14 ก.พ. 2021 เวลา 05:12 • ปรัชญา
อันตรายที่มากับคำว่า “นายสั่งมา”
ชเวอินช็อล ได้เขียนในหนังสือ The Frame โดยอ้างถึง งานวิจัยของ สแตนลีย์ มิลแกรม แห่งมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งได้ทำการวิจัยโดยการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยไม่จำกัดอาชีพ และให้ค่าจ้าง 4.5 ดอลลาร์ และ เขียนด้วยว่าวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ เพื่อตรวจสอบว่าการทำโทษส่งผลดีต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือไม่
3
โดยอธิบายกับผู้เข้าร่วมการทดลองว่า ในการทดลองจะต้องใช้คนสองคน โดยให้จับฉลากเพื่อแบ่งบทบาทกันว่าใครจะได้รับบทบาทเป็นนักเรียน และ ใครจะได้รับบทบาทเป็นครูที่ ทำโทษตามผลการเรียนของนักเรียน
การทดลองครั้งนี้จะให้คนที่เป็นนักเรียนจับคู่คำศัพท์ที่กำหนดให้ หากนักเรียนตอบผิดคนที่เป็นครูจะต้องทำการช็อร์ตไฟฟ้าทำโทษหากเด็กทำผิด และ ให้เพิ่มปริมาณไฟฟ้าขึ้นเรื่อยๆ หากทำผิดครั้งต่อไป
ในการทดลองครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เตี๊ยมกับหน้าม้าให้รับบทบาทเป็นนักเรียน จึงทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยตัวจริงจับฉลากได้เป็นครูผู้ทำโทษทุกครั้ง
.
ในการทดลองหน้าม้าจะถูกเตี๊ยมให้ตอบถูกในช่วงแรก และ ตั้งใจเลือกคำตอบที่ผิดในช่วงหลังๆ โดยปริมาณการช็อร์ตไฟฟ้าเพื่อทำโทษจะเริ่มต้นที่ 15V และทุกครั้งที่ตอบผิดจะถูกเพิ่มขึ้นครั้งละ 15V และไปสูงสุดที่ 450V
คนที่ได้รับบทบาทเป็นนักเรียนจะตะโกนร้องขอให้หยุดการทดลองบ้างเป็นครั้งคราว บางครั้งก็ส่งเสียงร้องครวญครางจากความเจ็บปวด เพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น
การทดลองนี้ถูกทำขึ้นเพื่อทดสอบว่า หากคนที่ได้รับบทบาทเป็นครู ต้องทำตามคำสั่งของ ผู้วิจัย ซึ่งการทำตามคำสั่งนั้นจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาจะเชื่อฟังคำสั่งของผู้วิจัยด้วยการเพิ่มกระแสไฟฟ้าต่อไป หรือ หยุดทำเพราะเชื่อในความคิดและศีลธรรมของตัวเอง
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยให้จิตแพทย์คาดคะเนว่าจะมีคนสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะทำตามคำสั่งจนถึงที่สุด คือ การเพิ่มกระแสไฟฟ้าไปจนถึง 450V
คำตอบคือ พวกเขาคาดคะเนไว้เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ทว่าพอทำการทดลองจริงๆ จำนวนคนที่เพิ่มกระแสไฟฟ้าไปจนถึงระดับสุดท้ายมีถึง 67 เปอร์เซ็นต์
การทดองครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า คนทั่วไปเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจก็จะมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นได้ แต่ถ้าเขาไม่มีใครสั่งมา และทำด้วยตัวเอง คนเราก็จะรู้สึกแย่ หากต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อน
แต่หากเป็นการทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจพวกเขาจะไม่ได้รู้สึกยินดี ไม่ได้รู้สึกผิด และไม่ได้รู้สึกแย่ใดๆ หากสิ่งที่ทำนั้นมาจากคำสั่งของคนอื่น พวกเขาทำแค่ถามแก่ผู้คุมว่า “ไม่เป็นไรจริงๆ เหรอ” หรือ “เจ็บขนาดนั้นจะทดสอบต่อไปได้เหรอ” เป็นต้น
ซึ่งในตอนนั้นผู้คุมการทดลองจะตอบกลับด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ อย่างมีอำนาจว่า “ทำต่อไป” “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำต่อไป” หรือ “กระแสไฟฟ้าระดับนั้นไม่ทำให้เกิดผลร้ายมากเท่าไหร่หรอก”
1
ผู้คุมไม่ได้ใช้ปืนข่มขู่คนที่ได้รับบทบาทเป็นครู แต่พลังกดดันจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ทำให้ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดเพิ่มกระแสไฟฟ้าไปจนถึง 450V ซึ่งเป็นการทดลองที่ทำเอาผู้วิจัยถึงกับตกใจมาก
2
ในค่ายนาซีมีทหารจำนวนมากที่มีส่วนรวมกับผู้ทำร้ายชาวยิว หรือ แม้แต่นักบินที่ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เกาะฮิโรชิม่า ก็ไม่ได้รู้สึกยินดี หรือ รู้สึกแย่ใดๆ เพราะพวกเขามองงานที่ตัวเองทำด้วยกรอบความคิดว่ามันคือ “หน้าที่ประจำวัน ที่ผู้มีอำนาจสั่งมา”
ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ในบ้านเรา ที่เราเห็นตำรวจที่ไม่ยอมเปิดทางให้รถพยาบาลวิ่งผ่าน หรือ ปล่อยให้ทีมแพทย์ของฝ่ายเห็นต่างนอนบาดเจ็บอยู่บนพื้น โดยไม่ได้รู้สึกแย่ใดๆ เพราะเขาใช้กรอบความคิดที่ว่า “นายสั่งมา” ซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายมาก
ผมขอให้บทความนี้เป็นข้อย้ำเตือน ให้พวกเราทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ตระหนักถึง “ศีลธรรม” มากกว่า กรอบความคิดที่ว่า “นายสั่งมา” ให้มากๆ
#หยุดความรุนแรง #หยุดทำร้ายประชาชน
โฆษณา