3 ก.พ. 2021 เวลา 07:58 • การศึกษา
ลาภมิควรได้ VS เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 👴👵🧓
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและเคารพทุกท่าน บทความนี้จะยาวสักหน่อย เมื่ออาทิตย์ก่อนได้อ่านข่าวคุณยาย ถูกเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน เกือบแสนบาท เพราะยายได้รับเงินสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือรับเงินซ้ำซ้อนนั้นแหละครับ..
พอเรื่องของยายดังขึ้นมา ทีนี้ก็ตรวจสอบกันซิครับ ปรากฎว่ามี คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยายอีกหลายรายที่จะต้องคืน ..
หลังจากนั้น พี่ผมซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานสภาทนายความจังหวัด ได้รับหนังสือจากสภาทนายความให้ความช่วยเหลือภายในจังหวัดหากมีคดีดังกล่าวปรากฎขึ้นกับผู้สูงอายุภายในจังหวัด ..เราก็ต้องมาเสวนาสภากาแฟในตอนเช้า..
ถามว่า คุณยายต้องคืนไหม ..ลองมาดูกันครับ ..
ถ้าเราเอาหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์มาประกอบ มันก็เป็นเรื่องของ..ลาภมิควรได้ แล้วมันคืออะไร ..ลาภมิควรได้ อธิบายแบบชาวบ้านก็คือ..
ผู้ใดก็ตามได้ทรัพย์สินใดมา จากที่คนอื่นชำระหนี้ หรือ ได้มาโดยประการอื่นใดก็ตาม โดยการได้มานั้นไม่มีเหตุตามกฎหมาย ทำให้บุคคลอื่นนั้นเสียเปรียบ ก็ต้องคืนทรัพย์ให้กับเขา.. อันนี้อยู่ในมาตรา 406
แล้วถ้ารับไว้โดยสุจริตล่ะ...ก็ต้องคืนครับ แต่คืนได้เฉพาะส่วนที่ยังมีอยู่ขณะเรียกคืน..มาตรา 412
แล้วเหตุที่มาเรียกคืนเรื่องนี้เพราะอะไร ..ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ในข้อที่ 6 (4) กำหนดว่า ..
ผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้อง ..ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น เช่น ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
แต่ในระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องการจ่ายเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุไม่ได้มีกำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ 2552..ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อกรมบัญชีกลางตรวจพบ ...
ภาพสำนักข่าวไทย
มันจึงกลายเป็นการรับเงินซ้ำซ้อน ..ซึ่งขัดต่อระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการเรียกคืนเกิดขึ้น ..
กฎหมายในประเทศไทยมีเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เรื่องแม้นักกฎหมายเองก็ไม่มีทางที่จะรู้หมดหรอกครับ นับประสาอะไรกับชาวบ้าน ยิ่งผู้สูงอายุด้วยแล้ว ข้อเท็จจริงมันเห็นชัดว่า คุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า ที่มีสิทธิรับเบี้ยดังกล่าว สุจริต
เมื่อฟังได้ว่า สุจริต ตอนที่รัฐเรียกคืน เหลือเท่าไหร่ก็คืนเท่านั้น ถ้าขณะเรียกคืนไม่เหลือก็ไม่ต้องคืนหรอกครับ มันก็เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินวินิจฉัยวางหลัก ไว้ใน คำพิพากษาฎีกาที่ 10850/2559 ว่า
1
" เมื่อจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริต และนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 412 "
1
ถ้าคิดกันต่อไปว่า ..สมมุติ ว่า คุณยายหรือผู้สูงอายุคนใดก็แล้วแต่ ไม่ได้ใช้เงินนั้นเลยตั้งแต่ได้รับมา เก็บไว้ในธนาคาร เป็นเงิน 100,000 บาท แต่ได้นำดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 5,000บาท มาใช้จ่ายจนหมด
แม้คุณยายสุจริต ก็ต้องคืนเงิน 100,000 บาท เพราะขณะเรียกคืนเงินนั้นยังมีอยู่ ตามมาตรา 412 แต่ปัญหาคือ ดอกเบี้ย 5,000 บาท ที่ได้ใช้ไปแล้ว คุณยายต้องคืนหรือเปล่า ..
1
ซึ่งดอกเบี้ยนี้ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัย ตามมาตรา 148 เมื่อฟังได้ว่าขณะที่คุณยายนำเงินดอกเบี้ยออกมาใช้นั้น สุจริตอยู่ ถึงแม้จะต้องคืนเงิน 100,000 บาท ก็ตามแต่ดอกเบี้ยที่ใช้ไปแล้วก็ไม่ต้องคืนครับ เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 415 ว่า
1
ถ้ารับไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลนั้น ตลอดเวลาที่ยังสุจริตอยู่ ..ครับ แต่ถ้ายังไม่ได้ใช้ดอกเบี้ย 5,000 บาทยังอยู่ครบ ก็ต้องคืนครับ เพราะดอกเบี้ยเป็นดอกผล ย่อมตกได้แก่เจ้าของทรัพย์สิน ..
ถ้าเอาตามนี้กัน แล้ว คุณยายไม่มีเหลือขณะเรียกให้คืนก็ไม่ต้องคืนหรอกครับ ก็เป็นไปตามของกฎหมาย...
แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งครับ ..ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 นั้นมีบทเฉพาะกาล กำหนดไว้ด้วย..โดยเขียนว่า..
" ระเบีบยนี้มิให้กระทบต่อสิทธิผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ..ที่มีอยู่ก่อนหรือในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และให้ถือว่า ผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นผู้ได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบนี้แล้ว "
นั้นหมายความว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปี 2552 จะนำไปใช้กับ ผู้สูงอายุ ที่ลงทะเบียน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ 2548 ไม่ได้ คงใช้ได้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียน ตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ..พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องคืนเงิน และเคยรับเงินอย่างใดก็รับอย่างนั้นต่อไป...
ทั้งหมดทั้งมวล ผมก็ดูตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ได้ถกเถียงในระหว่างนั้งจิบกาแฟกันในช่วงเช้า ..ส่วนผลจะออกมาประการใด หรือรัฐจะมีแนวทางกำหนดเพื่อให้เป็นธรรมแก่ผู้สูงอายุ อย่างไร..ก็ต้องรอดูแนวทางปฏิบัติกันต่อไป..
อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ผมก็คงได้รับเงินเดือนจากรัฐ แบบคุณตา คุณยาย ทั้งหลายแล้ว ขอสักเดือนละหมื่นก็..ok .. แล้วคร้าบ
😍😍 บุญรักษาทุก ๆ ท่านครับ 🙏🙏🙏🙏
โฆษณา