15 เม.ย. 2019 เวลา 19:35 • ประวัติศาสตร์
"วิถีแห่งกุนซือกุยแก" (นักจิตวิทยาแห่งสงคราม)
เรื่องโดย: เสถียร จันทิมาธร
"เสนาธิการคนสำคัญของโจโฉ ผู้วางแผนรวบรวมแผ่นดินจีนตอนเหนือให้เป็นเอกภาพ"
"วิถีแห่งกุนซือกุยแก" คอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับ "กุยแก" เสนาธิการทหารคนสำคัญของโจโฉ จากวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก
ภาพ : สามก๊กวิทยา
เมื่อเขียนหนังสือ "10 กุนซือ ยอดอัจฉริยะ" ถึงตอนว่าด้วย กุยแก วัชระ ชีวะโกเศรษฐ เริ่มต้นด้วยการบรรยายถึง
คืนหนึ่ง ปลายปี ค.ศ.208 ที่หนานจ้วน
งานเลี้ยงอันทรงความหมายกำลังดำเนินไป ขณะนี้ผู้ที่เป็นเจ้าภาพของงานเลี้ยง สิงห์ร้ายผู้มีความเห่อเหิมทะเยอทะยาน-โจโฉ มีอาการเมาเล็กน้อย จะเป็นด้วยงานเลี้ยงใกล้สิ้นสุด หรือเป็นเพราะคอสุราของโจโฉมิแข็งพอ
คำตอบล้วนมิใช่
แท้จริง ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้โจโฉนำกองทัพอันเกรียงไกรมุ่งมาทางทิศใต้ด้วยตนเอง ยึดเมืองเกงจิ๋ว ตีพ่ายเล่าปี่ ประสบความสำเร็จดังใจหมายโดยตั้งความหวังไว้ว่าการกรีธาทัพในครั้งนี้จะยึดภูมิภาคเจี้ยงฮั้นไว้ บรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่รวบแผ่นดินทั้งหมดเป็นแผ่นเดียวกัน
และนับแต่นี้ชื่อเสียงจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญไปชั่วกาลนาน
แต่ไหนเลยจะคาดคิด ยุทธการเซ็กเพ็กจะประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับ อันดับแรก ถูกจิวยี่พิฆาตด้วยเพลิง ตามด้วยฝนตกราวกับฟ้ารั่ว จนยังผลให้กองทัพอันเกรียงไกรต้องย่อยยับลง ปราชัยตลอดทาง บัดนี้นำไพร่พลเหลือเดนเพิ่งจะมาถึงหนานจ้วน
งานเลี้ยงที่โจหยินจัดขึ้นให้แก่เขาในครั้งนี้ ไฉนจะมิทำให้เขาสะท้อนใจใหญ่หลวงเล่า มาตรว่าจะอาศัยเมรัยดับความกลุ้มแต่กลับยิ่งเพิ่มความกลัดกลุ้ม
สํานวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บรรยายสถานการณ์เดียวกันนี้ว่า ฝ่ายโจโฉครั้นมาพ้นตำบลฮัวหยงเหลียว หลังมาเห็นทหารซึ่งตามมา 27 คน ขณะเมื่อเดินทางมานั้นโจโฉสรรเสริญกวนอูว่าสัตย์ซื่อนัก
ครั้นเวลาพลบค่ำ
โจโฉเห็นทหารกองหนึ่งจุดคบเพลิงมาข้างหน้าเป็นอันมากก็ตกใจ คิดว่าครั้งนี้ชีวิตเราจะถึงแก่ความตายเป็นมั่นคง
ครั้นใกล้เข้าเห็นโจหยินก็คลายใจโจหยินเข้ามาคำนับโจโฉแล้วบอกว่า "ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่ามหาอุปราชเสียทีแก่ข้าศึก จึงคุมทหารมารับท่าน"
โจโฉจึงปรับทุกข์แก่โจหยินแล้วพาทหารเข้าไปเมืองลำกุ๋น โจหยินจึงให้แต่งโต๊ะแล้วเชิญโจโฉกับที่ปรึกษาเสพสุราหวังจะให้คลายความทุกข์ ขณะเมื่อกินโต๊ะอยู่นั้นโจโฉร้องไห้ ที่ปรึกษาแลทหารเห็นดังนั้นก็สงสัยจึงถามโจโฉว่า
"เมื่อแตกมากลางทางนั้นได้ความลำบากเป็นอันมาก ข้าพเจ้าเห็นท่านหาสู้เป็นทุกข์ไม่ บัดนี้ท่านพ้นมาจากเงื้อมมือข้าศึกแล้วชอบแต่จะซ่องสุมทหารยกไปแก้แค้นจึงจะควร เหตุใดท่านจึงมาร้องไห้ฉะนี้เล่า"
โจโฉจึงว่า "ซึ่งเราร้องไห้เพราะเหตุคิดถึงกุยแก แม้กุยแกยังไม่ตายก็จะได้มาด้วยเรา เราก็จะไม่ยากถึงเพียงนี้"
ว่าแล้วก็ร้องไห้ร่ำถึงกุยแก
สํานวนแปล วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า พอใกล้ค่ำก็ถึงเมืองลำกุ๋นมองไปข้างหน้าเห็นคบเพลิงจุดสว่างมีกองทหารสกัดทางไว้อีก โจโฉตกใจยิ่งนักร้องออกมาอย่างสิ้นหวังว่า "ชะตาเราขาดสิ้นเพียงเท่านี้แล้ว"
พอหน่วยหน้าของทหารกองนั้นเข้ามาใกล้โจโฉก็ดีใจสุดที่จะพรรณนาได้เพราะปรากฏว่านายกอง คือโจหยิน ครั้นโจหยินมาถึงก็ชี้แจงให้โจโฉทราบว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าท่านแตกทัพก็ไม่กล้าทิ้งเมืองไปไกลจึงยกทหารมาคอยรับท่านอยู่ที่นี่"
โจโฉรำพันว่า "ข้านึกว่าจะไม่ได้เห็นหน้าเจ้าเสียแล้ว"
พลางโจโฉยกทหารเข้าพักอยู่ ณ เมืองลำกุ๋น ไม่ช้าเตียวเลี้ยวก็ตามมาถึงเล่าเรื่องน้ำใจไมตรีของกวนอูให้ฟังว่า "หาไม่แล้วคงเอาชีวิตไม่รอด" นายทหารของโจโฉส่วนมากบาดเจ็บสาหัส โจโฉให้พักผ่อนตามสบาย
แล้วโจหยินก็แต่งโต๊ะนำสุรามาเลี้ยงโจโฉเพื่อให้คลายความทุกข์ ที่ปรึกษาทั้งปวงก็เข้าร่วมโต๊ะอย่างพร้อมเพรียง โจโฉแหงนหน้ามองฟ้าแล้วร้องไห้น้ำตาอาบหน้า
บรรดาที่ปรึกษาจึงพูดขึ้นว่า "ท่านสมุหนายกพ้นจากถ้ำเสือมาแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัวอีก บัดนี้ ท่านเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ทหารของท่านมีอาหารการกินบริบูรณ์ ม้าของท่านก็มีหญ้าฟางพร้อมสรรพ สมควรจะจัดแต่งทัพใหม่เพื่อไปล้างแค้น ไฉนท่านจึงร้องไห้เช่นนี้"
โจโฉตอบว่า "ข้าพเจ้าร้องไห้รำลึกถึงกุยแก นี่ถ้าหากว่ากุยแกยังมีชีวิตอยู่เราทั้งหลายจะไม่แพ้ย่อยยับถึงเพียงนี้อย่างแน่นอน"
พูดแล้วใช้มือทุบอกร่ำไห้เป็นการใหญ่ ร้องรำพันดังๆ ว่า
"กุยแก เพื่อนเอ๋ย ทำไมเจ้าตายไปก่อน เสียดายเหลือเกิน"
บรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายพากันละอายใจ ก็นิ่งอึ้ง พูดอะไรไม่ออก
สํานวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช นอกจากถอดคำพูดโจโฉ "ข้าร้องเพราะคิดถึงกัวเฟิ้งเสี้ยว ถ้าเฟิ่งเสี้ยวยังอยู่ ข้าคงไม่เสียหายขนาดนี้"
แล้วร้องไห้ตีอกชกหัวว่า "อาลัยเฟิ่งเสี้ยว เจ็บปวดนักเฟิ่งเสี้ยว เสียดายนักเฟิ่งเสี้ยว"
ยังระบุ "กัวเจีย (เฟิ่งเสี้ยว) เป็นเสนาธิการที่ยิ่งใหญ่ของเฉาเชา เป็นผู้วางแผนรวบรวมภาคเหนือขึ้นเป็นเอกภาพ เสียดายอายุสั้น"
ภาพสุดท้ายของ "กุยแก"
อาการป่วยของกุยแกเกิดขึ้นก่อนโจโฉจะยกทัพไล่ตามอ้วนฮี อ้วนซง ไปยังถิ่นทะเลทราย เป็นการยกไปด้วยความยากลำบาก
ดังปรากฏผ่านสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า
ทางนั้นกันดารนักหาต้นไม้ใหญ่มิได้เลย ลมพัดหอบเอาทรายฟุ้งตลบไปทั้งกองทัพ โจโฉเห็นดังนั้นก็คิดว่า "ยกมานี้ทหารเราได้ความลำบากนักจะใคร่ยกกองทัพกลับไป"
ครั้นจะปรึกษากุยแกเล่ากุยแกก็ป่วยนอนมาบนเกวียน
"โจโฉมาเยี่ยมเห็นกุยแกนั้นป่วยหนักโจโฉก็ร้องไห้หนักแล้วว่า "ซึ่งท่านป่วยนี้เพราะเรายกกองทัพพาท่านมา เราไม่มีความสบายใจจะใคร่ยกกลับไปเมือง"
กุยแกจึงตอบว่า "อันคุณของท่านมีอยู่แก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก อย่าวิตกถึงข้าพเจ้าเลยถึงมาตรว่าข้าพเจ้าจะตายก็เอาชีวิตแทนคุณท่าน อันคำโบราณกล่าวไว้ว่า "การสิ่งใดเห็นได้การแล้วก็ให้เร่งคิดอ่านทำการไปกว่าจะสำเร็จ" ซึ่งจะยกกองทัพไปครั้งนี้ข้าพเจ้าเห็นจะช้า ทหารก็ลำบากนัก แล้วชาวเมืองรู้ก็จะตระเตรียมไว้รบพุ่ง
ขอให้ตั้งกองทัพไว้ที่นี่ ให้จัดแจงทหารซึ่งกล้าแข็ง เอาเสบียงใส่ไถ้คาดเอว ถืออาวุธสำหรับมือ แล้วจับชาวบ้านให้นำทางไปเที่ยวโจมตีเอา อย่าให้ทันชาวเมืองรู้ตัวก็จะได้โดยง่าย"
โจโฉเห็นชอบด้วย จึงให้หยุดทัพตั้งมั่นอยู่แดนเมืองเอ๊กจิ๋ว
ประเด็นอยู่ที่กุยแกป่วยหนัก เมื่อประสบกับการเดินทางสุดแสนทุรกันดารจึงยิ่งทรุด
สํานวนแปล วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า แล้วสั่งเคลื่อนทัพใหญ่น้อยกระจายออกเป็น 3 ทัพ รถศึกนับพันๆ คัน มุ่งหน้าต่อไปก็เผชิญกับลมพายุพัดทรายฟุ้งตลบ ทางนั้นทุรกันดารยิ่งนัก ทหารแลม้าเดินยาก
โจโฉคิดจะถอยทัพกลับ
จึงถามกุยแก แต่ขณะนั้นเนื่องด้วยกุยแกมิใช่เป็นทหาร ร่างกายไม่บึกบึนจึงล้มป่วยอยู่ในรถ โจโฉน้ำตาไหลพูดกับกุยแกว่า
"เหตุเพราะข้าพเจ้าต้องการเอาชนะหัวเมืองในทะเลทราย จึงทำให้ท่านต้องมาล้มป่วยลงในทางอันไกลเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่มีความสบายใจเลย"
กุยแกจึงว่า "ข้าพเจ้าซาบซึ้งในพระคุณของท่านสมุหนายกยิ่งนัก ตลอดชีวิตนี้ก็ยังไม่สามารถหาอันใดทดแทนท่านได้"
โจโฉจึงว่า "ข้าพเจ้าเห็นทางเหนือนั้นทุรกันดารมากอยากจะเลิกทัพควรหรือไม่"
กุยแกตอบว่า "ทหารดีต้องเร่งกระทำการโดยฉับไว ขณะนี้เราเดินทัพด้วยทหารมากมายนัก สัมภาระมีมากทำให้ยากแก่การเคลื่อนที่ สู้จัดทหารที่กล้าแข็งแต่น้อยยกไปจู่โจมตีอย่าให้พวกนั้นทันรู้ตัวก็จะเอาชนะได้โดยง่าย แต่ต้องหาคนชำนาญทางนำไปจึงจะได้ผล"
โจโฉจึงให้กุยแกอยู่รักษาตัวที่เมืองเอ๊กจิ๋ว
ระหว่างสำนวนแปล เจ้าพระยาพระคลัง (หน) กับ สำนวนแปล วรรณไว พัธโนทัย ได้ค่อยๆ ไขสาเหตุอันทำให้กุยแกป่วยหนักต้องนอนแบ็บอยู่ในเกวียน
1 สภาพภูมิประเทศทุรกันดารอย่างยิ่ง สาหัสอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน 1 "เนื่องด้วยกุยแกมิใช่เป็นทหาร ร่างกายไม่บึกบึน จึงล้มป่วยอยู่ในรถ"
ตรวจสอบจากสำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช รถเกวียนหลายพันคันมุ่งต่อไปในทะเลทรายอันกว้างใหญ่ ลมพัดกระโชก ทางก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ทั้งคนทั้งม้าเดินทางด้วยความลำบากยิ่ง เฉาเชาเกิดความรู้สึกอยากยกทัพกลับ
จึงถามกัวเจีย ฝ่ายกัวเจียไม่เคยชินกับสภาพทางเหนือเช่นนี้ เกิดล้มป่วยอยู่บนรถ
เฉาเชาสะอื้นว่า "ข้าต้องการสยบทะเลทราย ทำให้ท่านต้องมาลำบากเช่นนี้ ทำให้ท่านป่วยใจข้าจะสงบได้อย่างไร"
กัวเจียว่า "บุญคุณของเฉิงเซี่ยงแม้ตายก็ไม่อาจทดแทนได้แม้แต่นิดหนึ่ง"
เฉาเชาว่า "ข้าเห็นที่ทางเหนือนี้ลำบากขรุขระ อยากจะยกทหารกลับ คิดว่าอย่างไร"
กัวเจียว่า "การทำศึกต้องรวดเร็ว เดินทางพันลี้เพื่อเข้าตีข้าศึก ยุทธปัจจัยมากมายไม่มีประโยชน์ ต้องใช้ทหารที่คล่องตัวรีบออกเดินทาง รอจังหวะที่ทางโน้นไม่ทันเตรียมตัว แต่จำเป็นต้องมีผู้รู้นำทาง"
เฉาเชาให้กัวเจียพักรักษาตัวอยู่ที่อี้โจวแล้วให้หาคนนำทาง
เป็นอันว่าสภาพการณ์ของกุยแกหรือกัวเจียนั้นเป็น 2 องค์ประกอบประสานเข้าด้วยกัน 1 ปัจจัยภายใน ไม่บึกบึนและไม่ชินต่อทางเหนือ 1 ปัจจัยภายนอกเป็นเพราะรุกเข้าไปในดินแดนอันทุรกันดาร เป็นเขตทะเลทราย
ทั้งหมดที่ยกมา ไม่ว่าสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ว่าสำนวน วรรณไว พัธโนทัย ไม่ว่าสำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช อาจกล่าวได้ว่า
เป็นฉากสุดท้ายของกุยแกเมื่อยังมีชีวิต
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของกุยแกเกี่ยวกับการจัดหน่วยรบพิเศษสะท้อนให้เห็นว่าสำนึกของกุยแกแนบแน่นอยู่กับการสู้รบไม่คลอนแคลน
แม้จะไม่ได้เป็น "ทหาร" แต่ก็เป็นนักวางแผนเชิง "กลยุทธ์"
กุยแกจึงเป็น "ที่ปรึกษา" ที่สวมหัวใจของ "ทหาร" อย่างเต็มเปี่ยม
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
ขอบคุณที่มาจาก : Samkok911
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
โฆษณา