4 ธ.ค. 2020 เวลา 16:23 • การศึกษา
เลือกเรื่องเล่าให้คนฟังรู้สึกอย่างที่เราต้องการ
The magical science of storytelling คือหัวข้อที่ David JP Phillips ขึ้นพูดบนเวที TEDxStockholm
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากเนื้อหาภายใน (ที่พูดถึงกลวิธีการสื่อสารเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกแบบที่เราต้องการ) คือตัวของ David เอง และวิธีที่เขาเลือกใช้เพื่อสื่อสารกับเรา(ผู้ฟัง)
นี่ไม่ใช่ Talk เชิงวิชาการจ๋า ไม่ได้เน้นหนักไปที่สไลด์ ซึ่งโชว์สถิติการวิจัยต่างๆ
แต่เป็นวิธีการที่ David เล่าเรื่องให้เราฟัง
พูดถึงที่สิ่งเกิดขึ้นในขณะที่เราฟัง ตามที่เขาตั้งใจให้มันเป็น
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลัก ที่ผมจะหยิบ Talk ครั้งนี้มาถอด
ถ้าใครกลัวสปอย หรืออยากดูเองก่อน สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Nj-hdQMa3uA (The magical science of storytelling | David JP Phillips | TEDxStockholm)
ในขณะดู ถ้าทำได้ ลองสังเกตวิธีการและลำดับการเล่าที่เจ้าตัวใช้สื่อสารดูนะครับ
ผมว่ามันสะท้อนสิ่งที่เขาพยายามนำเสนอได้ดีพอๆกับตัวเนื้อหาเองเลย
credit : The magical science of storytelling | David JP Phillips | TEDxStockholm
เอาหละครับ มาเข้าสู่ช่วงเนื้อหากันดีหว่า
หลังจากที่เล่าถึงการทดลอง Significant Object เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องเล่า (ผมเคยหยิบมาเขียนไว้ก่อนหน้านี้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5fc87922456650199f63482b) David เล่าถึงความสามารถที่ Storytelling ทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมนบางชนิดได้
Angel's cocktail คือชื่อที่ David ใช้เรียกฮอร์โมนที่ส่งผลดีต่อเรา
Dopamine ที่ทำให้เราโฟกัส จดจ่อได้มากขึ้น มีแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้น และสามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น
เกิดได้จากการเล่าเรื่องแบบเว้นจังหวะ และการใช้ cliff-hanger ซึ่งเป็นการสร้างความคาดหวังบางอย่างขึ้น และเลือกที่จะไม่ตอบสนองต่อสิ่งนั้นอย่างจงใจ
"ผมเคยเป็นคนที่กลัวเวทีเอามากๆ หลายครั้งที่เวลาต้องพูดต่อหน้าคนหลายคนที่ไม่รู้จัก ร่างกายผมจะเริ่มเกิดอาการสั่น ไม่ว่าจะเป็นมือหรือขาก็ตาม แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมต้องออกไปพูดท่ามกลางคนจำนวนมาก ทั้งๆที่แทบจะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลย ถ้าว่ากันตามความเห็นผม ผมคิดว่านั่นเป็นหนึ่งในการพูดที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตผมเลย .... แต่หลังจากพูดเสร็จและลงจากเวทีมาแล้ว มีคนๆหนึ่งที่น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ฟังของผมเดินเข้ามาหา เขาพูดสิ่งนี้กับผม ผมบอกกับคุณได้เลยว่าสีหน้าผมผ่อนคลายลงมากหลังจากนั้น เขาพูดอะไรกับผมนะหรือ ถ้าผมไม่บอกคุณ คุณจะรู้สึกหงุดหงิดไหม ใช่ เอาเป็นว่าผมจะไม่บอกคุณครับ และตอนนี้คุณ(อาจจะ)รู้สึกถึงผลของ Dopamine ในร่างกายของคุณแล้วก็ได้" นี่เป็นเรื่องที่ผมแต่งขึ้นครับ
(การเขียนสามารถทำได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน แต่ในความเห็นผม การพูดจะเห็นผลชัดกว่าเยอะ ลองกลับไปสังเกตตัวเองตอนได้ฟัง David เล่าดูก็ได้ครับ)
Oxytocin ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกใจกว้างมากขึ้น ไว้ใจผู้อื่นและผูกพันกันมากขึ้น
เกิดจากเรื่องเล่าที่ทำให้ผู้ฟังรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนมากจะเป็นเรื่องเศร้า หรือประสบการณ์การสูญเสียที่เผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของเรา และคนฟังสามารถเชื่อมโยงได้
ทำให้เรากลับมาเป็นมนุษย์มากขึ้น ผ่อนคลาย ผูกพันธ์และเห็นอกเห็นใจคนอื่น
อันนี้ผมว่าน่าจะนึกออกกันได้ไม่ยากเท่าไหร่ อย่างในวงสนทนากลุ่มที่มักจะหยิบยกเรื่องราวบางอย่างที่ไม่เคยหรือไม่อยากเล่าที่ไหน มาแชร์กันแค่ภายในวงสนทนานั้น ทำให้สมาชิกที่ได้ฟังรู้สึกเชื่อมโยงกัน และเห็นว่าคนอื่นก็ต้องผ่านเรื่องราวมากมายมาเหมือนกัน
Endorphin สารแห่งความสุข
เกิดจากการหัวเราะ(และกิจกรรมอื่นๆเช่นการออกกำลังกาย) และทำให้เจ็บปวดของเราลดลง หรือพูดง่ายๆก็คือทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความผ่อนคลาย รวมถึงช่วยให้จดจ่อได้มากขึ้น
ในทางกลับกัน Devil's cocktail อย่าง Cortisol และ Adrenaline เมื่ออยู่ในร่างกายของเราในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ความอดทนต่ำลง ไม่ค่อยสร้างสรรค์ คิดอะไรไม่ออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อความทรงจำและการตัดสินใจอีกด้วย
ถ้าเลือกได้เราอยากจะให้สมองหลั่งสารแบบไหนกันครับ
ทั้งกับตัวเราเอง และคนที่ฟังเรา
Functional storytelling เป็นวิธีการนำเสนอโดยการเลือกเรื่องเล่าที่อยากให้เกิด ฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาท ที่เราต้องการในคนที่เราคุยด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการให้เขารู้สึก
ซึ่ง David ได้บอกถึงความเชื่อ 3 อย่างที่จะช่วยให้เราเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีขึ้นได้ครับ
นั่นคือ
1 คนทุกคนเป็นนักเล่าเรื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
ปัญหาคือเราไม่เชื่อว่าเราเป็นนักเล่าเรื่องได้ครับ
2 ลองเขียนเรื่องราวของเราเองลงบนกระดาษ
คนส่วนใหญ่จะพบว่ามีเรื่องราวในชีวิตที่สามารถนำมาเล่าได้มากกว่าที่คิด 3-4 เท่าเลยครับ
3 จัดหมวดหมู่เรื่องราวเหล่านั้น
เรื่องราวไหนที่จะทำให้คนฟังยิ้ม เรื่องไหนที่จะช่วยให้เขาเปิดใจ ฯลฯ
อย่างไรก็ตามการสื่อสารผ่านภาษาก็อยู่คู่กับเรามาตั้งแต่ราว 100,000 ปีก่อน สมองเราเลยชินกับมันมากกว่าการสื่อสารด้วยวิธีอื่น ซึ่งเกิดทีหลังครับ
อีกเรื่องที่อยากฝากทิ้งท้ายครับ
ผมว่าถ้าเราเข้าใจหรือเห็นภาพว่าเราอยากให้คนฟังหรือคนอ่านได้อะไรไปจากเรื่องราวของเรา สิ่งนั้นจะช่วยให้เราออกแบบการสื่อสารได้ง่ายและดียิ่งขึ้นด้วยครับ
เหมือนอย่างที่ Stephen R. Covey เขียนไว้ในหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People ว่า "begin with the end in mind." ครับ
สำหรับคนที่อยากติดตาม David JP Phillips
โฆษณา