7 ม.ค. 2021 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
## เสรีนิยมใหม่ vs รัฐสวัสดิการ ##
เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) มีฐานความคิดมาตั้งแต่การถือกำเนิดของเศรษฐศาสตร์ และมีบทบาทนำในการกำหนดนโยบายตั้งแต่ทศวรรษ 1970s เพราะสหรัฐฯ สนับสนุนให้ประเทศในโลกเสรีและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเดินตามแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ซึ่งประกอบด้วย Financial Liberalization, Privatization, Deregulation และ Stabilization
1) Financial Liberalization การแปรเปลี่ยนให้เป็นการเงิน เสรีนิยมใหม่สนับสนุนการตีมูลค่าทรัพยากรในสังคมเป็นตัวเลขและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆขึ้นมาหมายจะขับเคลื่อน (mobilize) ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนสูงตามไปด้วย
2) Privatization การลดบทบาทภาครัฐและขยายบทบาทของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ เนื่องด้วยเสรีนิยมใหม่ตั้งอยู่บนฐานของการให้เสรีภาพแก้ปัจเจกชนในการสะสมทุน การดำรงอยู่ของรัฐเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เป็นระบบราชการที่เชื่องช้า ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันและใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
3) Deregulation ลดหย่อนกฎระเบียบต่างๆที่ออกโดยภาครัฐ องค์กรเกี่ยวเนื่อง รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กฎระเบียบเหล่านั้นจำกัดบทบาทของเอกชนในการประกอบธุรกิจและลงทุนในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
4) Stabilization การใช้นโยบายแบบสมดุลของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการคลัง ทั้งเพื่อให้ภาครัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด ทั้งเพื่อให้เป็นไปตามแนวคิด Macro-prudential policy คือการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ควบคุมให้เงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีความแข็งแกร่งและยั่งยืนโดยมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ
ขณะเดียวกัน แนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดความเหลื่อมล้ำมทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส Financial Liberalization ทำให้ภาคการเงินขยายตัว การลงทุนเป็นไปเพื่อการเก็งกำไรมากกว่าการยกระดับผลิตภาพของการผลิต กลุ่มคนที่ควบคุมทรัพยากรทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆเป็นคนกลุ่มเล็กๆในสังคม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลกหลายครั้งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการณ์ซับไพรม์ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน
ในทางตรงกันข้ามแนวคิดรัฐสวัสดิการ (Welfare State) มีกำเนิดมาตั้งแต่การรวมชาติเยอรมนีของบิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ที่เป็นการสร้างระบบประกันสังคมขยายครอบคลุมไปยังคนส่วนใหญ่ของรัฐชาติ มีการทำประกับอุบัติเหตุจากการทำงาน ประกันสุขภาพ เป็นต้น
แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชน ทั้งจากที่ปัจเจกชนเป็นผู้ให้ความชอบธรรมกับรัฐ และรัฐเป็นผู้ให้สวัสดิการกับปัจเจกชนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เสียเปรียบในสังคม ในหลายบริบท ปัจเจกชนแต่ละคนไม่ได้มีโอกาสและความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดได้เท่าเทียมกัน การให้เอกชนโดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศและกลุ่มทุนข้ามชาติรังแต่จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อราคาในตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย หรือผู้กำหนดราคาในตลาดที่มีการผูกขาดซึ่งกลไกตลาดไม่ทำงานและบอกได้ยากว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่าแม้จะมีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ก็ตาม
แนวคิดรัฐสวัสดิการมีหลายสาย ซึ่งสายที่สำคัญๆก็กำหนดให้รัฐกำกับดูแลตลาดและกฎหมายแรงงาน เรียกร้องให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทั้งผ่านนโยบายการคลัง และนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal policy)
หลังจากวิกฤตการณ์ซับไพรม์ แนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง หลายคนกลายเป็นผู้แพ้ต่อเสรีนิยมใหม่ที่ผูกโยงกับโลกาภิวัตน์ แม้กระทั่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือภาคการเงินเองก็พังพินาศ ล้มหายตายจากไปมิใช่น้อย แนวคิดรัฐสวัสดิการจึงหวนกระพือกลับมาอีกระลอก
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีสาธารณะ หากเอนเอียงไปทางเสรีนิยมใหม่ก็จะกล่าวว่า หากก้อนเค้กที่หมายถึงระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่ขึ้น กลุ่มคนที่เสียโอกาสก็จะมีโอกาสมากขึ้นและร่ำรวยขึ้นเอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะค่อยๆลดลงไปเมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น แต่หากเป็นคนที่เอนเอียงไปทางรัฐสวัสดิการก็จะมองสังคมในเชิงโครงสร้างและบอกว่าต่อให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น แต่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ก็จะได้สัดส่วนของเค้กก้อนใหญ่มากขึ้นอยู่ดี ยิ่งเศรษฐกิจขยายตัวความเหลื่อมล้ำยิ่งเพิ่ม เป็นเรื่องยากที่ผู้เสียโอกาสจะลืมตาอ้าปากหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซง แต่ปัญหาที่ตามมาคือรัฐที่เข้ามาแทรกแซงนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน หากมีขนาดใหญ่หรือเข้ามายุ่มย่ามในระบบเศรษฐกิจจนเกินพอดีจะป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างไร
เป็นวิวาทะสองฝั่งซ้ายขวาที่ต่อสู้กันไปตลอดสายธารของประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากวิวาทะทางสังคมหรือการเมืองอื่นๆแม้แต่น้อย
โฆษณา