2 เม.ย. 2019 เวลา 00:16 • การศึกษา
กินจนปากมันแผล็บ แต่น้ำหนักลดฮวบๆ อย่างนี้ก็มีหรือ? คีโตเจนิก การกินไขมันเพื่อเผาผลาญไขมัน
1
บทความนี้นำเสนอการทำความเข้าใจการกินแบบคีโตเจนิกขั้นพื้นฐานเท่านั้น ดังนั้นจึงควรศึกษาเพิ่มเติมหรืออ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
การกินอาหารแบบคีโตเจนิกทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่นเดียวกับระดับอินซูลินในร่างกาย ดังนั้นควรศึกษาอย่างละเอียดเพิ่มเติมถึงผลดีและเสีย ระยะเวลาในการกิน และปรึกษาแพทย์และตรวจสุขภาพก่อนเริ่มต้นการกินแบบคีโตเจนิก
1
การกินอาหารแบบคีโตเจนิก ไดเอต คือการกินที่เน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมากๆ เพื่อปรับให้ร่างกายสร้างสารที่ทำให้เปลี่ยนระบบร่างกายเป็นเครื่องจักรที่เผาผลาญไขมันได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นไปตามธรรมชาติ ผลคือน้ำหนักที่ลดลงฮวบฮาบจากไขมันที่หายไป
วิธีการลดน้ำหนักแบบนี้โดดเด่นตรงที่ไม่ต้องอดของอร่อยอย่างเนื้อสัตว์, หมูสามชั้น, อะโวคาโด, หนังปลาทอด ฯลฯ และร่างกายยังต้องการไขมันมากขึ้นเพื่อเผาผลาญไขมันในร่างกายอีกด้วย
แม้หลายสำนักจะบอกว่าเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงของการไดเอตประจำปี 2018 แต่แท้จริงแล้ว ทางการแพทย์นำวิธีการกินแบบนี้มาใช้รักษาโรคนับแต่โบราณ
ไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับทัศนคติการกินที่เราคุ้นเคยว่า ‘ต้องกินข้าวจึงจะหนักท้อง’ เพราะจริงๆ แล้วสลัดจานโตกับเนื้อสัตว์ และไข่ 2 ฟองยามเช้า อาจช่วยให้รู้สึกอิ่มไม่แพ้กินข้าวสักนิด
1
กระแสการไดเอตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกปีไม่ต่างกับเทรนด์แฟชั่นบนรันเวย์ ไม่ว่าจะน้ำผลไม้สูตรพิเศษ (Juice Diet), ปาลิโอ ไดเอต (Paleo Diet) หรือแอตกินส์ ไดเอต (Atkins Diet) ฯลฯ แต่มีการไดเอตแบบหนึ่งที่น่าสนใจและผู้เขียนมองว่ากำลังถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงกว้าง จนว่ากันว่าจะเป็นเทรนด์การกินแบบใหม่ของปี 2018 นั่นคือ คีโตเจนิก ไดเอต (Ketogenic Diet) หรือที่เรียกกันว่า คีโต ไดเอต (Keto Diet) ก็เพราะนี่คือการกินที่ยิ่งกินไขมันเท่าไร น้ำหนักก็ยิ่งลด!
1
ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก เมื่อปี 2017 นักแสดงสาวคนดังอย่างฮัลลี เบอร์รี ทำให้คนฮือฮาเมื่อเธอประกาศในรายการ Live! with Kelly and Ryan ว่าเธอรักษาหุ่นให้ฟิตและแลดูดีขนาดนี้ในวัย 51 ด้วยการกินแบบคีโตเจนิก ที่ช่วยปรับระบบในร่างกายของเธอให้กลายเป็นเครื่องเบิร์นไขมันชั้นยอด และเมื่อเร็วๆ นี้ หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นอีกคนที่บอกว่าเขาลดน้ำหนักด้วยวิธีเดียวกันนี้ในรายการ นารีกระจ่าง ช่องไทยพีบีเอส ตลอดจนกลายเป็นเทรนด์ที่ถูกพูกถึงในหมู่คนทำงานในเทคฮับของโลกอย่างซิลิคอนแวลลีย์
แต่การกินแบบนี้คืออะไร ไขมันจะไปช่วยเบิร์นไขมันกันเองได้อย่างไร ช่วยให้น้ำหนักลงอย่างรวดเร็วเพราะอะไร? ผู้เขียนในฐานะผู้กินอาหารแบบคีโตเข้าๆ ออกๆ มา 3 ปีที่ได้เห็นคนรอบตัวเริ่มหันมาทดลองและสนใจกันมากขึ้นเลยสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ขั้นต้นสำหรับผู้อยากลองไดเอตแบบกินหมูสามชั้นจนปากมันย่องก็ไม่รู้สึกผิดไว้ให้ดังนี้
1
อะไรคือคีโตเจนิก ไดเอต
การกินอาหารแบบ คีโตเจนิก ไดเอต คือการกินที่เน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมากๆ โดยมีความคล้ายกับแอตกินส์ ไดเอต หรือโลว์-คาร์บ ไดเอต (Low-carb Diet) ตรงที่ลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลให้น้อย แต่ให้แทนที่ด้วยไขมันทั้งจากพืชและสัตว์แทน
หลักการทำงานของการกินแบบคีโตเจนิกเบื้องต้น
กินไขมัน แต่จะช่วยลดน้ำหนักอย่างไรล่ะ
กินจนปากมันแผล็บแล้วจะไปเบิร์นไขมันได้อย่างไรกัน นี่มั่วหรือเปล่า!? คำตอบคือเมื่อเราลดปริมาณการกินคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลลงอย่างมาก ร่างกายอันน่าอัศจรรย์ของเราเรียกง่ายๆ ว่าจะเกิดอาการ ‘กลัวตาย’ ซึ่งจากเดิมที่เคยนำกลูโคสในเลือดที่มาจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเอย น้ำตาลเอย มาใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจำต้องหาแหล่งพลังงานมาแทนที่ นั่นคือมาจากไขมันนั่นเอง กระบวนการนี้ก่อให้เกิดสภาวะการเผาผลาญที่เรียกว่า คีโตสิส (Ketosis) ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ในตับ ซึ่งนำมาใช้เป็นพลังงาน หลังจากเริ่มการกินแบบคีโตเจนิกไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ร่างกายและสมองอาจรู้สึกล้า เหนื่อยง่าย มีกลิ่นปาก แต่จะค่อยๆ ปรับจนสามารถนำไขมันและคีโตนมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่คาร์โบไฮเดรตนั่นเอง หรือว่าง่ายๆ คือภาวะนี้เปลี่ยนให้ร่างกายกลายเป็นเครื่องจักรเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานในตัวเองนั่นเอง!
1
เบคอนต้องมา…นี่คือมื้ออาหารแบบคีโตเจนิก
ต้องกินอย่างไร
1
หากคุณอยากเริ่มต้นการกินแบบคีโตเจนิก สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ต่ำมากๆ นั่นหมายความว่าเราสามารถเน้นรับประทานอาหารเหล่านี้แทนที่ข้าวแกงร้านป้า หรือข้าวกะเพราไก่สุดอร่อย
2
ไขมันและน้ำมัน
ข่าวดีของคนชอบกินมัน เพราะการกินคีโตอนุโลมให้กินจนปากมันแผล็บเป็นหลัก แต่ต้องเป็นไขมันที่มาจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสัตว์ โดยพยายามกินไขมันต่างชนิดควบคู่กันไป เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ จากพืช อาหารจำพวกถั่วโดยพยายามเน้นไขมันดี เป็นต้น และรับประทานอาหารทอดได้หากไม่ได้ชุบแป้งทอด และคุณรู้ว่าสิ่งนั้นทอดด้วยน้ำมันที่ดีต่อร่างกาย ดังนั้นการกินนี้ไฟเขียวให้กับเนื้อติดมัน อะโวคาโด เนย ชีส น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก (สวัสดีหมูสามชั้น…ฮัลโหลกากหมู!)
1
โปรตีน
เน้นเนื้อสัตว์ออร์แกนิก ซึ่งโดยมากเนื้อสัตว์มักไม่มีการใส่สารให้ความหวานเพิ่ม (งดความหวานหมู หมูหวานไปก่อนนะ) ดังนั้นเราสามารถเลือกกินเนื้อสัตว์และไข่ได้ แต่ในปริมาณที่เหมาะสม ทีนี้คุณสามารถเดินเข้าร้านสเต๊กได้อย่างสบายใจ แต่อย่าได้แตะเฟรนช์ฟรายส์เสียก่อนล่ะ…
พืชผัก
เน้นการกินผักที่โตบนดิน โดยเฉพาะจำพวกผักใบเขียว ดังนั้นเลี่ยงจำพวกเผือกมันไว้ก่อน แม้เราจะรู้ว่าคุณโหยเผือกทอดมากเพียงใดก็ตาม…
1
อาหารจากนม
สามารถรับประทานอาหารที่ทำจากนม (แต่ควรเลี่ยงนม) โดยเน้นจำพวกที่ไม่พร่องมันเนย ดังนั้นเราสามารถสั่งกาแฟใส่ครีมแท้ (ครีมจริงๆ ที่ไม่ใช่คอฟฟีเมตนะ) หรือหม่ำชีสอย่างพาร์เมซานกับสลัดจานโตจนอิ่มหนำได้อย่างไม่รู้สึกผิด แต่ที่ว่ามานี้ไม่รวมชีสเค้ก ชานมไข่มุก ชาเย็น หรืออะแฮ่ม… ชากุหลาบยอดฮิตหรอกนะ
1
ถั่วและธัญพืช
สามารถรับประทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ และยิ่งอร่อยเด็ดเมื่อใส่เข้าไปในครีมหรือสลัดราดน้ำมันมะกอกและเบคอน แนะให้เน้นถั่วจำพวกที่ความหวานมันอย่างแมคคาเดเมีย หรืออัลมอนด์ ทั้งมัน ทั้งอร่อย #มันดีจริงๆ
เครื่องดื่ม
โบกมือลาแอลกอฮอล์แก้วโปรดไปเสียก่อนหากคุณต้องการลดน้ำหนัก แล้วหันมาดื่มน้ำเปล่าเป็นดีที่สุด สามารถเป็นน้ำมะนาว (ที่ไม่ใส่น้ำตาล) หรือน้ำโซดาเปล่าๆ ที่ไม่มีความหวานใดๆ ส่วนใครที่โหยหาความหวาน สามารถใช้หญ้าหวาน หรือความหวานจากสตีเวีย (Stevia) แทนได้
ของโปรดจ๋า ฉันลาก่อน
เลี่ยงอะไร
เลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเป็นหลัก เรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องหมูเลยที่จะตัดใจไม่สั่งผัดกะเพรามื้อเที่ยง หรือก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่เจ้าเด็ด กระทั่งกาแฟปั่นใส่นมข้นเจ้าประจำ แต่หากเลี่ยงอาหารคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงได้ แค่นี้คุณก็ขยับเข้าใกล้การเปลี่ยนให้ร่างกายกลายเป็นเครื่องจักรเผาผลาญไขมันขึ้นแล้ว
อาหารจากเมล็ดพืช
หมายถึงอาหารจำพวกข้าวและแป้งต่างๆ ไม่ว่าจะข้าวบาร์เลย์, ข้าวสาลี, ข้าวไรย์, ข้าวโพด, ข้าวโอ๊ต ฯลฯ รวมไปถึงข้าวเจ้าที่เรากินกันอยู่ทุกวันเช่นกัน ​(รวมข้าวต้มและโจ๊กด้วยนะ) และผลิตภัณฑ์จากข้าวต่างๆ ทั้งพาสต้า, พิซซ่า, คุกกี้, ขนมปัง, เค้ก ฯลฯ เลี่ยงได้เป็นดีเพราะอย่าลืมว่าเรากำลังลดคาร์โบไฮเดรตอยู่
อาหารแปรรูป
1
เลี่ยงอาหารแปรรูปจำพวกไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น เนื่องจากมักมีสารสังเคราะห์ เช่น สารคาร์ราจีแนน, ผงชูรส, ซัลไฟต์ ฯลฯ ไปจนถึงแป้งที่มักเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการผลิต (เราเลี่ยงแป้งอยู่เช่นกัน จำได้ไหม)
สารให้ความหวานสังเคราะห์
เลี่ยงสารให้ความหวานสังเคราะห์ เช่น Splenda, Equal, Aspartame, Acesulfame, Sucralose, Saccharin ฯลฯ แนะให้แทนที่ด้วยสารให้ความหวานจากธรรมชาติอย่างหญ้าหวาน
ไขมันทรานส์
หลีกเลี่ยงไขมันหรือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเคมีสังเคราะห์อย่างน้ำมันพืชบางชนิด หรือมาการีน ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ และหันมาเน้นไขมันธรรมชาติ (หรือว่าง่ายๆ คือคุณรู้ว่าไขมันที่มาจากไหนนั่นเอง) เช่น ไขมันสัตว์ หรือพืชอย่างอะโวคาโด
ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ หรือเป็นศูนย์
1
เป็นเพราะอาหารจำพวกน้ำอัดลมไดเอต หรือโลว์-แฟต อาจมีสารให้ความหวานหรือสารสังเคราะห์แฝงอยู่ ดังนั้นทางที่ดีให้เลี่ยงไปก่อนเพื่อความชัวร์และสบายใจ
นม
จริงอยู่ที่นมมีโปรตีน แต่ในกรณีที่คุณกำลังเน้นการกินด้วยไขมันสูง การแทนที่นมด้วยครีม หรือนมแบบ Full-fat ที่มีไขมันเยอะ จึงดีกว่าเป็นไหนๆ นอกจากนั้นในนมยังมีคาร์โบไฮเดรต (4-5 กรัมของคาร์โบไฮเดรตต่อ 100 มิลลิลิตร) ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่ติดใส่นมในกาแฟ เราขอแนะให้แทนที่ด้วยครีม (Heavy Cream / Full Cream / Half Cream) จะดีกว่า (มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต และมักอยู่ใกล้ๆ กับหมวดชีส) แถมยังหวานมัน อร่อย และหนักท้องอีกด้วยนะ
ผลไม้
“อ้าว…ห้ามดื่มน้ำหวาน แล้วน้ำผลไม้ก็ไม่ได้รึ” เรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผลไม้และน้ำผลไม้มักมีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะน้ำสับปะรด แตงโม กล้วย หรือมะม่วงสุก นอกจากนี้ยังรวมถึงผลไม้อบแห้ง แช่อิ่ม และดองต่างๆ นานาที่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะหรือน้อยมากๆ เป็นดี
1
แอลกอฮอล์
สายดื่มต้องทำใจ เพราะต้องจากน้องน้ำชวนยิ้มไปอีกสักพัก ไม่ว่าจะเบียร์ ไวน์ (โดยเฉพาะไวน์หวาน) หรือค็อกเทลตัวร้ายที่มักมีน้ำตาลอยู่มหาศาล นี่ยังไม่รวมความเป็นไปได้ว่าหลังดื่ม คุณมีแนวโน้มที่จะเดินโฉบเข้า 7-11 หาอะไรกินแก้หิวยามดึกอีกด้วย….
1
เหมาะกับใคร
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่กินคีโตเจนิก (แบบเข้าๆ ออกๆ ตามความสะดวกของชีวิต) บวกกับออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่งมาเป็นเวลา 3 ปี พบว่าน้ำหนักลดลงไปเกือบ 10 กิโลกรัม (2 กิโลกรัมในนั้นเปลี่ยนเป็นมวลกล้ามเนื้อ) แม้จะค้นพบว่าหาใช่เรื่องง่ายในการปรับมุมมองความคิดที่ว่า ‘กินข้าวจึงจะหนักท้อง’ เพราะสลัดจานโตกับเนื้อสัตว์ หรือหมูกรอบและไข่ 2 ฟองยามเช้ากลับช่วยให้ผู้เขียนรู้สึกอิ่มไม่แพ้กินข้าวเลยด้วยซ้ำ แม้ตอนแรกจะเหนื่อยง่ายและมีอาการข้างเคียงที่ไม่คุ้นเคยตอนแรกเริ่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับรู้สึกสดชื่น ไม่เหนื่อยง่าย มีพลังมากกว่าเก่า
1
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาอาหารทั่วไปกินโดยเลี่ยงข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวอันเป็นอาหารหลักหากินง่ายของบ้านเราได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนทำอาหารเองที่บ้านจึงได้เปรียบ เพราะนอกจากจะควบคุมตัวแปรการกินแต่ละมื้อได้แล้วยังสามารถสร้างสรรค์อาหารเมนูอร่อยใหม่ๆ ที่เลี่ยงน้ำตาลและแป้งได้อย่างสนุกพอตัว (ลาบคอหมูย่าง, เบอร์เกอร์ไม่มีขนมปัง, เค้กไร้แป้ง ฯลฯ)
นอกจากนั้นผู้เขียนยังพบว่าการกินแบบคีโตเจนิกนั้นอาจเหมาะกับมนุษย์ผู้รักการกินมันอย่างเอร็ดอร่อยเสียมากกว่าสายคลีน (คุณเป็นคนประเภทเขี่ยหนังไก่ออกจากข้าวมันไก่หรือเปล่า) เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเอ็นจอยการต้องกินมันในปริมาณเยอะพอตัวในแต่ละวัน หรือเหยาะน้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโดใส่อาหารแทบทุกมื้อ เพราะหาใช่ทุกคนที่จะชอบการกินวิธีเดียวกันเสียเมื่อไหร่
และที่สำคัญที่สุดการกินคีโตเจนิกเองก็มีข้อเสีย นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นควรมั่นใจเสียก่อนว่าร่างกายของคุณสมบูรณ์แข็งแรง จึงควรไปตรวจสุขภาพ ตลอดจนปรึกษาแพทย์ และคำแนะนำจากนักโภชนาการเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
บทความเรื่องการรักษาผู้ป่วยน้ำหนักเกินของ ดร.จอร์จ แอล. ธอร์ป
นี่คือเทรนด์ใหม่จริงหรือ
ที่น่าสนใจคือการกินแบบนี้หาใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนบรรพบุรุษของเราจะเรียนรู้วิธีการทำให้เกิดขนมปังหรือนำเมล็ดข้าวมาหุง มนุษย์คุ้นเคยกับกินอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์ ไขมัน และพืชมาก่อน นอกจากนี้ในแง่ทางการแพทย์แล้ว หากมองย้อนกลับไป นี่ไม่ใช่เรื่องสดใหม่อะไรเลย เพราะมีการนำการกินแบบคีโตเจนิกมาใช้รักษาโรคลมชักมาก่อน โดยเฉพาะในเด็ก รวมถึงภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) ไปจนโรคเบาหวาน ขณะที่ ดร.โรเบิร์ต แอตกินส์ ได้แนะนำให้โลกรู้จักการลดน้ำหนักผ่านการกินแบบลดคาร์โบไฮเดรตเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงปี 1970 ซึ่งการกินแบบแอตกินส์นั้น ในช่วง 2 สัปดาห์แรกจะเน้นการกินแบบคีโตเจนิกอย่างเคร่งครัดจนมีการนำการกินนี้ไปปรับใช้ในการไดเอตวิธีอื่นๆ ในปัจจุบัน
รวมไปถึงบทความของ ดร.จอร์จ แอล. ธอร์ป เรื่องการรักษาคนไข้น้ำหนักเกินที่กล่าวว่า “วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดน้ำหนักโดยปราศจากความหิว ความอ่อนล้า อิดโรย และท้องผูก คือการกินที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำ ด้วยอาหารที่มีไขมันและโปรตีนสูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งปริมาณการกินนั้นไม่สำคัญ แต่สำคัญที่สัดส่วนสั้ง 3 ที่ต้องคงเอาไว้” บทความนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (The Journal of the American Medical Association หรือ JAMA) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1957
ขณะที่ ดร.จอห์น รอลโล รายงานผลการรักษานายทหารที่เป็นโรคเบาหวานว่าใช้วิธีการให้กินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำควบคู่ไปกับยารักษา จนทำให้การกินแบบคีโตเจนิกกลายเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปในศตวรรษที่ 19 และรายงานของเขาถูกตีพิมพ์ย้อนไปในปี 1797
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังถกเถียงกันอยู่ถึงความเหมาะสมในการกินแบบคีโตเจนิกว่าเป็น “การไดเอ็ตแบบสุดกู่” และ “อาจเป็นหายนะต่อร่างกาย” ไปจนถึงงานวิจัยที่ว่าการกินเช่นนี้ไม่แตกต่างจากการกินแบบจำกัดไขมัน เมื่อวันที่ 16 เดือนมกราคม ปี 2018 ที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์สหรัฐอเมริกา หรือ Journal of the American Medical Association (JAMA) ตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงการกินแบบคีโตเจนิกว่า หากทำตามการกินแบบคีโตเจนิกอย่างถูกต้องและปลอดภัย สามารถช่วยปรับสภาพร่างกายได้อย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอันเกิดจากโรคอ้วน ซึ่งมีจำนวนผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 3 ในอเมริกาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยจากงานวิจัย 13 ชิ้นที่ต่างกันออกไป พบว่าผู้ที่ยึดการกินแบบคีโตเจนิก ไม่เพียงแต่สามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่กินแบบจำกัดไขมัน (low-fat) แต่ยังสามารถรักษาน้ำหนักให้คงที่โดยไม่กลับมาโยโย่ได้นานกว่า โดยผู้เชี่ยวชาญบอกกับวารสารว่าอัตราที่ได้นี้น่าจะเป็นผลมาจากความรู้สึกหิวที่ลดลงนั่นเอง
1
สุดท้ายแล้ว การลดน้ำหนักที่ได้ผลดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับว่าแบบใดที่เหมาะกับคุณ และคุณยินดีที่ได้ทำเสียมากกว่า บวกกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปด้วย และอย่าลืมว่าไม่มีวิธีลดน้ำหนักแบบไหนที่ดีที่สุด หรือง่ายที่สุด
ดังนั้นหากคุณมีใจอยากจะเริ่ม ไม่ว่าจะวิธีใด เราลุ้นให้สำเร็จแบบสุดใจ
โฆษณา