elevated government debt stoking inflation expectations.”
“ความเสี่ยงต่อราคาทองคำยังคงโน้มเอียงไปที่ขาขึ้น เมื่อเทียบกับการคาดการณ์นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือติดลบทั่วโลก และยังเห็นอีกว่าหนี้ของรัฐบาลที่สูงขึ้นทำให้เกิดคาดการณ์เงินเฟ้อ”
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ : แม้ว่าราคาจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากข่าว Pfizer ครั้งแรก แต่การประกาศของบริษัทอื่น ๆ อย่างเช่น Morderna Inc. ในภายหลังกลับไม่ได้กระตุ้นปฏิกิริยาที่รุนแรงเช่นเดียวกันนี้ และราคาก็มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหลังจากข่าวของ Moderna Inc. ในวันที่ 16 พฤศจิกายน
1
แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่คาดการณ์ภาวะตลาดหมีก็เติบโตขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
ในสัปดาห์นี้ Macquarie Group Ltd. ได้ประกาศว่าทองคำได้มาจุดสิ้นสุดของตลาดกระทิง และกล่าวว่าราคาอาจถึงจุดสูงสุดไปแล้วสำหรับวัฎจักรในครั้งนี้
ธนาคารชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นของวัคซีนที่จะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รวมถึงแนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่สูงขึ้นจนแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 หลังจากการประกาศครั้งแรกของ Pfizer
นอกจากนี้ ความคาดหวังเรื่องวัคซีน อาจลดโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการควบคุมของวุฒิสภาสหรัฐฯ ยังคงต้องรอดำเนินการเนื่องจากความขัดแย้งของสมาชิก
ทองคำอาจได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัว และแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงหรือเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น แต่ทองคำก็อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียกระแสเงินไหลเข้าให้กับ Bitcoin เนื่องจากการเติบโตของสกุลเงิน Digital และการป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนบางกลุ่มที่เริ่มเชื่อมั่นใน Bitcoin
2
Rhona O'Connell หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ตลาดประจำภูมิภาค EMEA (Europe, the Middle East and Africa) และ ASIA ของ StoneX Group Inc. กล่าวว่า
“As the virus is brought under control and confidence returns, money managers will probably rotate toward risk and value, which means gold’s bull run comes to an end and likely goes into reverse,”
เมื่อไวรัสถูกควบคุมและความเชื่อมั่นกลับมา ผู้จัดการทางด้านการเงินทั้งหลายอาจจะหมุนเวียนเงินทุนระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์มูลค่า ซึ่งหมายความว่าการวิ่งของตลาดกระทิงในทองคำจะสิ้นสุดลง และมีแนวโน้มที่ราคาจะกลับด้าน”
“But the to-ing and fro-ing over the past fortnight is a fair reflection of the fact that this is a vaccine, not a cure, and there is a long way to go before we are out of the woods.”
“แต่การเพิ่มขึ้นและลดลงสลับไปมาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างยุติธรรมว่านี่คือวัคซีน แต่ยังไม่ใช่ยารักษา (หมายถึงป้องกันการติดเชื้อได้แต่รักษาผู้ที่ติดเชื้อไปแล้วให้หายดีไม่ได้) และยังมีหนทางอีกยาวไกลก่อนที่เราจะออกจากป่า (ตรงนี้เปรียบเปรยกับความโกลาหลวุ่นวายหรือความไม่แน่นอน)”
1
ความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่น่าสนใจในตลาด
(1.) การถือครองทองคำของกองทุน ETF ยังคงอยู่ในระดับสูงทั่วโลก
ตลอดเดือนกันยายน 2020 การถือครองในกองทุน ETF 83 แห่งที่สภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ติดตามอยู่มีทั้งหมด 3,880 ตัน และรวมเป็นสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Asset Under Manamagement : AUM) 2.354 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในทั้งด้านของน้ำหนักและมูลค่า
สาเหตุหนึ่งของการถือครองที่เพิ่มขึ้นคือ : การกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ของนักลงทุนทองคำ พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในทองคำได้ง่ายขึ้นผ่านอินเตอร์เน็ต และกฏระเบียบต่าง ๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับ 17 ปีที่แล้วยังเป็นตอนที่การเข้าถึงทองคำผ่านกองทุน ETF ถูกจำกัดไว้ที่กองทุนเพียงไม่กี่แห่งบนโลกโดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ
1
ปัจจุบันกองทุน ETF ทองคำซึ่งจดทะเบียนในอเมริกาเหนือยังคงขยายตัวและรักษาความสัมพันธ์กันของพวกเขาในระดับโลกเอาไว้ ส่วนกองทุนในภูมิภาคอื่น ๆ ก็มีการเติบโตที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนในยุโรปที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในส่วนแบ่งของสินทรัพย์ทองคำทั่วโลก
ตามข้อมูลของ WGC ในเดือนกันยายน 2020 ระบุว่า ETF สัญชาติยุโรปถือครองทองคำอยู่เป็นสัดส่วน 41% ของ ETF ทั่วโลกเทียบกับ 16% เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกันการถือครองทองคำทั้งหมดในกองทุน ETF ทองคำของเอเชียเพิ่มขึ้นจาก 1 ตันในเดือนมีนาคม 2007 เป็น 121 ตันในเดือนกันยายน 2020 หลังจากมีการเปิดตัวกองทุนทองคำในเอเชียแห่งแรก และมีการจดทะเบียนกองทุนใหม่อีก 7 กองทุนในปี 2020 เพียงอย่างเดียว
การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของ Demand ในการลงทุนทองคำถือเป็นเสาหลักสำหรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดทองคำ โดย Demand จาก ETF ทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 270% นับตั้งแต่การกำเนิดกองทุนทองคำในปี 2003 และเพิ่มเป็น 1,270 ตันในปี 2019
ส่วนความต้องการลงทุนทองคำทั่วโลกจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 สูงถึง 1,630 ตันและอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็น 55% ของความต้องการทองคำทั้งหมดบนโลก
การจัดสรรพอร์ตทองคำของนักลงทุนทั่วโลก ส่วนใหญ่จะทำผ่านกองทุน ETFs ทองคำ โดยกระแสเงินที่ไหลเข้าสู่ ETF ทองคำทั่วโลกถือเป็นตัวขับเคลื่อน Demand ที่สำคัญที่สุดในปี 2020
การถือครองทองคำของ ETF ทั่วโลกถือครองรวมกันที่ 3,880 ตันคือสถิติใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2020 และทำให้การไหลเข้าสุทธินับตั้งแต่ต้นปีคิดเป็น 1,003 ตันหรือ 5.57 หมื่นล้านดอลลาร์
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าสถิติเก่าอย่างมีนัยสำคัญทั้งในของแง่น้ำหนัก (สถิติเก่าคือ 646 ตันในปี 2009) และมูลค่า (สถิติเก่าคือ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2016)
จากการระบาดของ COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก หลายภูมิภาคประสบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้นโยบายการเงินขยายตัวแม้แต่ในธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกอย่าง FED ECB BOE อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
(2.) อนาคตของราคาทองคำ
เมื่อมองไปข้างหน้า เราเชื่อว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์จะยังคงแข็งแกร่งขึ้น
ในขณะที่การแพร่ระบาดยังคงดำเนินต่อไปและสร้างผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ความไม่แน่นอนมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงและผลักดันให้นักลงทุนมีความต้องการสำหรับสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สำหรับแนวโน้มของทองคำในช่วงปลายปี ​2020 นั้น การฟื้นตัวของตลาดตราสารทุนจากข่าววัคซีนก็อาจทำให้เกิดการดึงกลับในราคาทองคำที่รุนแรง
แต่ในอีกแง่หนึ่ง สภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษยังคงจำกัดประสิทธิภาพของพันธบัตรในการลดความเสี่ยงและการสร้างผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่าต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ในการถือครองทองคำ
นอกจากนี้เมื่อราคาทองคำทะลุจุดสูงสุดในอดีต แรงขับเคลื่อนที่เป็นขาขึ้นสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ต่อไป
ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ และแรงขับเคลื่อนของราคาที่เป็นขาขึ้นซึ่งกำลังดึงดูดความสนใจมากขึ้น ทั้งหมดนี้อาจยังคงทำให้ Demand ในภาคการลงทุนสำหรับทองคำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2020
(3.) ภาพรวมของเดือนตุลาคม 2020
ETF บันทึกการซื้อเข้าสุทธิติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ในช่วงเดือนตุลาคม 2020 โดยมีการถือครองเพิ่มขึ้น 20.3 ตันหรือ 1.4 พันล้านดอลลาร์ (0.6% AUM) ในระหว่างที่ราคาทองคำเคลื่อนไหวเข้าสู่ Sideways ในที่ระดับต่ำกว่า 1,900 $/Oz เล็กน้อย
ภาพรวมรายเดือนในระดับภูมิภาค
การซื้อเข้ายังคงดำเนินต่อไปในช่วงเดือนตุลาคม แม้ว่าจะเป็นระดับรายเดือนที่ต่ำที่สุดในปี 2020 ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่อย่างเช่นหุ้นปรับตัวลดลงในเดือนนั้น
การซื้อเข้าสุทธิเกือบทั้งหมดมาจากกองทุนในยุโรปซึ่งเพิ่มขึ้น 20.2 ตัน (1.4 พันล้านดอลลาร์หรือ 1.4% AUM) ขณะที่กองทุนในอเมริกาเหนือซื้อเพิ่ม 1.8 ตัน (166 ล้านดอลลาร์หรือ 0.1% AUM) ส่วนกองทุนเอเชียมีการซื้อเข้าเล็กน้อยที่ 1.1 ตัน (76 ล้านดอลลาร์หรือ 1.0% AUM) และกองทุนที่จดทะเบียนในภูมิภาคอื่น ๆ มีการขายออกอย่างมีนัยสำคัญที่ 2.8 ตัน (144 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.8% AUM)
ปริมาณ Volumes ที่ไม่เปิดเผย (quiet volumes) รวมถึงการถือครองในระยะยาว (stable positioning) และความผันผวนโดยนัย (implied volatility) กำลังเพิ่มขึ้น
ปริมาณการซื้อขายทองคำรายวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนตุลาคม 2020 เป็น 1.59 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแบบ Ytd ที่ 1.86 แสนล้านดอลลาร์ สาเหตุโดยส่วนใหญ่มาจากปริมาณสัญญา Gold Futures ของตลาด COMEX ที่ลดลงจนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายวันของปี 2020 ถึง 29%
การถือครองในระยะยาวสุทธิในรายงาน Commitment of Traders (COT) ล่าสุดสำหรับ Gold Futures ในตลาด COMEX พบว่ามีการเปิด Position ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยเป็นจำนวน 766 ตัน (4.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2020 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว
ความผันผวนโดยนัยในระยะสั้นของทองคำหรือการเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้เพิ่มขึ้นจาก 17 เป็น 20 ซึ่งสาเหตุมาจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ แต่การ Put/call ใน Options ยังคงอยู่ในระดับต่ำซึ่งบ่งบอกว่าไม่มีอคติในทิศทางราคาที่คาดไว้ในในอนาคต (กล่าวคือตลาดยังไม่แสดงอารมณ์ที่ชัดเจนว่านักลงทุนกำลังคาดหวังราคาไปในทิศทางใด)
อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มขึ้นล่าสุดของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก รวมถึงความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของตลาด และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำในระยะยาว ทั้งหมดนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสของทองคำต่อไป และยังไม่เห็นว่าสถานการณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
1
WisdomTree Physical Gold GBP Hedged จากยุโรปและ iShares Physical Gold จากอเมริกาเหนือคือ 2 กองทุนหลักที่ช่วยผลักดันยอดการซื้อเข้าทั่วโลกในเดือนตุลาคม 2020
1
โดยในอเมริกาเหนือ iShares Gold Trust ซื้อเพิ่ม 9.0 ตัน (557 ล้านดอลลาร์หรือ 1.8% AUM) ตามด้วย SPDR ® Gold MiniShares ที่ 2.5 ตัน (152 ล้านดอลลาร์หรือ 4.3% AUM) ขณะที่ SPDR® Gold กลายเป็นผู้นำในการขายออกทั่วโลกที่ 11.2 ตัน (648 ล้านดอลลาร์หรือ 0.8% AUM)
และในยุโรป WisdomTree Physical Gold GBP Hedged ซื้อเพิ่ม 10.2 ตัน (633 ล้านดอลลาร์หรือ 88% AUM) ตามด้วย Invesco Physical Gold ETC ที่ 3.0 ตัน (182 ล้านดอลลาร์หรือ 1.3% AUM) โดยทั้ง 2 กองทุนจดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ส่วนในฝรั่งเศส Amundi Physical Gold เป็นผู้นำในการขายออกของยุโรปที่ 2.7 ตัน (167 ล้านดอลลาร์หรือ 4.3% AUM)
ในภูมิภาคอื่น ๆ 1nvest Gold ETF มีการขายออก 2.3 ตัน (137 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 56% AUM)
(4.) ภาพรวมของไตรมาสที่ 3 ของปี 2020
ความต้องการทองคำในไตรมาส 3 ลดลง 19% จากปี 2019 มาอยู่ที่ 892.3 ตัน ซึ่งเป็นยอดรวมรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2009 ขณะที่ความต้องการแบบ Ytd ลดลงมาอยู่ที่ 2,972.1 ตันซึ่งต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ถึง 10%
แม้ว่า Demand ในด้านเครื่องประดับจะปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำสุดในไตรมาส 2 แต่ข้อจำกัดทางสังคมทั่วโลกที่ยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่านั่นเป็นปัญหาสำหรับผู้ซื้ออัญมณีจำนวนมาก และทำให้ความต้องการทั้งหมดอยู่ที่ 333 ตันซึ่งต่ำกว่าในไตรมาสเดียวกันปี 2019 ถึง 29%
ในทางตรงกันข้าม Demand ทองคำแท่งและทองคำเหรียญกลับแข็งแกร่งขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 49% จากปี 2019 เป็น 222.1 ตัน ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่อยู่ในทองคำเหรียญเนื่องจากความต้องการ Safe Haven ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในตลาดฝั่งตะวันตกและตุรกี ทำให้ทองคำเหรียญเป็นรูปแบบการลงทุนที่แพร่หลายมากขึ้น
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 ยังคงมีการซื้อเข้าของ ETF อย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้ว่าจะชะลอตัวลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกก็ตาม ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกเพิ่มการถือครองที่ 272.5 ทำให้กระแสไหลเข้าแบบ YTD เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 1,003.3 ตัน และยังทำให้การถือครองทั่วโลกทำสถิติใหม่ที่ 3,880 ตัน ในขณะที่อัตราการเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก แต่การไหลเข้าอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ 3 แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องของนักลงทุน ETF ที่จะเพิ่มการถือครอง
ส่วนธนาคารกลาง ได้มีการยอดขายทองคำสุทธิเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่มีการขายมากกว่าการซื้อนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2010 โดยยอดขายเกิดจากธนาคารกลางเพียง 2 แห่งคืออุซเบกิสถานและตุรกี ในขณะที่ธนาคารกลางจำนวนหนึ่งยังคงมีการซื้อเข้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะซื้อเพียงเล็กน้อย
ความต้องการทองคำที่ใช้ในภาคเทคโนโลยียังคงอ่อนแอในไตรมาสที่ 3 โดยลดลง 6% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 76.7 ตัน แต่การฟื้นตัวของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีก็มีการปรับตัวดีขึ้นทุกไตรมาสเนื่องจากตลาดสำคัญบางแห่งได้ออกจากการ Lockdown
ทางฝั่ง Supply ทองคำทั่วโลกลดลง 3% เมื่อเทียบเป็นปีต่อปีมาอยู่ที่ 1,223.6 ตันแม้ว่าการทองคำหมุนเวียนในระบบจะเพิ่มขึ้น 6% แต่การผลิตในเหมืองยังคงได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดของ COVID-19
World Maker's ViewPoint :
ตามรายงานข้างต้น World Maker ยังคงให้บทสรุปสำหรับแนวโน้มในระยะยาวเหมือนเดิมคือ : ทองคำยังคงเป็นขาขึ้นและมีปัจจัยพื้นฐานหลายอย่างสนับสนุน โดยเฉพาะการ Q.E. และแนวโน้มของการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลาง
1
ส่วนแนวโน้มในระยะสั้นนั้นต้องขอบอกว่าตลาดทองคำอาจมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และอาจมีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากข่าวของวัคซีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในทีนี้กำลังอ้างอิงถึงสถานการณ์ที่ปราศจากเหตุไม่พึงประสงค์ในอนาคต
กรอบเป้าหมายสำหรับการลดลงของราคายังคงอยู่ที่ประมาณ 1760 $/Oz ซึ่งตรงกับระดับ Fibo ที่ 61.8 แต่ในทางกลับกัน หากช่วงปลายปีนี้มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันใด ๆ เกิดขึ้นอีกก็คาดว่าราคาทองคำจะขึ้นไปยืนเหนือระดับ 2,000 $/Oz และจะยังสามารถขึ้นไปต่อได้อีกเรื่อย ๆ จนกว่าปัจจัยพื้นฐานจะเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตที่สำคัญคือค่า MACD และ RSI กำลังอยู่ในระดับต่ำหรือบ่งบอกถึงการ Oversold และเมื่อเทียบกับราคาที่ทรุดตัวลงมาในช่วงก่อนหน้านี้ นั่นกำลังหมายความว่าราคาอาจเข้าใกล้ระดับต่ำสุดของขาลงรอบนี้แล้ว
1
อย่างไรก็ตาม หากราคาเกิดทรุดตัวลงอย่างแรงจนหลุดระดับ 1760 $/Oz เราก็จะเห็นแนวรับที่เป็นนัยสำคัญอีกทีที่ระดับ 1650 1560 และ 1450 $/Oz โดยระดับ 1450 ถือว่ามีนัยสำคัญมากที่สุดในการวิเคราะห์ทางเทคนิค
1
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
อยากลงทุน อยากมีเงินเก็บอย่างจริงจัง แต่ไม่มีพื้นฐาน World Maker มีคอร์สเรียนดี ๆ มาแนะนำให้ครับ รายละเอียดคลิกเลย !!
โฆษณา