28 ก.พ. 2021 เวลา 18:31 • ปรัชญา
“อานิสงส์ของศีล”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๑ มีนาคม ๒๕๖๔
อานิสงส์ของศีลก็มีหลายอย่างด้วยกัน คือหนึ่ง ถ้าเราไม่ไปทำร้ายผู้อื่นก็จะไม่มีใครมาทำร้ายเรา ถ้าเราไม่ไปลักทรัพย์ของผู้อื่นก็จะไม่มีใครมาลักทรัพย์ของเราไป นี่คือกฎแห่งกรรม ทำกรรมอันใดไว้จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น แล้วถ้าเราตายไป ถ้าเรารักษาศีล ๕ ได้เราก็จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ เราก็ยังไม่ต้องไปเป็นเดรัจฉาน แต่ถ้าเราไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้ เวลาตายไปเราก็จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เพราะใจของเรานี้ได้กลายเป็นเดรัจฉานไปแล้วด้วยการกระทำบาปของเรานั่นเอง นี่ก็คือเรื่องของการรักษาศีล เราเริ่มต้นที่ศีล ๕ ก่อน เพราะว่ายังมีศีลที่สูงกว่าศีล ๕ ที่เราต้องพัฒนาขึ้นไป ถ้าเราอยากจะสร้างความสุขใจให้มีมากขึ้น ยิ่งรักษาศีลได้มากขึ้นเท่าไหร่ก็จะมีความสุขใจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะจะลดการกระทำที่ทำให้ใจเราไม่สุขนั่นเอง ทำให้ใจเราวุ่นวาย เช่นจากการรักษาศีล ๕ เราก็เพิ่มเป็นการรักษาศีล ๘ การรักษาศีล ๘ ก็จะทำให้เรางดการกระทำเพิ่มขึ้นอีกสามข้อหรือสี่ข้อ ข้อที่ ๓ จากการไม่ประพฤติผิดประเวณี ก็จะมาถือการไม่มีการร่วมเพศกัน เว้นจากการร่วมเพศกัน เรียกว่าอพรหมจริยาเวรมณี การไม่ร่วมหลับนอนกับผู้อื่น การไม่ร่วมหลับนอนดีกว่าการร่วมหลับนอนอย่างไร ก็เพราะว่าเวลาถ้าเราร่วมหลับนอนเราก็จะติด เราก็อยากจะมีคนมาร่วมหลับนอนกับเรา และถ้าต่อไปเกิดไม่มีใครมาร่วมหลับนอนกับเรา เราก็จะเหงาเราก็จะว้าเหว่ เราก็จะไม่มีความสุข แต่ถ้าเราหัดหลับนอนคนเดียวได้ไม่ต้องร่วมหลับนอนกับผู้อื่น เราก็จะไม่ต้องมาเดือดร้อนไม่ต้องมามีความรู้สึกว้าเหว่เวลาที่เราไม่มีคู่นอนไม่มีเพื่อนนอนด้วย การละเว้นแบบนี้กลับดีกว่าการไปทำ เพราะการกระทำนี้มันจะต้องมีวันหนึ่งวันใดที่เราจะไม่มีคู่ครองไม่มีผู้ที่จะมาร่วมหลับนอนกับเรา พอไม่มีผู้ที่มาร่วมหลับนอนกับเรา ถ้าเราเคยร่วมหลับนอนเราก็จะรู้สึกเหงารู้สึกว้าเหว่ไม่มีความสุข แต่ถ้าเราหัดนอนคนเดียวไม่ต้องมีคู่นอน เราก็จะไม่เดือดร้อนเวลาที่เราไม่มีคู่มานอนกับเรา
นี่ก็คือยกตัวอย่างว่าทำไมเราถึงไม่ควรกระทำกิจกรรมที่ศีล ๘ ห้าม เพราะจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นมีความทุกข์น้อยลงนั่นเอง ไม่ร่วมหลับนอนกับผู้อื่น ไม่รับประทานอาหารเย็น ไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ถ้าเราเคยรับประทานอาหารอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน เวลาใดที่เราเกิดรับประทานไม่ได้หรือไม่มีอาหารให้เรารับประทาน เราก็จะรู้สึกเดือดร้อนรู้สึกไม่สบายใจไม่มีความสุข แต่ถ้าเรามาหัดรับประทานอาหารเพียงเที่ยงวัน ไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ต่อไปเวลาที่เราไม่มีอาหารรับประทานเราก็จะไม่เดือดร้อน เพราะเรารู้จักวิธียับยั้งห้ามใจของเราไม่ให้ไปอยากรับประทานอาหาร อันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการถือศีลข้อที่ ๖ คือรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ข้อที่ ๗ ก็คือการละเว้นจากการไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่างๆ ไปดูมหรสพ ละเว้นจากการเสริมสวยความงามทางร่างกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม ด้วยเครื่องสำอางค์ด้วยการทำเผ้าทำผม ด้วยการใช้น้ำมันน้ำหอมอะไรต่างๆ อันนี้มันเป็นความสุขชั่วคราว แล้วถ้าเกิดวันไหนเราไม่สามารถทำได้เราก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าเรามาหัดยุติการหาความสุขแบบนี้ เราทำไป ต่อไปเราไม่ต้องไปเที่ยวเราก็มีความสุขได้ อยู่บ้านเฉยๆ อยู่วัดเราก็อยู่ได้ แต่ถ้าเรายังหาความสุขจากการไปเที่ยวไปดูมหรสพบันเทิงต่างๆ ต้องเสริมความงามด้วยการแต่งเนื้อแต่งตัว ถ้าต่อไปเราไม่สามารถทำได้เราก็จะทุกข์มาก แต่ถ้าเรามาหัดทำใจงดทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ ต่อไปเราก็จะไม่เดือดร้อนเวลาที่เราแก่เวลาที่เราเจ็บเราก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนกับการที่เราไม่สามารถที่จะไปเที่ยวไปดูไปฟังอะไรได้ ไม่สามารถแต่งเนื้อแต่งตัวเสริมสวยความงามให้กับร่างกายได้ เราก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร นี่ก็คือประโยชน์ที่จะเกิดจากการที่เรารักษาศีลเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากศีล ๘ แล้ว ก็มีศีล ๑๐ ศีล ๑๐ แล้ว ก็มีศีล ๒๒๗ ศีลของพระภิกษุ เป็นข้อห้ามต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะเกิดโทษแก่จิตใจทำให้ใจวุ่นวายไปเปล่าๆ ถ้าเลิกทำการกระทำต่างๆ เหล่านี้ได้ใจก็จะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา