18 ก.พ. 2019 เวลา 01:09 • ธุรกิจ
South Korea ตอนที่ 1 : Foundation
ประเทศเกาหลีใต้ในขณะนี้นั้นได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของโลก เป็นประเทศที่ผลิต chip ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่เป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค ทั่วโลกได้มากกว่าใครในโลก มันนับเป็นก้าวย่างที่รวดเร็วมากที่สามารถทำให้ประเทศเกาหลีใต้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้
2
South Korea ตอนที่ 1 : Foundation
หลาย ๆ คนทั่วโลกยังเข้าใจผิดในหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับประเทศเศรษฐกิจใหม่แห่งนี้ การร่วมมือ และร่วมใจของคนทั้งชาติ การทำงานอย่างหนัก ความคิดสร้างสรรค์ที่สุดโต่ง ล้วนเป็นสิ่งที่นำพาให้ประเทศเกาหลีใต้มาถึงจุดนี้ได้
ซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งคมนาคม หรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ที่มีหัวใจคือ ระบบ internet Hi-Speed มันช่วยยกระดับประเทศเกาหลีให้เปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างเหลือเชื่อ
1
ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น เกาหลีใต้ ยังเป็นผู้นำทางด้านศิลปะ มีการสร้างงานศิลปะ ระดับ World-Class รวมถึงเรื่องดนตรี ที่ K-Pop นั้นได้กระจายกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ไปทั่วโลก ทุกคนหลงรัก K-Pop แม้กระทั่งชาติมหาอำนาจอย่าง อเมริกาเองก็ตามยังต้องยอมสยบให้กับวัฒนธรรมที่กำลังบุกรุกอย่างบ้าคลั่งของ K-Pop มันไม่ใช่แค่บุกเพียงทวีปเอเชียแล้วแต่ตอนนี้มันกำลังบุกไปทั่วโลก
กระแส K-Pop ที่ได้บุกไปทั่วโลกแล้ว
ซึ่งเมื่อย้อนไปเมื่อร้อยปีที่แล้ว นั้น ประเทศแห่งนี้ ถูกบุกรุก จนแทบจะสูญสิ้นประเทศ จากสงครามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อนบ้านกันเองอย่างญี่ปุ่น หรือ การถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศในการแบ่งแยก เกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ แต่พวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วอายุคนเท่านั้น ในการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศ จากประเทศที่แสนยากจนข้นแค้น GDP ต่อหัว เพียงแค่ 100 เหรียญสหรัฐเท่านั้น จนกลายมาเป็นมหาอำนาจที่มี GDP ต่อหัว สูงถึงกว่า 30,000 เหรียญในปัจจุบัน
จากการที่ต้องถูกแบ่งประเทศเป็น เกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ ผลพวงจากยุคสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง สหภาพโซเวียต และ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงปี 1950 แม้สงครามของทั้งสองจะจบลงแล้วตั้งแต่ ปี 1953 ก็ตาม แต่มันก็ยังไม่สามารถรวมทั้งสองประเทศให้กลายเป็นหนึ่งได้เหมือนในอดีต
และนี่ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญอย่างนึงที่ถ้าเทียบกับเหล่าประเทศผู้นำ G20 ทั่วโลก มันก็คือ ความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ระหว่าง เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ มันเป็นแรงผลักสำคัญให้ชาวเกาหลีใต้รีบสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นมาโดยเร็วที่สุด ความไม่มั่นคงกับปัญหานิวเคลียร์ ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ต้องเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างนึงเลยก็ว่าได้ มันเปรียบเหมือนชาวเกาหลีใต้กำลังอยู่ภายใต้ความมืดมนที่ปกคลุมอยู่ มันเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้มานานหลายทศวรรษแล้ว สำหรับความแตกแยกระหว่างประเทศทั้งสอง
การเร่ง สปีดการพัฒนาของเกาหลีใต้ นั้น แม้ตอนเริ่มต้นดูเหมือนเกาหลีเหนือจะได้เปรียบอยู่บ้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในยุครวมประเทศนั้นอยู่ในแถบดินแดนเกาหลีเหนือ แต่ตอนนี้ เกาหลีใต้ได้แซงหน้าไปไกลแล้ว GDP ต่อหัวของ เกาหลีใต้นั้นมากกว่า เกาหลีเหนือกว่า 130 เท่า
แม้ช่วงทศวรรษ 1950 นั้น เกาหลีใต้จะอยู่ในสภาพที่ยากจนที่สุด  ผลจากสงครามเกาหลี ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้าน GDP ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินต่ำกว่าหัวละ 100 เหรียญสหรัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐ การเมืองก็เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น มองไม่เห็นอนาคตของเกาหลีในปัจจุบันได้เลยด้วยซ้ำ
จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของประเทศเกาหลีใต้ นั้น มาจากการที่ นายพลปาร์ค ซุงฮี ซึ่งได้ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ย่ำแย่ดังกล่าว ตัดสินใจยึดอำนาจในวันที่ 16 พฤษภาคม 1961 และได้คิดริเริ่มวางแผนการในการที่จะทำให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศร่ำรวยให้จงได้
แนวทางการบริหารแบบเผด็จการ มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่ได้รับเครดิตสำคัญในการชุบชีวิตเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้ ในช่วงยุค 1950 อันเลวร้ายนั้น เหล่านักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลก่อนหน้า ต่างร่ำรวยขึ้นจากการกว้านซื้อทรัพย์สินที่เจ้าอาณานิคมญีปุ่นในยุคก่อนหน้าทิ้งไว้
นายพล ปาร์ค ผู้มาพลิกโฉมประเทศเกาหลีใต้
และหนึ่งในบริษัทที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ บริษัทซัมซุงนั่นเอง โดย ลี บยองซอล ผู้ก่อตั้ง ซัมซุง เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเกาหลีใต้ช่วงทศวรรษ 1950 นายพลปาร์คนั้น ลีบยองซอล ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรงว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่มิชอบ ซึ่งท่านนายพลปาร์คมองว่าเป็นทรัพย์สินของชาติ
แต่ ด้วยไหวพริบและความสามารถในการเจรจาของเขา จึงได้ยื่นข้อเสนอต่อนายพล ปาร์ค โดยจะบริจาค ทรัพย์สินส่วนใหญ่คืนให้กับประเทศ และจะชวนเหล่าผู้ประกอบการให้คล้อยตามแผนเศรษฐกิจที่ท่านนายพลปาร์คได้ร่างไว้
และนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นาย ลี บยองซอล ผู้ก่อตั้งซัมซุง ได้รับการแต่งตั้งจากนายพลปาร์คเป็นหัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกาหลี (Federation of Korean Industries) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่จนมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
โดยนายพล ปาร์ค นั้นมุ่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1962-1967 และเริ่มมีจำนวนบริษัทเอกชนที่ตบเท้าเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ คิม วูซุง ผู้ก่อตั้งบริษัท Daewoo ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น Daewoo เป็นบริษัทผลิตสิ่งทอ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนไปผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และเรือเดินสมุทร เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
คิม วูซุง ผู้ก่อตั้ง Daewoo (ภาพจาก Getty Image)
และเนื่องด้วยรัฐบาลนั้นมีเงินมากมายจากการอัดฉีดของต่างชาติที่นำโดยอเมริกา จึงได้เป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูกผ่านธนาคารแห่งชาติเกาหลี เพื่ออัดฉีดให้เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้ไปก่อร่างสร้างตัว
นายพลปาร์ค ที่ต่อมาได้กลายเป็นประธานาธิบดีปาร์ค นั้นได้เริ่มนโยบายที่จะส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เรียนรู้ที่จะแข่งขันในระดับสากลได้ แต่ยังคงกำแพงภาษีไว้สูงเพื่อกีดกันการแข่งขันจากต่างชาติ เมื่อต้องแข่งขันในประเทศ ในขณะเดียวกันการส่งเสริมการส่งออกนั้นก็ช่วยให้บริษัทอย่างซัมซุงหรือแอลจี สามารถดำเนินการได้อยา่งมีประสิทธิภาพมีมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น
1
ซึ่งเครือข่ายธุรกิจเหล่านี้ ภายใต้การอัดฉีดเงินจากรัฐบาลด้วยดอกเบี้ยต่ำทำให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ถูกเรียกในภายหลังว่า แชโบล โดยใช้แนวคิดคล้าย ๆ กับระบบของประเทศญี่ปุ่น แต่แชโบล นั้นจะเน้นรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมากกว่า และรัฐบาลจะรับหน้าที่จัดการเรื่องการเงินให้ โดยมีพี่ใหญ่อย่าง ประธานาธิบปาร์ค นั้นเป็นคนคอยคุมกระเป๋าเงินให้
กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ มีอิทธิพลต่อประเทศ ถูกเรียกว่า แชโบล
ส่วนเรื่องการบริหารงานแบบ แชโบลนั้น ก็เป็นแนวคิดแบบภายในครอบครัวเป็นหลัก กล่าวคือ ลูกชายของประธานบริษัทจะค่อย ๆ ไต้เต้าขึ้นมาจากตำแหน่งล่าง ๆ จนได้รับโอกาสดูแลธุรกิจในเครือในที่สุด โดยทายาทที่มีผลงานดีที่สุดนั้น จะได้รับการสืบทอดตำแหน่งประธานของกลุ่มบริษัททั้งหมดต่อจากพ่อ ซึ่งแชโบลนั้นใช้รูปแบบนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน โดย แชโบลใหญ่ ๆ จะบริหารโดยสืบสายเลือดหรืออาจจะเป็นลูกเขยของเหล่าผู้ก่อตั้งแทบจะทั้งสิ้น
ซึ่งมันทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีถูกครอบครองโดยยักษ์ใหญ่เหล่านี้แทบจะทั้งสิ้น ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันแบบเสรี มันไม่มีเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เหล่าแชโบลยักษ์ใหญ่มักจะแข่งขันอย่างหนักในตลาดต่างประเทศมากกว่า
แต่มันไม่ใช่ชาวเกาหลี ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก สินค้าแทบจะทุกอย่างในประเทศผลิตจากแชโบลยักษ์ใหญ่เหล่านี้แทบจะทั้งสิ้น ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นสินค้า copy จากต่างชาติ หรือ สินค้าที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์มาจากต่างชาติ
และมันทำให้อิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้นั้นครอบคลุมไปทั้งประเทศ ไม่มีวัฒนธรรมการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เมื่อเรียนจบเหล่านักศึกษาก็จะมุ่งเข้าหาบริษัทยักษ์ใหญ่ของแชโบลแทบจะทั้งสิ้น
มันมีเพียงธุรกิจสมัยใหม่เท่านั้น ที่พอจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ เช่นธุรกิจทางด้าน internet ตัวอย่างเช่น NHN เจ้าของ Naver.com หรือ NCSoft บริษัทผลิตเกมส์ชื่อดัง ซึ่ง internet นั้นได้สร้างความเท่าเทียมทางการแข่งขันให้กับเหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ได้พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่พวกเขาก็ยังคงหลีกเลี่ยงธุรกิจที่จะต้องแข่งขันกับเหล่า แชโบล ยักษ์ใหญ่โดยตรงอยู่ดี
มีเพียงธุรกิจ internet เท่านั้นที่พอจะลืมตาอ้าปากในประเทศเกาหลีใต้ได้
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศเกาหลีใต้การผสานความร่วมมือระหว่าง รัฐบาล กับเหล่าธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง แชโบลนั้น แม้ถ้ามองในปัจจุบันระบบแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับรูปแบบเศรษฐกิจในยุคใหม่ แต่ผลลัพธ์ของเกาหลีใต้นั้นมันทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
มันช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ ตัวเลขการส่งออกถีบตัวขึ้นสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญ ในปี 1977 เป็นการเติบโตสูงถึง 100 เท่าหากเริ่มนับจากจุดเปลี่ยนครั้งครั้งสำคัญในปี 1964 ซึ่งแนวคิดหลักในการบริหารดังกล่าวนั้น มักจะเปิดให้มีการเล่นพรรคพวก และ เปิดช่องให้โกงได้แบบไม่น่าเกลียด แต่มันเป็นวิธีแก้ปัญหาระดับชาติที่ได้ผล มันยกระดับชาติจากประเทศยากจน ที่แทบจะแตกสลายให้มาลุกขึ้นยืนได้สำเร็จ และมันถึงเวลาแล้วที่เกาหลีใต้จะวิ่งแซงประเทศอื่น ๆ ได้เสียที แล้ว วิธีการใด ที่ทำให้ เกาหลีใต้สามารถเร่งสปีดแซงหน้าประเทศต่าง ๆ กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจได้อย่างในปัจจุบัน โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปนะครับผม
อ่านตอนที่ 2 : Fighting DNA
เครดิตแหล่งข้อมูลบทความ
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา