19 ม.ค. 2021 เวลา 12:32 • สุขภาพ
วัคซีน โควิด 19 มาแล้ว!
🌟บริษัทแอสตาเซเนก้า ยื่นขึ้นทะเบียนกับ องค์การอาหารและยา (อย.) ไทยแล้ว🌟
ข่าวสดๆร้อนๆ ที่บริษัทวัคซีนทั่วโลกต่างจ้องแข่งกับเวลา เหมือนต้องรีบวิ่งให้ถึงเส้นชัยก่อนใครเพื่อรีบผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ออกมาให้เร็วที่สุด
และบริษัทที่วิ่งมาถึง อย. ของไทยเป็นบริษัทแรกคือ บริษัท AstraZeneca
ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติ อังกฤษกับสวิส ร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด 19 กับมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด แห่งประเทศอังกฤษ
การผลิตวัคซีนแต่ลชนิด แต่ก่อนต้องใช้เวลานานเป็นสิบปี กว่าจะได้วัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพดี เทียบได้กับการวิ่งมาราธอนที่ต้องอาศัยความอึดและอดทน
คราวนี้เราได้วัคซีนชนิด “วิ่งเร็ว 100 เมตร” มาแทน การวิ่งมาราธอน
เราจะมั่นใจในความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน?
วัคซีนทำจากอะไร และทำงานได้อย่างไร?
ภาพจาก https://m.timesofindia.com/life-style/
🌟เรามาดูรายละเอียดของวัคซีนนี้กันค่ะ🌟
วัคซีนปัองกันโรคได้ โดยการเข้าไปในร่างกายแล้วกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นๆ
ร่างกายจะต้องรู้จักกับรูปร่างหน้าตาของเชื้อก่อน แล้วจึงสร้างภูมิที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อนั้นๆขึ้นมาค่ะ
แล้วร่างกายจะรู้จักเชื้อได้อย่างไร 1. คือรับเชื้อนั้นเข้าไป เป็นโรค แล้วจึงสร้างภูมิต้านทาน
2. มีตัวพาเชื้อ หรือบางส่วนของเชื้อที่ตายแล้ว เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้สร้างภูมิขึ้นมา โดยไม่ต้องเป็นโรคนั้นๆ
1
ข้อ 2 นี้คือ หน้าที่ของ “วัคซีน” ค่ะ
🌟วัคซีนสอนให้ร่างกายรู้จักหน้าตาของเชื้อโรค เมื่อเชื้อตัวจริงเข้ามา จะได้มีอาวุธจู่โจมได้ทัน🌟
ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID 19
นี่คือหน้าตาของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID 19 เห็นหนามแหลมๆสีแดงๆที่อยู่รอบตัวมันไหมคะ? นี่แหละคือตัวที่ไปเกาะเกี่ยวกับเซลล์ของคนเรา แล้วทะลุไปในเซลล์ เรียกว่า Spike proteins
เราเอาเจ้าหนามแหลมนี้มาให้ร่างกายรู้จักหน้าค่าตากันก่อน โดย เอามาทำเป็นวัคซีนค่ะ
1
🌟ไวรัสผลิตหนาม spike เหล่านี้ได้อย่างไร?
อ๋อ! มันจะมีใบคำสั่งการผลิตโปรตีนออกมาก่อนค่ะ เขียนลงบนgene ที่เป็นเส้นๆ ที่เป็นเส้นคู่ คือDNA (ที่เห็นในภาพข้างบน เส้นหยักๆสีแดง คือส่วนของ gene ที่สร้าง spike protein) ตัดส่วนgene นี้ออกมาเป็นใบคำสั่ง
ต้องเอาใบคำสั่งDNAนี้ ให้ร่างกายเราผลิตเฉพาะโปรตีน Spike ออกมาให้เหมือนไวรัส แล้วหลอกให้เราสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาไงคะ
ทีนี้จะเอาเจ้า DNA นี้ เข้าไปในเซลล์ร่างกายได้อย่างไร?
ก็ต้องหาตัวนำพาเข้าไปเป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ที่พอเซลล์ลาดตระเวนของร่างกายเห็น จะต้องรีบตะครุบ และต้องเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนด้วย
เอา DNA เข้าไปฝากใน Adenovirus
😀เริ่มสนุกแบบงงงงแล้วไหมคะ😀
จะให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค ต้องเอา DNAใบคำสั่งเข้าไปส่งในเซลล์ ให้ผลิตโปรตีนของไวรัสโควิด แต่ต้องนั่งรถAdenovirus เข้าไป🙂🙃
พอ adenovirus เข้าเซลล์ แล้วก็จะล่องลอยในฟองbubble มุ่งตรงไปที่นิวเคลียสไข่แดงกลางเซลล์ ....แล้วก็เจาะฉีด DNA เข้าไปค่ะ
DNA ก็ส่งคำสั่ง ให้สร้าง mRNA เพื่อผลิตก๊อปปี้โปรตีน Spike ออกมาได้มากมาย
จนเจ้า spike protein ยื่นออกมาข้างนอกเซลล์ ร่างกายก็เริ่มส่งพลลาดตะเวนมาดูแล้ว...มีอะไรแปลกๆ ไม่ชอบมาพากล พลทหารก็ส่งสัญญาณไปกระตุ้นการสร้าง แอนตี้บอดี้เฉพาะเจาะจง
ต่อมาก็กดกริ่งสัญญาณเตือนภัย ค่ะ....💥คราวนี้สารพัดเซลล์ก็กรูกันเข้ามาล่ะค่ะ พัลวันสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน เจ้าspike protein หน้าตาแปลกๆนี้
วัคซีนก็ได้ทำหน้าที่แล้วเป็นที่เรียบร้อย
เวลาเชื้อจริงหน้าตาแบบนี้มา ก็พร้อมต่อสู้ค่ะ !
วัคซีนของ AstraZeneca ใช้ DNA ใส่ใน Adenovirus มีข้อดี คือ
1.ตัว adenovirus นี้เป็นไวรัสในลิงชิมแปนซี เข้าเซลล์คนได้ แต่ไม่เพิ่มจำนวน และโปรตีนที่หุ้ม adenovirus ค่อนข้างแข็งแรง ป้องกัน DNA ข้างในได้
2.DNA ไม่บอบบางเท่า RNA
🌟วัคซีนนี้จึงค่อนข้างทนทาน ไม่ต้องแช่แข็ง เก็บในตู้เย็นธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-8 องศา C ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน🌟
เรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย จะนำมาเสนอในบทความหน้าค่ะ
ภาพจาก Bangkok Post
ภาพและข่าวจาก Thai PBS
วันนี้ (19 ม.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด 19 1 แห่ง ยื่นเอกสารต่อ อย. เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย คาดว่าจะได้รับการอนุญาตให้นำวัคซีนมาใช้แบบฉุกเฉินในไทยไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้
หลังจาก อย.พิจารณาเอกสารแล้ว กระบวนเป็นไปตามแผนว่าจะมีวัคซีนมาฉีดให้คนไทยตั้งแต่ ก.พ.เป็นต้นไป โดยจะมีระบบติดตามหลังฉีดวัคซีนเพื่อดูอาการอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ว่า มีความผิดปกติหรือไม่ เช่น การแพ้ยา อาการไม่พึงประสงค์ หากมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็จะมีคณะกรรมการสอบสวนรายละเอียดเพื่อดูว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนหรือไม่ และจะพิจารณาว่าจะให้ฉีดต่อหรือให้หยุดฉีด
นพ.โอภาส กล่าวว่า เราสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ แต่วัคซีนก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดอัตราการป่วยตายในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว แต่การฉีดวัคซีนก็ทำต้องควบคู่กับการป้องกันส่วนบุคคลเพื่อให้เกิดการป้องกันที่สมบูรณ์
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว เป็นการยื่นขอขึ้นทะเบียนของ แอสตราเซนเนกา ในลอตการผลิตในต่างประเทศ แต่ อย.ได้ขอให้บริษัทส่งเอกสารเพิ่มเติมในส่วนของคุณภาพมาตรฐานการผลิตของโรงงานในต่างประเทศ ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาว่าอนุมัติการขึ้นทะเบียนหรือไม่ ซึ่งหากเอกสารครบจะสามารถพิจารณาได้ภายใน 1 สัปดาห์
นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า หากวัคซีนตัวนี้ในลอตการผลิตในต่างประเทศได้รับการขึ้นทะเบียน จะส่งผลต่อวัคซีนตัวเดียวกันนี้ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผลิตในประเทศไทย 26 ล้านโดส คือ จะทำให้ขึ้นทะเบียนได้เร็วขึ้น เพราะมีหลักฐานการผลิตเหมือนกับลอตที่ผลิตในต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจะไม่สามารถนำเข้าวัคซีนตัวนี้ได้ เพราะในการยื่นขอขึ้นทะเบียนของบริษัท แอสตราเซนเนกา ระบุว่า จะขายให้รัฐบาลไทย เพราะเป็นการอนุมัติการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน
พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา