31 ธ.ค. 2020 เวลา 17:18 • ความคิดเห็น
Happy New Year 2021 ครับทุกท่าน!!!
เผลอแปบเดียวปีที่จัดว่าไม่สู้ดีนักสำหรับพวกเรา (ทั้งโควิด, เศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ และอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเราไม่มากก็น้อย) กำลังจะผ่านพ้นสุดทางของมันแล้ว
ณ ตอนนี้ถนนเส้นใหม่กำลังทอดรอการย่างก้าวของเราอีกครั้งเมื่อเข็มนาฬิกาทั้งสองบรรจบทับกันที่เลข 12
สิ่งดีๆ กำลังซ่อนแอบรอให้เราไปค้นพบอยู่ในปี 2021 ส่วนสิ่งที่ไม่ดีและไม่น่าจดจำก็ปล่อยมันทิ้งไว้ด้านหลัง ให้กาลเวลาไหลผ่านชำระล้างออกจากชีวิตของเราไปครับ
ในปี 2020 นี้นับเป็นปีแรกเลยที่ผมทำการบันทึกหนังสือที่อ่านจบเอาไว้ใน excel file เพื่อดูว่าตัวเองเคลียร์กองดองไปได้เเล้วกี่เล่ม
สรุปแล้วเคลียร์กองดองไปได้ 26 จ้า!!!
ผมขอถือโอกาสนี้มาแชร์หนังสือ 5 เล่มที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ ชาว Blockdit กันครับ
1. ห.ส.ร. (หุ่นยนต์สากลราวี) : เขียนโดย คาเรล ชาเพ็ก แปลโดยคุณปราบดา หยุ่น
ห.ส.ร. (หุ่นยนต์สากลราวี) จัดเป็นบทละครที่สร้างชื่อเสียงให้กับ คาเรล ชาเพ็ก (1887-1945) นักเขียนและปัญญาชนยุคสมัยใหม่ชาวเชก และบทละครดังกล่าวนี้ยังทำให้คำศัพท์ 'robot' เป็นนิยมใช้เรียกมนุษย์กลหรือเครื่องจักรในเวลาต่อมา
บทละครที่ว่าด้วยการปฏิวัติของเหล่าหุ่นยนต์จากการถูกกดขี่ของมนุษย์ โดยชาเพ็กใช้หุ่นยนต์จำลองความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ทำให้ทุกบทสนทนาแฝงการจิกกัดแซะแซวความเป็นมนุษย์อยู่เนืองๆ อย่างมีคารมคมคาย
"เราจะสร้างหุ่นยนต์ผิวสี ต่างสัญชาติ ต่างภาษา แล้วให้ใครสักคนป้อนข้อมูลเกี่ยวกับภราดรภาพเข้าไป...เพียงเท่านี้พวกมัน (หุ่นยนต์) ก็ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวได้อีกแล้ว"
เรียกได้ว่าอ่านไปมีสะดุ้งไปแน่นอนครับงานนี้ (เป็นงานเขียนที่ทำให้ผมรู้สึกเป็นไมเกรนได้อ่ะคิดดู)
2. หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ : เขียนโดย เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ แปลโดยคุณพันทิพา บูรณมาตร์
หากถามว่าใครคือนักเขียนที่ทรงอิทธิพลของอเมริกา หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (1896-1940) คนนี้อย่างแน่นอน เพราะเป็นนักเขียนที่ถ่ายทอดสังคมอเมริกาในยุค Jazz Age ยุคที่คนอเมริกันระเริงหลงใหลไปกับภาพมายานับไม่ถ้วน อีกทั้งยังเสพสุขกันอย่างไร้จุดหมายได้ดีเยี่ยมคนหนึ่ง
สามเรื่องสั้นในเล่มนี้ประกอบด้วย ปราสาทน้ำแข็ง, ความฝันในฤดูหนาว และหวนคืนสู่บาบิลอน ซึ่งทั้งสามเรื่องล้วนถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ได้เป็นอย่างดีเลยครับ ทำให้เข้าใจประโยคที่ทางสำนักพิมพ์เปรยไว้เลยว่า 'อย่าบอกว่ารู้จักฟิตซ์เจอรัลด์ หากยังไม่ได้อ่านเล่มนี้'
และด้วยภาษาที่ใช้ก็สวยงาม การเล่าเรื่องที่น่าติดตามและทำให้อยากรู้ฉากจบของเรื่อง เร้าให้ผมอยากอ่านงานเขียนอื่นๆ ของเขาเลยครับ
3. คุณทำแบบนี้ ทำไมเขาเข้าใจแบบนั้น : เขียนโดย ไฮดี กรานต์ ฮาลวอร์สัน แปลโดยคุณพรเลิศ อิฐฐ์
ไฮดี กรานต์ ฮาลวอร์สัน คือนักจิตวิทยาสังคม นักเขียน นักพูดแถวหน้าของโลก เพราะฉะนั้นเชื่อขนมกินได้ว่าหนังสือเล่มนี้ต้องมีหมัดเด็ดซ่อนอยู่เพียบ
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ
แม้ชื่อหนังสือที่ให้อารมณ์เหมือนฮาวทู แต่กลับมีความเป็นจิตวิทยาแบบเข้มข้น หนังสือที่จะทำให้เรารู้ว่า 'ประสบการณ์แรกพบ' นั้นสำคัญขนาดไหน, การตัดสินคนอื่นๆ นั้นช่างง่ายดายเพียงใด และสมองเรานั้นจะขี้เกียจไปถึงไหน พร้อมศัพท์เฉพาะทางอีกเพียบ...โดยรวมแล้วอ่านสนุก (แต่หนักหัวนิดๆ) และเปิดโลกมากอีกเล่มหนึ่งเลยครับสำหรับผม
4. เรื่องเล่าชาววิกล : เขียนโดย เชอร์วูด แอนเดอร์สัน แปลโดยคุณประสิทธิ์ ตั้งมหาสิถิตกุล
เรื่องเล่าชาววิกลจัดว่าเป็นงานเขียนที่สร้างชื่อให้กับ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน นักเขียนขาวอเมริกัน เลยทีเดียวครับ
เรื่องเล่าชาววิกลเล่มนี้ ถือเป็นลูกครึ่งระหว่าง 'เรื่องสั้น' กับ 'นวนิยาย' กล่าวคือในแต่ละบทนั้นล้วนมีความเป็นเอกเทศในตัวเอง (เริ่มเรื่องและจบบริบูรณ์ได้ด้วยตัวเอง) อันเป็นเอกลักษณ์ของเรื่องสั้นที่พึงจะเป็น แต่ทว่าก็ให้กลิ่นอายของความเป็นนวนิยายโดยการร้อยเรียงต่อกันด้วยสายใยสองเส้นได้แก่ ทุกเรื่องล้วนเกิดในเมืองไวน์สเบิร์กและมีนักข่าวหนุ่มนามจอร์จ วิลลาร์ดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
ส่วนนึงต้องชมการวางโครงเรื่องของผู้เขียน ที่จะเปิดหัวเรื่องด้วยการบรรยายถึงพฤติกรรมที่ดูพิลึกกึกกือของตัวละครนั้นๆ ก่อนจะค่อยๆ ผ่านทัวร์ความคิดที่ดูผุพังโดยนำเอา 'กระแสสำนึก' มาใช้งานได้อย่างเหมาะเจาะ และพาเจาะเวลาย้อนอดีตไปดูสิ่งที่หล่อหลอมให้ตัวละครดังกล่าวมีพฤติกรรมประหลาดดั่งเช่นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มันแอบส่งกลิ่นอายความเป็นโปรไฟล์เลอร์อยู่หน่อยๆ และมันกระตุ้นต่อมอยากเผือกของเราได้ดีนักแล ตลอดจนการใช้ภาษาบ้านๆ (ไม่ใช้คำไวพจน์หรือถ้อยคำสวยหรู) ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้วยความที่มีกลิ่นอายของจิตวิทยาบุคลิกภาพฉุนกึกนี่เอง ทำให้กุมหัวใจผมได้ไม่ยากเลย
5. แมวผี คัดสรรสุดยอด 18 เรื่องสั้น ตำนานเขย่าขวัญโลก : เขียนโดย เอ็ดการ์ อัลลัน โป แปลโดยคุณกิตติวรรณ ซิมตระการ
เอ็ดการ์ อัลลัน โป นักเขียนอเมริกันผู้นี้ เป็นนักเขียนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งงานเขียนรหัสคดี ผู้สร้างนวัตกรรมการประพันธ์เชิง ‘ตรรกนิยาย’ อันเป็นเรื่องเล่าแห่งการคาดคะเนตามหลักเหตุผลให้เป็นที่เลื่องลือ และได้ส่งมอบแรงบันดาลใจต่อไปยัง อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ และอกาธา คริสตี้ ในเวลาต่อมา
หนังสือเล่มนี้คือการรวบรวมผลงานเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงของเขานั้นเองครับ โดยเล่มนี้เรียกได้ว่ามีครบทั้งเรื่องสืบสวนสอบสวนตลอดจนเรื่องเขย่าขวัญอื่นๆ
“ผมคิดว่าผมคงต้องเกริ่นเรื่องนำมากๆ เข้าไว้ก่อน เพราะผมกลัวว่าคนจะคิดว่านิทานอันสุดแสนมหัศจรรย์ที่ผมกำลังเล่าต่อไปนี้ จะกลายเป็นเรื่องเพ้อคลั่งมากกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง” บางส่วนจากเรื่องสั้นจดหมายในขวด (MS.Found in a Bottle)
หนังสือเล่มนี้ผมใช้เวลาอ่านเดือนกว่าๆ เลยทีเดียว เพราะความที่โปชื่นชอบที่จะบรรยายอย่างละเอียดยิบ ทำให้ทุกการเกริ่นช่วงต้นเรื่องจะค่อนข้างหนักและรู้สึกยืดเยื้อไปสักเล็กน้อย เรียกได้ว่ากว่าจะอ่านจบแต่ละเรื่องทำเอาเหนื่อยเลยครับ
แต่การเกริ่นนำที่ละเอียดนี้ คือสิ่งที่โปเก็บซ่อนอุบายไว้ให้กับนักอ่านอย่างเราๆ ครับ
“เรื่องบางเรื่องมักเล็ดลอดสายตาไปได้ง่าย เพียงเพราะมันชัดเจนเกินไป หรือเห็นกันชัดๆ ในตัวของมันเอง” บางส่วนจากเรื่องสั้นจดหมายที่หายไป (The Purloined Letter)
เมื่อเราผู้อ่านรู้สึกว่า เรารู้รายละเอียด (เกือบ) ทุกอย่างแล้ว โปจะงัดจุดหักมุมที่เหนือการคาดหมายมาให้เราทึ่งได้เสมอเลยครับ เรียกได้ว่าคุ้มค่าแน่นอนกับการอ่านไปถึงตอนจบในแต่ละเรื่อง และการถ่ายทอดบรรยากาศที่ดูลึกลับชวนสยองขนหัวลุกก็ทำได้ดีมากๆ เช่นกันครับ
เป็นอีกหนึ่งเล่มที่คอสืบสวนสอบสวนและคอนิยายสยองขวัญไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
แม้ผมจะห่างเหินไปจากสังคม Blockdit ช่วงนี้ แต่ผมก็ยังคิดถึงมิตรภาพที่ได้จากพี่ๆ เพื่อนๆ เสมอนะครับ
ไว้ผมรู้สึกว่าตัวเองพร้อมมากกว่านี้ ผมจะกลับมาเขียนบทความแน่นอนครับ
Happy New Year 2021 อีกครั้งครับทุกท่าน...คิดถึงเสมอ!!!
โฆษณา