20 ม.ค. 2021 เวลา 02:41 • ครอบครัว & เด็ก
แม่อายุมากแล้วเริ่มถามวนอยู่สามเรื่อง
กินข้าวหรือยัง?
น้องกลับบ้านหรือยัง?
ปิดประตูบ้านหรือยัง?
แม่ถามแล้วถ้าเราไม่ตอบ แม่ก็จะถามวนอยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะตอบ
บางทีเรากำลังติดงานอยู่ ต้องการสมาธิ แม่ก็จะถามวนจนเราหงุดหงิด ของขึ้น สุดท้ายก็ต้องตอบ เพื่อแม่จะได้หยุดถาม ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ได้ผล เพราะเดี๋ยวๆ ท่านก็ถามใหม่
แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นบททดสอบที่หนักมากถ้าต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่มีใครมาเปลี่ยนมือ
คนที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ เพราะเราจะต้องตอบคำถาม หรือมีพฤติกรรมวนซ้ำตามผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว
วิธีการพาให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ออกจากลูปวนซ้ำ สามารถทำได้โดยการเบี่ยงเบนประเด็น แทนที่จะตอบแล้วตอบอีกซ้ำๆกับคำถามวนของผู้ป่วยด้วยอารมณ์ขุ่นมัวว่า...กินข้าวแล้วววว... แม่จะถามทำไมบ่อยๆ... เมื่อกี้เพิ่งถามหยกๆ... แม่จำไม่ได้หรือ...
ลองเปลี่ยนคำตอบว่า เมื่อเช้าทาน........... แต่ไม่อร่อยเหมือนที่แม่เคยทำให้กินตอนเด็กๆ....
ชวนคุณแม่คุยถึงเมนูอาหารโปรดฝีมือของคุณแม่ ให้คุณแม่ได้เล่า ได้พูดถึงความสำเร็จความภาคภูมิใจแทน ที่จะตกร่องเดิมๆ ที่ติดเป็นนิสัยโดยที่แม่ไม่รู้ตัว
การเปลี่ยนประเด็นคุย เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนคน เปลี่ยนกิจกรรม ที่ผู้ป่วยถูกใจในขณะนั้นของผู้ป่วย นอกจากจะชะลอการเสื่อมสภาพของสมองของผู้สูงอายุแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะเหนื่อยล้าและลดความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ของผู้ดูแลในอนาคตด้วย
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการฝึกสติของผู้ดูแลไปในตัวด้วย ฝึกให้เรารู้เท่าทันใจตัวเองเมื่อเกิดความไม่พอใจ เมื่อต้องตอบคำถามซ้ำๆ และฝึกที่จะหาทางเลือกใหม่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ เพื่อเปลี่ยนให้ช่วงเวลาของการดูแลผู้ป่วยเป็นเวลาที่มีคุณค่ามีความหมายต่อตัวเราเองและผู้ป่วย
#การดูแลผู้ป่วยคือการปฏิบัติธรรม
#Toalzheimerwithlove
โฆษณา