11 ม.ค. 2021 เวลา 00:07 • การศึกษา
10 ปัจจัยบ่งชี้ คนไทยไม่เคยจูบปาก
เราอาจจะคิดกันไปต่าง ๆ นานาว่า พฤติกรรมการสืบพันธุ์ คือสัญชาตญาณที่เป็นไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกหัด และเชื่อว่าจำนวนไม่น้อย ที่เหมารวมการจูบปาก คืออากัปกิริยา ที่ธรรมชาติสอนสั่ง ทั้งที่ในความเป็นจริง มันอาจไม่ใช่แบบนั้น เอ้า ..!! แล้วแบบไหน ?? เอียงหูมาครับ ท้อปฯจะกระซิบให้ฟัง
10 หลักฐาน
อิงจากบันทึกหลักฐาน ประวัติความเป็นมาของสยามประเทศ บรรพบุรุษของเรานั้น ไม่เคยดูดด่ำ กับรสชาติ​ ประสาทสัมผัสผ่านริมฝีปากเลย หรือไม่ ก็อาจเป็นเพราะบันทึกต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถเปิดเผย หรือเขียนถึงเรื่องเหล่านี้ ด้วยวัฒนธรรมประเพณี​ยุคเก่า แต่ทำไม เราถึงพบจิตกรรมภาพเชิงสังวาส อันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาให้ขบคิด
9 ฟันดำ
สมมุติฐานต่อมา อาจเป็นเพราะในยุคโบราณ คนไทยไม่นิยมการทำความสะอาดในช่องปาก หากมีบ้าง ก็คงเป็นการใช้เปลือกหมาก หรือไม่ก็ใบข่อย ในการทำความสะอาดฟัน สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ลงก็คือ คนยุคก่อนทั้งชายและหญิง นิยมการกินหมาก ซึ่งแน่นอนว่า ฟันดำปี๋ทีเดียว .. เมื่อช่องปากไม่อภิรมย์ ใครฤาจะกล้าโอมเพี้ยงง..
8 เลิกกินหมาก
หลังจากสยามประเทศ มีคำสั่งให้ประชาชนลด ละ เลิก กินหมาก คนไทยจึงเริ่มหันมาจูบกันใช่ไหม ?? ตอบเลยว่าไม่ใช่ครับ ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะทัศนคติของคนสมัยก่อน มีความเชื่อว่า ปากผู้ชาย คือพื้นที่ส่วนตัว ไม่ควรนำไปชอนไช กับร่างกายอิสตรีนางใด (ไม่ว่าส่วนใด ก็ตาม)
7 ยุคมาลาไทย
ในช่วงสมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนี้ไทยเรารับเอาวัฒนธรรม ค่านิยมและแนวคิดแบบตะวันตกเข้ามาพอสมควร แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คนไทยเริ่มจูบปากกันช่วงนี้ แม้ว่าจะมีข้อกำหนด ให้สามีต้อง “หอมแก้ม” ภรรยาก่อนออกจากบ้านก็ตาม
6 จิตกรรมฝาผนัง
แม้นักโบราณคดี จะพยายามขุดคุ้ย หาภาพอีโรติกจากทั่วแคว้น แดนสยาม ก็พบเพียงภาพวาดชายหญิง กอดรัด ฟัดเหวี่ยงกันจนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย หรือบางฉาก เป็นภาพเข้าพระ เข้านางกัน​ แต่ก็ไม่พบอริยาบททำนองเมาท์​ทูเมาท์เลย​ อย่างมาก​ ก็แค่ “หอมแก้ม”
5 ราชาพิลาป
อ้างจากวรรณกรรมในเรื่องราชาพิลาป แต่งราวสมัยรัตนโกสินทร์ มีตอนหนึ่งใจความว่า "จุมพิตณนงคริมไร โอษฐคันธกัลยา" บทอัศจรรย์ดังกล่าว แม้จะใกล้เคียงการจูบ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการจูบ เป็นเพียงการบรรยายที่ข้องแวะบริเวณปากเท่านั้น
4 ปากป้อน
อีกตอนหนึ่ง ของบทอัศจรรย์ มีใจความว่า “เชยชมชู้ปากป้อน แสนอมฤตรสข้อน สวาทเคล้าคลึงสมร ฯ” ถึงแม้ปากป้อนในที่นี้ น่าจะหมายถึงการจูบที่สุด แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะ “ปากป้อน” ดังกล่าว กลับหมายถึงการพูดฉะอ้อน พูดเอาใจมากกว่า
3 งานแปล
นักวิชาการหลายท่าน ลงความเห็นว่า วัฒนธรรมการจูบปาก อาจเริ่มเป็นที่เป็นที่รู้จัก ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จากจารึกลายลักษณ์อักษร รวมไปถึงเมื่อมีการแปลงานเขียนจากต่างประเทศ นั่นน่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนไทย เริ่มรู้จักการประกบริมฝีปากกันมากขึ้น​ ถึงอย่างนั้น​ ก็ไม่อาจยืนยันพฤติกรรม​ ของคนไทยทั่วไปได้
2 เลียนแบบ
กระแสของการแลกเปลี่ยน​ เอนไซม์ในน้ำลาย น่าจะเป็นเรื่อง หรือการกระทำเลียนแบบ ของคนเฉพาะกลุ่ม อันเกิดขึ้นในวงแคบ ๆ จากกลุ่มคนที่ได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตก ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่น ในกลุ่มคนที่เดินทางไปศึกษาต่างประเทศ หรือกลุ่มคนที่ติดต่อราชการ การค้าต่าง ๆ
1 จมูก
ถึงแม้ว่าวิถีไทยแท้ แต่เดิมนั้น จะไม่ชำนาญเรื่องการใช้ปาก สื่อสารความรักต่อกัน แต่วัฒนธรรมไทยดั่งเดิม กลับถนัดการใช้จมูก ซอกไซร้​ ซุกซน​ ซาบซ่านไปทั่วตัว ดั่งเช่นที่พบปรากฎตามจิตกรรมฝาผนังต่าง ๆ หรือแม้แต่จารึก รวมทั้งวรรณกรรม งานเขียนมากมาย
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า การจูบปาก ทั้งแบบดูดดื่ม และดูดเฉย ๆ ไม่ต้องดื่มนั้น มีที่มา ที่ไปจากไหนกันแน่ แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ กว่าการดูแลรักษา คนที่เรารัก และห่วงใย จะจูบ หรือหอม คุณค่าคงอยู่ที่ใจเรากำหนด
หากข้อมูลผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
กดไลค์หากถูกใจ แชร์หากเห็นว่ามีประโยชน์ คอมเมนท์เพื่อแนะนำติชม
พูดคุย และทักทายผ่านอีเมลล์หรือ HangOut ที่
โฆษณา