3 ม.ค. 2019 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ย้อนอดีต มหาวาตภัยถล่ม "แหลมตะลุมพุก"
📌 ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2505 พายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะ จ. นครศรีธรรมราช และด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 900 ราย สูญหายมากกว่าร้อย และอีกนับหมื่นไร้ที่อยู่อาศัย เพราะทั้งคลื่นและลมทำลายบ้านเรือนพินาศหมดสิ้น ทำให้แฮเรียตได้รับการบันทึกว่าเป็นพายุมฤตยู พ.ศ.2505 ร้ายแรงกว่าพายุไต้ฝุ่นแวนด้าที่เกิดในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
📌 แฮเรียต หรือ 78W ในลำดับการตั้งชื่อนานาชาติ หรือ 6225 ตามลำดับการตั้งชื่อของ JMA (อุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่น) ที่ทำลายล้างแหลมตะลุมพุก ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำ โดย JMA ตรวจพบการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำ 1003 mbar ใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2505 หย่อมความกดอากาศอ่อนตัวลงที่ความกด 1006 mbar และกลับก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ ได้รับหมายเลขขณะนั้นว่า 78W ในวันที่ 22 ตุลาคม ต่อมาพายุดีเปรสชัน 78W เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่ง จ. สงขลา ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม ได้รับการตั้งชื่อว่า แฮเรียต
จากนั้นเปลี่ยนทิศทางตรงไปยัง จ. นครศรีธรรมราช เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์มเสิร์จ ในช่วงกลางดึก หลังจากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน เคลื่อนผ่าน จ. กระบี่ ภูเก็ต และพังงาลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ตุลาคม โดยอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศในวันที่ 30 ตุลาคม
แฮเรียตกวาดทุกสิ่งทุกอย่างบนแหลมตะลุมพุก อ. ปากพนัง ที่มีผู้คนอยู่อาศัยราว 4,000 คน จนหมดสิ้น โดยในขณะขึ้นฝั่งพายุมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 กิโลเมตร ก่อให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ลมกระโชกแรง และน้ำท่วมอย่างฉับพลัน เหลือบ้านที่รอดจากการทำลายเพียง 5 หลัง ด้วยคลื่นสูงกว่า 3 เมตร พายุยังมีขอบเขตการทำลายไปถึงบริเวณใกล้เคียง บ้านเรือนอีกกว่าร้อยละ 30 ถูกทำลายลงโดยรอบ
📌 การฟื้นฟู
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศเชิญชวนผู้มีใจกุศลบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนทางสถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต มีประชาชนทั่วประเทศบริจาคเงินทองและสิ่งของโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเงินสดได้รับบริจาคถึงกว่า 10 ล้านบาท นอกไปจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำสิ่งของและเงินทองไปบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซ่อมแซมโรงเรียน วัด สุเหร่า จัดอาหาร ที่พัก
ในขณะที่กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดสร้างบ้านนครศรีธรรมราชเป็นที่เลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กกำพร้า จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งหลังจากที่ได้ใช้จ่ายไปในการเหล่านี้ทั้งสิ้นแล้วก็ยังคงเหลือเงินอีกถึง 3 ล้านบาท
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้จัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขึ้น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 ทั้งยังได้ทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์มีวัตถุประสงค์มุ่งช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบสาธารณภัยทั่วไป ในประเทศโดยฉับพลัน ซึ่งยังผลให้กองทุนนี้ที่มีเพียงแค่ 3 ล้านบาทในปีแรกเพิ่มขึ้นมาถึง 12 ล้านบาท ภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกเหนือไปจากการที่มีบรรดาอาสาสมัครซึ่งผ่านการอบรมโดยทุนทรัพย์ของตนเองและพร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในยามที่มูลนิธิต้องการมากถึง 600 คน
เรียบเรียงโดย
สาระอัปเดต
📖 ข้อความอ้างอิง
1. รวบรวมข้อมูลจาก ข่าวสด วิกิพีเดีย ภัยพิบัติดอทคอม
2. วัตถุประสงค์เพื่อการนำเสนอเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในห้วงเวลาที่พายุปาบึกกำลังเคลื่อนตัวเข้าภาคใต้ของไทย
3. ได้รวบรวมรูปภาพเพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจ โดยรวบรวมจากอินเตอร์เน็ต โดยไม่ทราบที่มาของภาพ ผู้เรียบเรียงต้องขออภัยเจ้าของภาพมา ณ. ที่นี่ด้วย
โฆษณา