9 ก.พ. 2021 เวลา 15:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จากพันหนึ่งราตรีจินนี่จ๋าสู่ดาวอังคาร การท่องอวกาศของ UAE เปลี่ยนโลกอาหรับอย่างไร
พันหนึ่งราตรี ตะเตียงอลาดิน จินนี่ ซินแบด เมื่อพูดถึงชนชาติอาหรับ เราอาจจะนึกถึงเครื่องแต่งกายประจำชาติ ตึกสูงระฟ้า สายการบินสุดหรู และบ่อน้ำมันมหาศาลที่สร้างรายได้ให้แก่ภูมิภาค แต่จริง ๆ แล้ว ชนชาติอาหรับนั้นเป็นหนึ่งในชนชาติที่มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ ถ้าย้อนกลับไปดู ศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ การดูดาว ภาษา และหลาย ๆ อย่างล้วนมีที่มาจากอารยธรรมอาหรับ
เราคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE นั้น ทำโครงการสำรวจดาวอังคารด้วยการส่งยานที่ชื่อว่า Hope (ความหวัง) ไปเป็นยานลำแรกของทั้งประเทศตัวเอง และเป็นตัวแทนของชนชาติอาหรับ แต่จริง ๆ แล้ว เป้าหมายของพวกเขานั้นไปไกลว่าการสำรวจดาวอังคารในแง่มุมวิทยาศาสตร์ หรือการพัฒนาทางวิศวกรรมอย่างเดียว แต่พวกเขากลับสอดแทรกประเด็นทางวัฒนธรรมอย่างน่าทึ่ง
ทีมวิศวกร ที่ทาง UAE Space Agency บอกว่าเป็นวิศวกรรุ่นเยาว์ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มารับช่วงต่อการพัฒนาประเทศ ภาพนี้ถ่ายในศูนย์ควบคุมการเข้าสู่วงโคจรของยาน HOPE ในขณะเตรียมพร้อม ที่มา – UAE Space Agency
ในช่อง YouTube Nas Daily ได้มีการอัพโหลดวิดีโอชื่อ Why Arabs Are Leaving Earth ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 1 เดือนก่อนที่ยาน Hope จะเริ่มต้นการเดินทางสู่ดาวอังคาร พร้อมกับช่องของ Khalid Al Ameri ซึ่งเป็น Influencer ชาว UAE ที่โด่งดังกันมาก ๆ ทั้งคู่ แน่นอนว่าการอัพโหลดคลิปนี้เป็นคอนเทนต์ที่ตรงกับเป้าหมายของประเทศ (และอาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล) ซึ่งก็แสดงถึงความฉลาดในการทำให้ประเด็นการสำรวจอวกาศกลายเป็นประเด็นทางวัฒนธรรม
ในคลิปของ Nas Daily ได้มีการพูดถึงความพยายามในการสำรวจดาวอังคารของ UAE เขาพูดเหมือนกับที่เราพูดไปด้านบน (แสดงว่าเขาสำเร็จในการถ่ายทอดความคิดของพวกเขามาใส่เราซึ่งเป็นคนไทย) ครั้งหนึ่งชนชาติอาหรับเคยเป็นผู้นำด้านศิลปะวิทยาการ พวกเขาคิดค้นพีชคณิต (Algebra) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญมาก ๆ อย่างหนึ่ง พวกเขาค้นพบและทำแผนที่ท้องฟ้า ดวงดาวต่าง ๆ ชื่อดาวหลาย ๆ ดวงจึงเป็นภาษาอาหรับ (ที่ขึ้นต้นด้วย “อัล” ต่าง ๆ) และดาวกับพระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม รวมถึงศาสนาอิสลามเองก็เป็นศาสนาที่มีการใช้งานดาราศาสตร์อย่างแม่นยำมาก ๆ (การกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ) อาหรับนั้นรุ่งเรืองมาก ๆ แต่เมื่อช่วงเวลาหนึ่งมาถึง ความเจริญต่าง ๆ ถูกย้ายไปอยู่ที่ยุโรป และยุโรปกลายเป็นเหมือนชนชาติที่เป็นผู้นำวิทยาการต่าง ๆ ของโลก จนถึงในปัจจุบัน เวลาที่เรานึกถึงอาหรับ เราจะนึกถึง ความขัดแย้ง สงคราม ความวุ่นวาย ต่าง ๆ ซึ่งภารกิจ HOPE นี้จะเป็นการนำพาให้ชนชาติอาหรับกลับมามีภาพจำด้านศิลปะวิทยาการอีกครั้งหนึ่ง
โครงการ HOPE นั้นแม้จะมีความร่วมมือจากต่างประเทศ แต่วิศวกรกว่าครึ่งเป็นชาวอาหรับ และ 34% ก็เป็นผู้หญิงเสียด้วย รวมถึงวิศวกรหลักของยาน ก็เป็นผู้หญิง (ประเทศในกลุ่มอาหรับ เป็นที่พูดถึงในปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ เช่น ความรุนแรง และการกีดกันทางสังคม เช่น ห้ามขับรถ) ดังนั้นโครงการ HOPE นอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมด้านศิลปะวิทยาการแล้ว ยังเป็นการวางหมุดหมายจุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่จะทำให้ชนชาติอาหรับได้รับการยอมรับจากโลกมากขึ้นด้วยเช่นกัน
34% ของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในโครงการ Hope เป็นผู้หญิง นำโดย Sarah Al Amiri เพื่อสร้างภาพจำใหม่เกี่ยวกับปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่มา – UAE Space Agency
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการริเริ่มภารกิจการสำรวจอวกาศของ UAE นั้น ก็ได้แก่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เยาวชนในประเทศ ว่าพวกเขาสามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นวิศวกร เป็นคนที่สร้างสิ่งสำคัญให้กับโลกใบนี้ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร ผู้ชายหรือผู้หญิง หรือเป็นชาวอาหรับ เป็นอีกหนึ่งการวางหมุดหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว
ดังนั้นหมุดหมายทางวัฒนธรรมนี้จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการสนับสนุนจากผู้นำประเทศอย่าง Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีความสนใจอย่างมากในงานด้านอวกาศ ซึ่งชื่อของพระองค์ก็ได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของ MBRSC หรือ Mohammed Bin Rashid Space Centre ในรัฐดูไบ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของโครงการ Hope ด้วย
9 กุมภาพันธ์ 2020 ท่านยังได้ออกมาทวีตผ่าน Twitter ส่วนพระองค์ @HHShkMohd วิดีโอที่สำคัญมาก ๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนยาน Hope เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร ซึ่งวิดีโอเป็นภาษาอาหรับ แต่ถอดความท่อนสำคัญออกมาได้ว่า “After more than five million working hours by more than 200 Emirati engineers, our goal is to give hope to all Arabs, and the fact the we can compete with nations and other people” และ “And even if the Hope Probe couldn’t enter the orbit, I say that we entered the history, because this will be the farthest point in the universe Arabs have ever reached.”
นับว่าเป็นบทพูดที่ทรงพลังมาก ๆ บทพูดนึงในประวัติศาสตร์ของประเทศ และชนชาติอาหรับเอง เพราะประกอบไปด้วยการพูดถึงทีมวิศวกรกว่า 200 ชีวิต และยังคงย้ำเป้าหมายของการสร้างแรงบันดาลใจและการวางหมุดหมายทางวัฒนธรรมที่สำคัญให้กับชนชาติอาหรับ และโลก
Space Agency อายุแค่ 6 ปี แต่ไปถึงดาวอังคารได้อย่างไร
อีกหนึ่งความน่าสนใจและน่าทึ่งมาก ๆ ของโครงการอวกาศของ UAE ก็คือ Space Agency ของ UAE นั้น เพิ่งเกิดขึ้นมาในระยะเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น Elizabeth Gibney ซึ่งเธอเป็นนักเขียน นักวิเคราะห์ข่าววิทยาศาสตร์ ได้เขียนบทความลงบน Nature ในชื่อบทความว่า How a small Arab nation built a Mars mission from scratch in six years (https://www.nature.com/immersive/d41586-020-01862-z/index.html) โดยใจความสำคัญนั้นกล่าวถึง หลาย ๆ มุมด้วยกัน
ในมุมแรกเป้าหมายของโครงการอวกาศนั้นเริ่มจากความพยายามในการเปลี่ยน Mindset ทางเศรษฐกิจ Omran Sharaf หัวหน้าโครงการ HOPE บอกไว้ว่า โครงการนี้มีตัวขับเคลื่อนคือเรื่องของเศรษฐกิจ จะเห็นว่า UAE นั้นมีแนวคิดเช่นนี้มาสักพักแล้ว ตั้งแต่ความพยายามในการเปลี่ยนเมืองทะเลทรายให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว มีการสร้าง Burj Khalifa ตึกที่สูงที่สุดในโลก มีสายการบินระดับโลกอย่าง Emirates และ Etihad ที่โด่งดังมาก ๆ มีภาพจำเป็นประเทศร่ำรวย ดังนั้นโครงการอวกาศจะพาประเทศไปสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจใหม่ ที่พวกเขาไม่เคยมีมาก่อน
แต่สิ่งแรกที่พวกเขาต้องเริ่มต้นเลยก็คือเรื่องของการศึกษา ข้อมูลทางสถิติจาก United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization ระบุไว้ว่าก่อนหน้าปี 2010 UAE ไม่เคยมีใครจบปริญญาเอกเลย แม้กระทั่งในปี 2017 จำนวนร้อยละของผู้จบปริญญาเอกจากผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งหมดก็อยู่เพียงแค่ 0.8% ส่วนอัตราการเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในประเทศก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะมีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่เรียนต่อในสายนี้ (วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ หรือการแพทย์)
ซึ่งเอาจริง ๆ สถิติด้านบน เรา (สเปซทีเอช) มองว่ามันน่าทึ่งมาก ลองนึกดูว่าชนชาติอาหรับคิดค้นพีชคณิต แต่มีแค่ 5% เท่านั้นที่เรียนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในมหาวิทยาลัย ไม่นับเรื่องดาราศาสตร์หรือการแพทย์ ที่ก่อนหน้านี้อาหรับก็เป็นผู้นำมาโดยตลอด ดังนั้นโครงการ HOPE นี้จึงเป็นการรื้อโครงสร้างทาง Mindset ทั้งหมดของเด็กและเยาชนเลยทีเดียว
จนกระทั่งในปี 2014 Mohammed bin Rashid Al Maktoum ก็ทรงประกาศเป้าหมายโครงการ Hope ในปี 2021
Mohammed bin Rashid Al Maktoum ผู้ริเริ่มและบุคคลสำคัญของโครงการอวกาศของ UAE ที่มา – UAE Space Agency
หลังจากนั้น UAE ก็ปั่น Ecosystem ออกมาจาก 0 มีการตั้งศูนย์อวกาศ ตั้ง Space Agency ของตัวเอง โดยอาศัยการศึกษาเป็นหลัก จนในปี 2018 พวกเขาก็ส่งดาวเทียมดวงแรกได้สำเร็จโดยผลงานการสร้างด้วยตัวเองคือ KhalifaSat ซึ่งเป็นดาวเทียมในตระกูล DubaiSat ซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะ 100% ออกแบบและผลิตโดย Satrec Initiative จากเกาหลีใต้
ในปี 2016 พวกเขายังได้ก่อตั้ง National Space Science and Technology Center (NSSTC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านอวกาศแห่งแรกของประเทศ ซึ่งสร้างงานด้านวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มากมายในประเทศ รวมถึงทำให้การศึกษา Higher Education ในประเทศ สโคปมาอยู่ที่ STEM มากขึ้น การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมต่าง ๆ มีการสร้าง Mars Science City ในนครดูไบ จำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร เป็นแหล่งการเรียนรู้และ Ecosystem ให้กับนักวิจัย นักพัฒนา ชนิดที่เรียกว่าเรียนจบมามีงานทำ ไม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ทำวิจัยมีเงินเดือนกันสบาย ๆ
ภาพจาก Nature ด้านล้าง แสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตด้านงานวิทยาศาสตร์ของ UAE สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ มีการลงงบประมาณสูงขึ้น นำมาซึ่งการตีพิมพ์งานวิจัยต่าง ๆ มีค่า Impact สูงชนะค่าเฉลี่ยของ EU ด้วยซ้ำ ส่วนจำนวนของ Output ก็ไม่ต้องพูดถึง นำชนะเพื่อนบ้านไปเยอะมาก
สิ่งนี้เป็นตัวพิสูจน์ว่าพวกเขามาถูกทาง ในขณะที่ยาน Hope ก็ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ เงินถูกใช้ไปกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เด็กและเยาชนถูกปลูกฝังความรู้ด้าน STEM ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็ถูกสอนให้เห็นถึงมูลค่าของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากพัฒนาด้านเทคโนโลยีและอวกาศ ทำให้ประเทศที่เคยแต่ซื้อมีเงินก็ซื้อ รวยมากก็ซื้อ อย่างตึก Burj Khalifa นี่ก็ซื้อมา วิศวกรที่ทำก็มาจาก Samsung จะถมเกาะถมอะไรก็จ้างเขาหมด จนตอนนี้ UAE สามารถมีขีดจำกัดของวิศวกร และบุคลากรที่สามารถส่งยานไปดาวอังคารได้ด้วยตัวเอง
ยาน Hope ในศูนย์อวกาศ Mohammed Bin Rashid Space Centre ที่มา – UAE Space Agency
ยาน Hope นั้นยังเป็นเพียงการวางหมุดหมายแรกเท่านั้น โครงการสำรวจอวกาศของ UAE นอกจากความบ้าบิ่นในการกระโดดก้าวข้ามจากไม่มีอะไรเลย ไปจนถึงดาวอังคารได้ในเวลาแค่ 6 ปีนั้นจะนำมาซึ่งการออกแบบภารกิจต่าง ๆ ในอนาคตมากขึ้น รวมไปถึงเป้าหมายในการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร
Sheikh Mohammed ยังระบุต่ออีกว่า ในปี 2117 (ประกาศไปข้างหน้าอีกร้อยปี) UAE จะต้องมีโคโลนีบนดาวอังคารเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คิดดูว่าแค่ 6 ปี พวกเขายังมาไกลได้ขนาดนี้ 100 ปี พวกเขาจะไปไกลได้แค่ไหน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าพวกเขาจะไปดาวอังคาร ดาวพฤหัส หรือดาวอะไร แต่ให้นึกถึง Impact ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เวลาพูดถึงเรื่องวิศวกรรมยานยนต์ เรานึงถึงประเทศเยอรมัน พูดถึงรถไฟความเร็วสูงเรานึกถึงญี่ปุ่น แต่สำหรับชาวอาหรับแล้ว พวกเขากำลังจะเปลี่ยนภาพจำเดิม ๆ อย่างขี่อูฐ ทะเลทราย หรือตำนานศิลปะวิทยาการ นิทานอาหรับ อาหรับราตรี ให้กลายเป็นภาพของวิทยาศาสตร์แบบหนัง Sci-fi ซึ่งไม่ต้องรอถึง 100 ปี แต่ในอีก 4-5 ปีข้างหน้านี้ เรามั่นใจว่าภาพของอาหรับจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และมันก็จะ Imapct ในทุก ๆ ภูมิภาคทั่วโลกแน่ ๆ
โฆษณา