16 ม.ค. 2021 เวลา 23:18 • ประวัติศาสตร์
คนจีนในสยาม
สมัยกรุงศรีอยุธยา อิทธิพลของจีนมีบทบาทมายาวนานต่อเนื่อง แม้ล่วงเลยมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังปรากฏให้เห็น ดังเช่นต้นสมัยกรุงศรีอยุธยามีหลักฐานเป็นเอกสารของจีนพบว่ามีเจ้านครอินทร์เชื้อสายสุพรรณภูมิได้เดินทางไปเมืองจีนหลายครั้ง และได้กล่าวถึงเอี้ยวลกควรอิมที่ได้ไปเมืองจีน ซึ่งก็คือเจ้านครอินทร์นั่นเอง (กษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา) ในรัชสมัยขุนหลวงพระงั่ว เจ้านครอินทร์ (พระราชนัดดา) ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายกับเมืองจีนอย่างต่อเนื่องเสมอมา ได้เสด็จไปเมืองจีนหลายครั้งตั้งแต่ยังไม่ทรงครองราชย์จนตลอดรัชสมัยของพระองค์ ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองทางการค้ายุคต้นของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงส่งคณะราชทูตกับทั้งเรือสินค้าไปค้าขายกับเมืองจีนถึง ๑๔ ครั้ง เจ้านครอินทร์ได้นำช่างทำเครื่องปั้นดินเผาจากจีนมาสยาม พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปเมืองจีนด้วยพระองค์เอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น บางกอก (กรุงเทพฯ) เป็นชุมนุมใหญ่ต่อมามีฐานะเป็นเมือง โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแลฝั่งบางกอกและฝั่งธนบุรี ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแผ่นดินเดียวกัน เพราะลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่าไหลลงมาเข้าคลองบางกอกน้อยแล้วออกคลองบางกอกใหญ่ จนในปี พ.ศ. ๒๐๘๕ สมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดฯ ให้ขุดคลองลัด ทำให้ย่นระยะทางตั้งแต่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยไปจรดปากคลองบางกอกใหญ่ หรือปัจจุบันจากหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยถึงบริเวณวัดอรุณฯ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำไหลลัดตัดตรงจนคลองลัดขยายกว้างกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาศูนย์กลางชุมชนย้ายทิศทางมาอยู่ฝั่งวัดอรุณฯ จนถึงวัดระฆังฯ ขณะเดียวกันฝั่งตรงข้ามบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันมีชาวจีนและชาวสยามมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำมาค้าขาย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีวัดสำคัญเกิดขึ้นในบางกอก ได้แก่วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤฤษฏ์ฯ) และวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ) หรือในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมัยสมเด็จพระนารายณ์ การค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น มีการจัดเรือสำเภาหลวงออกไปติดต่อค้าขายกับจีน ในยุคสมัยนี้มีจำนวนชาวจีนอพยพเพิ่มจำนวนขึ้น ช่วยให้ธุรกิจการค้าในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสนับสนุนพ่อค้าชาวจีนในสยาม พ่อค้าชาวจีนยุคบุกเบิกเข้ามามีบทบาทสำคัญในสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนทำให้มีชุมชนชาวจีนในสยามมากขึ้น นับแต่ยุคแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ การค้าขายทางเรืออยู่ในการควบคุมของชาวจีนเป็นหลัก ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกองกำลังอาสาชาวจีนช่วยออกรบทำศึกสงครามโดยเสมอมา พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ชาวจีนมารับราชการเป็นจำนวนมาก มีหัวหน้าชาวจีนที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลชาวจีน โดยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่าซ้าย มีบรรดาศักดิ์ที่โชฎึกราชเศรษฐี ชาวจีนได้ได้ร่วมรบและปกป้องชาติบ้านเมืองจนถึงคราวกรุงแตกครั้งที่ ๒ ชาวจีนได้อพยพเข้ามาส่วนมากมาจากตอนใต้ของประเทศจีน เพื่อมาตั้งรกรากปลูกบ้านเรือนและทำการค้า ในอดีตชาวจีนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นบริเวณวัดพนัญเชิง และริมฝั่งน้ำตรงข้ามวัดพนัญเชิง ปัจจุบันอาศัยหนาแน่นอยู่บริเวณหัวรอ ตลาดเจ้าพรหม ส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋วและจีนไหหลำ ตระกูลเก่าที่มีบทบาทในอยุธยาในปัจจุบันคือ แซ่เบ้ (จีนแต้จิ๋ว) เปลี่ยนนามสกุลมีคำว่า อัศวนำหน้า แซ่ด่าน (จีนไหหลำ) เปลี่ยนนามสกุลมีคำว่า ด่านนำหน้า อาชีพของชาวจีนเหล่านี้ เช่น ธุรกิจโรงเลื่อยไม้ การต่อเรือ เป็นต้น คนจีนเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นสมาคม ชมรม มูลนิธิช่วยเหลือด้านสาธารณกุศลในอยุธยา เรื่องจากหนังสือต้นตำนานลูกหลานจีนในสยาม โดยกิตติ โล่เพชรัตน์เรียบเรียง by krisda paleeriam
โฆษณา