22 เม.ย. 2019 เวลา 05:19 • ประวัติศาสตร์
เปิดประวัติ "ลกเจ๊ก ยอดลูกกตัญญู" (สามก๊ก)
แม่จ๋า ! แม่กำลังเจ็บ และเราหรือก็ยากจน เราไม่มีปัญญาจะหาส้มอย่างที่เจ้าแคว้นเขากินหรอกแม่จ๋า
ภาพ : สามก๊กวิทยา
แม่ - ร่มเกล้าของลูก ถึงจะยากจนก็แต่ตัว แม่อุตส่าห์สั่งสอนลูกมาจนได้เข้ามานั่ง ยังที่เลี้ยงอันมีเกียรติลูกไม่เคยพบนี้ แต่ได้กินส้มอย่างนี้ยามไข้ ทูนหัวของลูกอาการจะกระเตื้องขึ้นอย่างไร ส้มติดคอลูก กลืนไม่ลงเพราะเหตุนี้"
ประวัติ "ลกเจ๊ก
ลกเจ๊กเกิดในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นชาวง่อก๊ก มีชื่อรองว่า "กงจี้" ครอบครัวอยู่ระดับปานกลางถึงยากจน และตัวลกเจ๊กนั้นขาพิการทั้งสองข้าง ถึงกระนั้นก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นเลิศ
เมื่ออายุหกขวบได้ติดตามอาไปเยี่ยมคำนับอ้วนสุด ผู้ว่าราชการเมืองจิ่วเจียง ณ จวนผู้ว่าราชการซึ่งจัดงานเลี้ยงมโหฬารในครั้งนั้น ฝ่ายลกเจ๊กเมื่อได้รับประทานส้มในงานนั้นก็ระลึกถึงมารดาว่าชอบรับประทานส้มเป็นที่สุด คิดแล้วก็ซุกส้มสองผลไว้ในแขนเสื้อ แต่เมื่อได้เวลากลับบ้านขณะก้มกายคารวะอำลาอ้วนสุด เผอิญส้มที่ซุกซ่อนไว้หล่นลงพื้น อ้วนสุดเห็นจึงพูดสัพยอกว่า "ลกเจ๊กเอ๋ย เจ้ามาเป็นแขกผู้เยาว์ ไฉนจึงแอบซุกส้มของเจ้าบ้าน ไม่กลัวคนเขาจะหัวเราะเยาะว่าลักส้มหรือ" ลกเจ๊กก็คุกเข่าคำนับแล้วว่ามารดาตนชอบรับประทานส้มนัก ตนจึงตั้งใจเอาไปฝาก เมื่อมารดาได้รับประทานทานก็นับว่าท่านเจ้าบ้านได้เลี้ยงแขกเพิ่มอีกคนหนึ่งแล้ว อ้วนสุดได้ฟังก็ชมเชยว่า เด็กอายุเพียงเท่านี้ยังรู้จักกตัญญูต่อมารดา หายากยิ่งนัก แล้วสั่งให้บริวารเอาส้มกระเช้าหนึ่งเดินตามไปส่งถึงบ้าน
เมื่อลกเจ๊กเติบโตขึ้นได้ศึกษาบรรดาศิลปวิทยาทั้งปวงจนเชี่ยวชาญแล้ว ก็เข้ารับราชการกับซุนกวนแห่งง่อก๊ก ไม่นานก็ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาราชการของซุนกวน ครั้นซุนกวนเป็นใหญ่ในกังตั๋งก็เชิญลกเจ๊กมารับราชการที่ตำแหน่ง "โจ้วเฉาเหวียน" ต่อมาลกเจ๊กก็ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองหวี้หลิน บริหารราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร สำหรับยศทหารนั้นว่า "เพียนเจียงจวิน" (เท่าระดับ "นายพล" ในปัจจุบัน) มีอำนาจหน้าที่ควบคุมทหารสองพันคน
ต่อมาในคราวยุทธการศึกเซ็กเพ๊ก ขงเบ้งได้ไปเจรจากับซุนกวน ณ เมืองกังตั๋ง เพื่อให้มาร่วมมือกับเล่าปี่ขับไล่กองทัพของโจโฉที่ยกมาอย่างมหึมา เพื่อให้การเป็นไปสมประสงค์ ขงเบ้งจึงต้องเจรจาโน้มน้าวจิตใจให้เหล่าที่ปรึกษาของซุนกวนคล้อยตามด้วย
ครั้งนั้น ขงเบ้งเข้าพบซุนกวนซึ่งแวดล้อมไปด้วยที่ปรึกษาเช่น เตียวเจียว ยีหวน โปเจ๋า ซีหอง ลกเจ๊ก เหยียมจุ้น เทียตก ซึ่งล้วน สนับสนุนให้ซุนกวนเข้าอ่อนน้อมด้วยโจโฉซึ่งตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของขงเบ้ง จึงเกิดเป็นการปะทะคารมกันขึ้น เมื่อเห็นว่าฝ่ายขงเบ้งเป็นต่ออยู่มาก ลกเจ๊กจึงลุกเดินจากที่นั่งตามตำแหน่งตนแล้วออกไปกล่าวด้วยขงเบ้งว่า
"ตัวข้าพเจ้านี้ชื่อลกเจ๊ก เป็นขุนนางเมืองกังตั๋ง ได้ฟังคำท่านแล้วเห็นชอบกลอยู่ จะใคร่ขอถามความท่านสักคำหนึ่งว่า อันโจโฉนี้มาตรว่าทำหยาบช้า แอบอ้างรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ เที่ยวปราบปรามบ้านเมืองทั้งปวงให้แผ่นดินเดือดร้อนก็จริง แต่ว่าโจโฉนี้เป็นเชื้อสายของโจฉำผู้เป็นอุปราชมาแต่แผ่นดินก่อน อันเล่าปี่นี้ว่าเป็นเชื้อกษัตริย์กระเซ็นกระสายพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นเราไม่ รู้ แจ้งแต่ว่าตระกูลของเล่าปี่นั้นเป็นคนอนาถา ตัวเล่าปี่เองก็เคยเป็นเพียงคนทอเสื่อขาย ควรหรือจะมาองอาจไม่คิดเจียมตัว แลจะต่อสู้โจโฉนั้นเราไม่เห็นด้วย"
ขงเบ้งจึงตอบว่า
"ท่านนี้หรือชื่อว่าลกเจ๊ก เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้นลักส้มเขาเอาไปให้มารดา นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย"
แล้วขงเบ้งก็ว่า
"อันเล่าปี่นายเรานั้นเป็นเชื้อสายพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระเจ้าเหี้ยนเต้ก็ทำนุบำรุงให้ยศถาบรรดาศักดิ์ คนทั้งปวงก็รู้อยู่ เหตุไฉน ท่านจึงว่าเป็นคนอนาถา ถึงมาตรว่าเป็นคนทอเสื่อ ขายเกือกก็ดี อันนี้ประเพณีเป็นที่ทำมาหากินจะอับอายเป็นกระไรนักหนา ฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจ นั้นเล่าก็มิใช่เป็นเชื้อพระวงศ์มาแต่ก่อน ก็เป็นแต่พันนายบ้าน แต่ กอปรไปด้วยความเพียร ก็ได้เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แลได้สืบพระราชวงศ์เสวยราชสมบัติมาตราบเท่าทุก วันนี้ ท่านจะมาประมาทเล่าปี่นายเรานั้นหาควรไม่
"ตัวท่านเป็นเด็กยังมิสิ้นกลิ่นน้ำนมจะมาอวดรู้กว่าผู้ใหญ่นั้นอย่าเจรจาสืบ ไปเลย ซึ่งท่านนับถือโจโฉว่าเป็นเชื้อสายของโจฉำ ก็จริงอยู่แต่ทว่าโจฉำนั้นเป็นคนกตัญญูสัตย์ซื่อต่อเจ้าปรากฏมาแต่ก่อน อันโจโฉนี้เป็นคนเสียชาติเสียตระกูล มิได้ประพฤติตามประเพณีปู่ย่าตายาย ทำให้ผิดจากตระกูลของตัว ซึ่งจะนับถือว่าดีนั้นก็แต่คนพาลเหมือนหนึ่งท่าน"
ลกเจ๊กไม่คาดคิดว่าขงเบ้งจะรู้ความหลังครั้งก่อนแต่ครั้งตัวอยู่ในวัยเด็ก ครั้นถูกขงเบ้งลำเลิกความหลังขึ้นต่อหน้าเพื่อนขุนนางก็รู้สึกละอายใจ ได้รับความอัปยศเป็นอันมาก กับทั้งถ้อยคำของขงเบ้งล้วนเป็นความจริงที่รู้กันทั่วไป แม้ลกเจ๊กเองก็รู้กระจ่าง จึงสิ้นคำจะต่อถ้อยวาจากับขงเบ้งอีกต่อไป ลกเจ๊กได้ความอัปยศดังนี้จึงก้มหน้าถอยกลับมานั่งในที่เดิม
- สามก๊กฉบับวณิพก , ยาขอบ
เรื่องราวของลูกกตัญญูในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มีอยู่หลายตอน เช่น ซุนกวนที่รักและเคารพแม่อยู่เสมอ ตั๋งโต๊ะที่เลวแสนเลว แต่ในยามที่ได้ดิบได้ดีก็ไม่เคยลืมพระคุณแม่ ชีซีที่ยอมไปเข้าพวกโจโฉเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของแม่ ฯลฯ
แต่มีอยู่คนหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในลูกกตัญญูของจีน เขาผู้นั้นหรือ คือ "ลกเจ๊ก"
ลกเจ๊กในหนังสือสามก๊ก
ครั้งหนึ่งในตอนที่ขงเบ้งไปเกลี้ยกล่อมซุนกวน ให้ร่วมมือกับเล่าปี่ รบโจโฉ ขงเบ้งได้โต้คารมกับบรรดานักปราชญ์กังตั๋ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ลกเจ็ก ว่า
"ท่านนี้หรือชื่อว่าลกเจ๊ก เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้นลักส้มเขาเอาไปให้แก่มารดา นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย"
ประโยคนี้ คือประโยคสัมผัสอันไพเราะติดหู ที่ขงเบ้งได้กล่าวไว้ในที่ประชุมครั้งนั้น แต่ด้วยถ้อยความเพียงเท่านี้ ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ลกเจ๊ก จึงดูเสมือนเป็นคนร้าย ลักขโมยของ เพราะสามก๊กภาษาไทยไม่ได้เกริ่น ไม่ได้ขยายความในข้อนี้ และตัดจบบทไว้แค่นั้น ให้ลกเจ๊กจนปัญญาจะตอบโต้
ลกเจ๊กในเรื่อง 24 ลูกกตัญญู
เรื่องลกเจ๊กในหนังสือสามก๊ก นี้ดูเหมือนว่าจะตรงกันข้ามกับตำนานเรื่องเล่าของชาวจีน ที่ลกเจ๊กได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งใน ยี่สิบสี่ลูกกตัญญู (ยี่จั้บสี่เหา) ซึ่งมีเรื่องเล่าอยู่ว่า
"ลกเจ๊ก" เป็นชาวเมืองง่อก๊ก มีชื่อรองว่า "กงจี้" ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน ตัวลกเจ๊กนั้นไม่ค่อยแข็งแรง ขาลีบทั้งสองข้าง แต่ถึงกระนั้นก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นเลิศ
เมื่ออายุหกขวบ ลกเจ๊กได้ติดตามอาไปเยี่ยมคำนับอ้วนสุด ผู้ว่าราชการเมืองจิ่วเจียง ณ จวนผู้ว่าราชการ ซึ่งจัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่โตมโหฬาร
เด็กยากจนอย่าง ลกเจ๊ก เมื่อได้รับประทานส้มในงาน ก็ระลึกถึงมารดาว่า มารดาชอบรับประทานส้ม แต่ไม่มีโอกาสได้ทานเพราะไม่มีเงินซื้อ คิดแล้วจึงแอบซุกส้มสองผลไว้ในแขนเสื้อ จะเอากลับไปให้มารดาได้ชิม
ครั้นพอได้เวลากลับบ้าน อาพาลกเจ๊กไปอำลาอ้วนสุด ขณะก้มกายคารวะอยู่นั้น เผอิญส้มที่ซุกซ่อนอยู่ในแขนเสื้อก็ร่วงหล่นลงพื้น อ้วนสุดเห็นจึงพูดหยอกล้อว่า
"ลกเจ๊กเด็กน้อยเอ๋ย เจ้ามาเป็นแขก ไฉนจึงแอบซุกส้มของเจ้าบ้าน ไม่กลัวคนเขาจะหัวเราะเยาะว่าลักส้มหรือ"
ลกเจ๊กก็คุกเข่าคำนับแล้วว่า
"มารดาของข้าพเจ้านั้นชอบรับประทานส้มนัก ข้าพเจ้าจึงตั้งใจจะเอาไปฝาก หากมารดาของข้าพเจ้าได้รับประทานส้มนี้ ก็จะนับได้ว่าท่านมีเมตตา ได้เลี้ยงแขกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน"
อ้วนสุดได้ฟังดังนั้นก็ชมเชยว่า เด็กอายุเพียงเท่านี้ยังรู้จักกตัญญูต่อมารดา น่ายกย่องชมเชยยิ่งนัก ว่าแล้วก็สั่งให้บริวารจัดส้มใส่กระเช้า นำไปให้มารดาของลกเจ๊กถึงบ้าน
"ลกเจ๊กนั้นน่ายกย่อง"
ในสามก๊กฉบับวณิพก ของบรมครู "ยาขอบ" ท่านได้รจนายกย่องลกเจ๊กไว้อย่างมาก ตามประโยคเกริ่นนำของบทความ แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากเรื่องเล่าของจีน คือ อาจารย์ยาขอบท่านเขียนโดยไม่ทราบอายุของลกเจ๊ก และเข้าใจว่าลกเจ๊กลักส้มในวัยหนุ่ม ในยามที่เข้ารับราชการใหม่ ๆ ไม่ใช่ลักส้มตอนอายุ 6 ขวบตามเรื่องของจีน
กระนั้นก็ดี ไม่ว่าลกเจ๊กจะลักส้ม ตอนอายุเท่าใด หรือไม่ว่าลกเจ๊กจะตอบโต้จูกัดเหลียงขงเบ้งไม่ได้แม้แต่น้อย แต่ลกเจ๊ก ก็คือหนึ่งในตำนาน ที่ตัวละครสามก๊กนับพันทำไม่ไม่อาจเป็นได้ นั่นคือ
ไม่ใช่ด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ กลยุทธ์หรือกลอุบาย แต่ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ จากบุตรถึงมารดา นี่คือสิ่งล้ำค่าเหนืออื่นใด จนทำให้ ลกเจ๊ก ได้รับการยกย่องว่าเป็น...
"ลูกกตัญญู"...
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
ข้อมูล : สามก๊กวิทยา
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
โฆษณา