1 ธ.ค. 2020 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนา
ตามมาตรการยกเว้นภาษี 300%
เนื่องจาก “การทำวิจัยและพัฒนา รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงให้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีถึง 300% ตลอดระยะเวลา 5 ปี” อีกทั้งบริษัทขนาดเล็ก ก็สามารถขอรับรองกิจการที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นศูนย์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว
เป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยกระตุ้นและจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากขึ้น นั่นคือ การนำค่าใช้จ่ายการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน 3 เท่า (หรือ 300%) ของค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินเพดานสูงสุด ดังนี้
📌 อัตรายกเว้นภาษี 60% > รายได้ส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
📌 อัตรายกเว้นภาษี 9% > รายได้ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
📌 อัตรายกเว้นภาษี 6% > รายได้ส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท
💥 ตัวอย่าง บริษัท A จ่ายเงินค่าวิจัยและพัฒนา 30 ล้านบาท
บริษัท A มีสิทธิหักรายจ่ายเพื่อการวิจัยฯ เท่าแรกตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง คือ 30 ล้านบาท และหักรายจ่ายเท่าที่ 2 อีก 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสิทธิหักรายจ่ายเท่าที่ 3 ได้ แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับรายจ่ายเท่าที่ 2 แล้วจะต้องไม่เกิน 61.5 ล้านบาท ดังนั้น ตามตารางคำนวณ แม้บริษัท A จะมีสิทธิเต็มที่ตามกฎหมายให้หักรายจ่ายเท่าที่ 3 ได้อีก 31.5 ล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทได้จ่ายจริงไปเพียง 30 ล้านบาท บริษัท A จึงสามารถหักรายจ่ายเท่าที่ 3 ได้เพียง 30 ล้านบาท รวมรายจ่ายที่บริษัท A มีสิทธิหักได้ทั้งสิ้นเท่ากับ 90 ล้านบาท
1
โดยกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถยื่นขอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ปัจจุบัน สวทช. ให้บริการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผ่านระบบ RDC Online ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการ สามารถติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินงานได้ตามความต้องการได้ทันที อีกทั้งตัวระบบได้ออกแบบให้มีส่วนป้องกันและการรักษาข้อมูลความลับของโครงการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานสากลอีกด้วย
⛳ รายละเอียดขั้นตอนการขอรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 300% (รูปแบบ Pre-Approval ผ่านระบบ RDC Online)
ก่อนจะยื่นขอรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องดำเนินการขอใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) สะก่อน ซึ่งสามารถติดต่อขอรับได้ จากหน่วยงาน CAT หรือ TOT (สามารถรอรับได้เลย)
หลังจากได้รับ ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ให้เจ้าของโครงการทำการลงทะเบียนเจ้าของโครงการ โดยเข้าสู่หน้าเวป : https://www.rdconline.nstda.or.th/rdconline/index.xhtml
⛳ ขั้นตอนการดำเนินการ
1. คลิกที่ “เจ้าของโครงการ”
2. คลิกที่ “สมัครเจ้าของโครงการ”
3. แสดงหน้าจอระเบียบและเงื่อนไขการสมัครขอใช้ระบบสนับสนุนการดำเนินงานรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคลิกเลือก “ยอมรับเงื่อนไข” และ คลิกปุม “ตกลง”
4. แสดงหน้าจอการลงทะเบียนเจ้าของโครงการ กรอกข้อมูลพร้อมแนบใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
5. รอการอนุมัติจาก สวทช. (ประมาณ 2 สัปดาห์)
⛳ ขั้นตอนการพิจารณารับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เจ้าของโครงการ (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) ยื่นแบบคำขอรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านระบบ RDC Online หรือ https://www.rdconline.nstda.or.th/rdconline/index.xhtml
การยื่นขอรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม แบบ Pre-Approval สามารถยื่นได้ 2 วิธี ดังนี้
📌 วิธีที่ 1 สำหรับโครงการฯ ทั่วไป
หลังจากสำนักงานฯ ได้รับข้อเสนอโครงการแล้ว จะนำส่งโครงการให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินเบื้องต้น ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณารับรองต่อไป
ขั้นตอนดำเนินงาน ตามวิธีที่ 1
👉 เอกสารประกอบการยื่นแบบคําขอฯ
(ก) ข้อเสนอโครงการ
(ข) สำเนาหนังสือรับรองบริษัท/นิติบุคคล ของเจ้าของโครงการ
(ค) สำเนาแบบคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ว.พ.01 ของผู้ทำวิจัย
โดยผู้ทำวิจัยฯ ต้องได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้มีการลงในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
**ค่าธรรมเนียมการขอรับรองโครงการวิจัยฯ ในอัตรา 2,000 บาท/โครงการ
📌 วิธีที่ 2 Fast Track
คือ โครงการฯ ที่ได้รับการพิจารณาแบบช่องทางด่วน หลังจากสำนักงานฯ ได้รับข้อเสนอโครงการแล้ว จะนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณารับรองโครงการฯ โดยไม่ต้องผ่านการประเมินเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญ
ขั้นตอนดำเนินงาน ตามวิธีที่ 2
ปัจจุบันโครงการฯ ที่เข้าข่ายพิจารณาแบบ Fast Track มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ
1) โครงการฯ ที่รับจ้างทำวิจัยโดยหน่วยงานของรัฐ/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน และหน่วยงานที่ไม่แสวงกำไรที่คณะกรรมการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเห็นชอบ
2) โครงการร่วมวิจัย
3) โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
👉 เอกสารประกอบการยื่นแบบคําขอฯ
(ก) ข้อเสนอโครงการ
(ข) สำเนาหนังสือรับรองบริษัท/นิติบุคคล ของเจ้าของโครงการ
(ค) สำเนาแบบคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ว.พ.01 ของ ผู้ทำวิจัย
(ง) สำเนาเอกสารสัญญาจ้าง/ร่วม/iTAP
โดยผู้ทำวิจัยฯ ต้องได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้มีการลงในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
**ค่าธรรมเนียมการขอรับรองโครงการวิจัยฯ ในอัตรา 2,000 บาท/โครงการ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
โทร : 02-564-7000 ต่อ 1328-1332
💦.....นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้
อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัทในการทำงานวิจัย รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งด้านการตลาด การผลิต การเงิน ตลอดทั้งซัพพลาย เพราะถ้าไม่มีการศึกษาวางแผนจะมีโอกาสล้มเหลวสูงมากกว่า 90% เลยทีเดียวค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา