27 ธ.ค. 2020 เวลา 17:56
Broken Hearted 💔
คัดลอกจาก FB: He, art, phychotherapy
สุดท้ายของทุกอาการอยู่ที่ตัวเองเราต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็นสิ่งที่เราเจอยอมรับในความล้มเหลวผิดพลาดแล้วเราจะลุกขึ้นด้วยตัวเราเองอีกครั้งด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งตัวเราเท่านั้นที่จะพาตัวเองออกมาจากความรู้สึกเหล่านี้
หนึ่งในอาการเศร้าที่รุนแรงที่สุดคืออาการเศร้าจากการสูญเสีย💔
.
ในโลกนี้ไม่มีใครหนีการสูญเสียพ้น วันใดวันหนึ่งเราก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน
.
การสูญเสียไม่ได้มาตัวเปล่าแต่มาเป็นแพ็คเกจคู่กับ ‘ความเศร้า’ เสมอ และความรู้สึกเศร้านี้เองที่ทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป
.
วันนี้ผมเลยจะมาพูดถึงความเศร้าจากการสูญเสียคนรัก ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว แฟน เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยง การสูญเสียคนเหล่านี้ล้วนทำให้เราเกิดความรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศก เสียใจอย่างรุนแรง (การสูญเสียไม่ได้มีแค่การเสียชีวิต เลิกกับแฟน แมวหายก็นับ)
.
เมื่อคนคนหนึ่งสูญเสียคนสำคัญไป ให้เราระลึกไว้ว่าเขาไม่ได้สูญเสียแค่ตัวบุคคล มันจะมีสิ่งอื่นที่สูญหายไปด้วย เช่น การสูญเสียสามี สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ตัวสามี แต่ความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ การเงิน และอีกมากมาย หายไปด้วย และมันส่งผลกระทบกับชีวิตเขาได้มากเกินกว่าเราจะจินตนาการ
.
Colin Parkes จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เขียนในการศึกษาของเขาไว้ว่าในการสูญเสียหนึ่งครั้ง ความรู้สึกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘ความเศร้า’ แต่ความจริงแล้วมันมีหลายความรู้สึกปะปนอยู่ด้วย อย่างเช่น โกรธ กังวล กลัว เครียด สิ้นหวัง เป็นต้น แล้วแต่คนแล้วแต่กรณี (จริงๆมีอีกเยอะ)
.
ใจสลายเป็นอีกหนึ่งสภาวะที่เกิดขึ้นได้จากการสูญเสีย ภาษาอังกฤษเรียก broken hearted คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในประโยคในไบเบิ้ล ‘bind up the broken hearted’ โดย Isaiah และถูกใช้เรื่อยมา โดยทุกคนเข้าใจคอนเซ็ปต์ของคำนี้ว่า…‘ความโศกเศร้าสามารถทำให้ใจสลายได้’
.
ในปี 1835 Benjamin Rush เขียนเล่าถึงการผ่าศพในหนังสือของเขาว่า หลายคนที่มีความเศร้าจากการสูญเสียก่อนเสียชีวิต พบว่าหัวใจมีเลือดคั่ง มีการบวมและฉีกขาดของหัวใจห้องบนและล่าง
.
มีกลุ่มหมอจาก Strong Memorial Hospital ใน Rochester ตั้งสมมุติฐานว่าความรู้สึกสิ้นหวัง(hopelessness) ไม่มีใครช่วยได้(helplessness)ซึ่งพบได้มากในบุคคลที่เพิ่งสูญเสียคนสำคัญ เป็นตัวก่อให้เกิดความเจ็บป่วย
.
ครั้งหนึ่ง หนึ่งในหมอกลุ่มนี้ได้ตรวจคนไข้และพบเซลล์ผิดปกติ จึงขอนำเซลล์ไปตรวจ ณ ตอนนั้น ไม่มีใครรู้ผล แม้แต่ตัวหมอเอง แต่หมอคนนี้ใช้วิธีสัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนี้ หากพบว่าคนไข้มีความรู้สึกสิ้นหวังกับอะไรบางอย่าง เขาจะคาดการณ์ว่าเซลล์ที่พบนั้นเป็นเซลล์มะเร็ง
.
และผลคือหมอคนนี้คาดการณ์ถูกต้อง 71% (ไม่ได้บอกสัมภาษณ์ทั้งหมดกี่คน)
.
พอเริ่มมีงานศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ออกมามากขึ้น คนในวงการก็ยิ่งให้ความสนใจ เริ่มศึกษากันอย่างจริงจังเพื่อขยายผล
.
มีการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของอาการเศร้าจากการสูญเสียและการตายมากขึ้น
.
ศาสตราจารย์ Maddison จาก University of Sydney ได้ทำแบบสำรวจกับกลุ่มแม่หม้ายชาวอเมริกัน 132 คน และชาวออสเตรเลีย 221 คน 13 เดือนหลังจากเผชิญกับการสูญเสีย และสำรวจกลุ่มควบคุมที่เป็นผู้หญิงที่แต่งงาน
.
ผลคือ 28%ของกลุ่มแม่หม้ายรายงานว่าตัวเองสุขภาพแย่ลง ขณะที่กลุ่มควบคุมอยู่ที่ 4.5%
.
มีการสำรวจอีกครั้งกับชาว Boston โดย Havard Medical School คราวนี้มีการควบคุมอายุ ฐานะครอบครัว ขนาดครอบครัวให้เหมือนกันมากที่สุดระหว่างกลุ่มตัวอย่างกับกลุ่มควบคุม และผลการสำรวจก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน
.
การศึกษาของ Michael Young ในปี 1963 ก็พบว่า 40% ของกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย 4,486 คน เสียชีวิตภายในหกเดือนแรกหลังจากสูญเสียคู่รักไป
.
นอกจากนั้นเขายังได้รวบรวมกลุ่มอาการหลักๆที่ถูกรายงานโดยกลุ่มพ่อ/แม่หม้ายไว้ดังนี้ .
.
อาการซึมเศร้า(depress) ประหม่า(nervousness)
สติแตก(mental breakdown) แพนิค(panic) มีปัญหาการตัดสินใจ(difficulty in decision making) กลัว(fear)
มีความคิดประหลาดๆ(peculiar thoughts)
ฝันร้าย(nightmares) นอนไม่หลับ(insomnia) สั่น(trembling) เบื่ออาหาร(loss of appetite)
น้ำหนักลง(loss of weight) ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม(loss of working capacity) เพลีย(fatigue)
.
กายสัมพันธ์กับใจอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ความรู้สึกที่เกิดจากการสูญเสียหากจัดการไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อร่างกายและการดำเนินชีวิตในที่สุด
.
มีอีกหลายการศึกษา อย่างน้อยๆที่ผมเจอก็ 4-5 ชิ้น ที่ชี้ว่าผู้สูญเสียที่มีอาการเศร้ามีความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีสุขภาพที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญและเป็นโรคต่างๆจนอาจทำให้เสียชีวิต
.
คุณหมอ Colin Parkes แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเวลาเจอใครที่เรารู้สึกว่าดูท่าแล้วอาการไม่ดีแฮะไว้ดังนี้
.
1. ช่วยตัดสินใจเรื่องง่ายๆ เช่น การลางาน แคนเซิลแพลนต่างๆ
2. บอกเขาว่าต้องทำอะไรต่อ เช่น ในกรณีที่ยังช็อค จองวัด แจ้งญาติ แจ้งที่ทำงาน เคลียร์ตารางงาน เป็นต้น หรืออะไรที่ทำได้ บอกเขาว่าจะทำให้
3. ช่วยเรียบเรียงความคิดของเขา เป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้เขาสงบ
4. คอยเช็คสภาพการกินอยู่ของเขา กินได้แค่ไหน นอนหลับมั้ย ทำอะไรบ้าง
5. แต่ก็ต้องระวังอย่ายุ่มย่ามล้ำเส้นจนเกินไป
6. จัดการสิ่งที่จะทำให้เกิดอารมณ์ทางลบออกไปเท่าที่ทำได้
7. แสดงออกถึงความเข้าใจ เราต้องมั่นคงและนิ่งพอจะรองรับอารมณ์ของเขา
8. อย่าแสดงออกถึงความน่าสงสาร เวทนา หากรู้ว่าทำไม่ได้ให้เลี่ยงการสื่อสาร อยู่เงียบๆไม่ต้องพูดเยอะ
9. หากเกินกำลัง หาทางพาไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
.
ในทางกลับกันหากเราเองเป็นผู้สูญเสีย อย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือจากทั้งผู้เชี่ยวชาญหรือคนใกล้ตัว บอกคนรอบข้างและคนสนิทให้เขาเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่
.
ผมมีข้อสังเกตว่าเรามักเผลอตัดสินว่าการสูญเสียแบบไหนคือหนัก แบบไหนคือเบา เช่น เวลาใครบอกว่าพ่อเสีย แม่เสีย เราจะทะนุถนอมเขาอย่างดี แต่บางกรณีเวลาที่ใครบอกว่าเลิกกับแฟน เพื่อนเลิกคบ หมาตาย แมวหาย เรากลับให้ความสำคัญน้อยกว่า ผมไม่ได้จะบอกว่าอะไรสำคัญกว่าอะไรหรืออะไรสำคัญเท่ากัน แต่ผมกำลังจะบอกว่า…การสูญเสียคือการสูญเสีย ให้คนที่สูญเสียเขาบอกเองว่าสิ่งที่เสียไปมันสำคัญกับเขาแค่ไหน
.
ผมเคยให้คำปรึกษาเคสนึง มีประโยคนึงเคสผมบอกว่า ‘ถ้าหมาหนูตาย หนูคิดว่าหนูจะฆ่าตัวตายตาม ครอบครัวหนูไม่มีใครเข้าใจหนูเท่ามัน’…หวังว่าจะพอเห็นภาพมากขึ้น
.
เมื่อมีการสูญเสีย คอยถนอมใจกัน ฟังกันให้มากๆ คอยประคับประคองกันให้เรื่องหนักๆที่คนหนึ่งคนกำลังเผชิญไม่หนักจนเกินไปนะครับ
.
ความเศร้าไม่ใช่คนที่ฆ่าเรา แต่ความเศร้าคือมาเฟียที่จ้างมือปืนชื่อความอ่อนแอและความเจ็บป่วยมายิงเราอีกที
.
โดม
ธิติภัทร รวมทรัพย์
(MA Art Psychotherapy Student)
source:
Bereavement: Studies of Grief in Adult Life (2nd edition) by Colin Murray Parkes )
โฆษณา