Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Medium size Pilot
•
ติดตาม
4 พ.ค. 2019 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์การบินโลก
ตอนที่ 2 เมื่อมนุษย์สามารถลอยอยู่บนฟ้า
ด้วยการออกแบบเครื่องกลไก และคำพูดของ ดา วินชี่ นี่เองที่เป็นการจุดประกายให้นักประดิษฐ์คนอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวคิดในการประดิษฐ์กลไกเพื่อทำให้ฝันของมนุษย์เป็นจริงขึ้นมา
แต่กว่าที่มนุษย์จะสร้างเครื่องบินได้สำเร็จ ก็ผ่านการทดลองของผู้คนมากมาย ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ทำได้สำเร็จในระดับหนึ่งและก็มีทั้งผู้ที่ล้มเหลว บางท่านก็ถึงกับต้องเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อการทดสอบ
และในปี ค.ศ. 1783 นี้เอง มนุษย์ก็สามารถขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าได้สำเร็จ ด้วยฝีมือของสองพี่น้องเอเตียนและโจเซฟ มองต์โกลฟิเยร์ ชาวฝรั่งเศส (Etienne-Joseph Montgolfier) พวกเขาทั้งคู่ได้สร้างบอลลูนและนำขึ้นสู่ฟากฟ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
Montgolfier brothers
พวกเขาใช้วิธีการจุดไฟไว้ด้านล่างเพื่อให้อากาศภายในบอลลูนร้อน ซึ่งอากาศร้อนนั้นจะเบากว่า บอลลูนจึงสามารถลอยขึ้นได้ โดยในครั้งแรกนั้นบอลลูนสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 25 นาที
แต่การเดินทางด้วยบอลลูนนั้นเป็นการเดินทางไปตามทิศทางที่ลมจะพัดพาไป ต่อมาจึงได้นำเอาเครื่องจักรไอน้ำและใบพัดมาติดตั้งเพื่อให้สามารถบังคับทิศทางได้บ้าง
ถึงกระนั้นการพัฒนาอากาศยานที่หนักกว่าอากาศ ก็ยังคงต้องอาศัยเวลาอีกหลายปี
เซอร์จอร์จ เคย์ลีย์ (Sir George Cayley, 1773-1857) เขาเป็นนักปรัชญา นักการเมือง และนักประดิษฐ์
Sir George Cayley
เคย์ลีย์เป็นบุคคลแรกที่เห็นว่าการใช้ปีกเลียนแบบนกนั้นไม่ได้ผล และเสนอว่าการออกแบบปีกจะต้องมีส่วนประกอบที่ช่วยในการลากและยกด้วย
ในปี ค.ศ. 1799 เขาได้ออกแบบรูปร่างของเครื่องบิน ไว้บนจานเงิน ซึ่งถือว่าเคย์ลีย์นั้นเป็นคนแรกที่ออกแบบและกำหนดรูปแบบของเครื่องบิน และยังเป็นคนแรกที่เขียนแผนภาพของแรงยก-แรงต้าน
Cayley’s plate
ปัจจุบันจานเงินดังกล่าวได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1804 เขาได้ออกแบบเครื่องร่อนแบบไม่มีคนบังคับ โดยใช้หลักการจากว่าวกระดาษ และสามารถร่อนไปได้ไกลถึง 60 ฟุต
Cayley’s glider
ในปี ค.ศ. 1809 เขาได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่องการเดินอากาศ ซึ่งอธิบายถึงปัญหาของการบินนั้น ขึ้นอยู่กับการทำให้พื้นผิวรับน้ำหนักที่กำหนดได้ โดยใช้กำลังต้านกับแรงต้านอากาศ
เขายังแนะนำอีกว่า มุมที่อากาศเคลื่อนผ่านเหนือปีกมีผลต่อแรงยก
และในปี ค.ศ. 1853 เขาได้ทดลองประดิษฐ์เครื่องร่อนแบบคนบังคับขึ้นมา และให้คนขับรถม้าเป็นผู้ทดสอบการบิน แต่แล้วคนขับรถม้าของเขาก็ลาออกด้วยเหตุผลว่า “ผมถูกจ้างมาขับรถไม่ใช่มาบิน”
อ๊อตโต้ ลิเลียนธาน (Otto Lilienthal) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน เขาและน้องชายชื่อกุสต๊าฟ (Gustav) ได้ศึกษารูปแบบเครื่องร่อนของเคย์ลีย์ และนำมาทดลองต่อยอดสร้างเครื่องร่อนได้ถึง 18 แบบ ในเวลา 5 ปี
Otto Lilienthal
และในปี ค.ศ. 1891 โลกก็ได้ยลโฉมภาพถ่าย ที่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นที่ภาพโด่งดังและเป็นแรงบันดาลใจของนักประดิษฐ์ทั่วโลก คือภาพที่อ๊อตโต้ ลิเลียนธานกระโดดและร่อนลงมาจากเนินเขา ซึ่งร่อนไปได้ไกลถึง 80 ฟุต
Flying man
เครื่องร่อนของเขาใช้หลักแขวนตนเองไว้ที่กึ่งกลาง และใช้วิธีขยับตัวไปมาเพื่อถ่วงน้ำหนักให้เครื่องร่อนไปในทิศทางที่ต้องการ
นับเป็นเครื่องร่อนที่นำมนุษย์บินได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ผู้คนต่างยกย่องให้เขาเป็นราชาเครื่องร่อนหรือ Glider King
พี่น้องลิเลียนธานทำการทดลองด้วยการร่อนมากกว่า 2,500 ครั้ง ก่อนที่เกิดความผิดพลาดจากการทดลอง
เกิดลมกรรโชกทำให้ผืนผ้าใบฉีกขาด และตกจากความสูงประมาณ 56 ฟุต ทำให้กระดูกสันหลังของเขาหัก และเสียชีวิตในวันต่อมา คือในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1896 ด้วยอายุเพียง 48 ปี
ในปัจจุบัน เครื่องร่อนที่เขาสร้างขึ้นและแบบจำลอง ได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อ๊อตโต้ ลิเลียนธาน ประเทศเยอรมัน
ในปี ค.ศ. 1900 ท่านเคาท์เฟอร์ดินานด์ กราฟ ฟอน เซปเปลิน (Count Ferdinand, Graf Von Zeppelin) ชาวเยอรมันได้คิดค้น Airship ขึ้นมา
Graf Zeppelin
หลักการก็คือใช้แก๊สร้อนซึ่งเบากว่าอากาศเป่าเข้าไปในถุงลม (คล้ายๆกับโคมลอยในบ้านเรา)
เซปเปลิน ได้ประดิษฐ์โครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้จุคนได้มาก โดยมีความคิดที่ว่าการที่จะลอยได้นั้นจะต้องทำให้วัตถุเบากว่าอากาศ เขาจึงได้ใช้ก๊าซไฮโดรเจนด้วย
Airship ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ ไฮเดนเบิร์ก (Hindenburg) ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพมากที่สุดในสมัยนั้น
Zeppelin Hindenburg
แต่ก็มีข้อเสียคือ มีขั้นตอนที่วุ่นวายในการจอด ซึ่งการจอดนั้นจะต้องลดระดับลอยให้ต่ำแล้วจึงให้คนใช้เชือกโรยตัวลงมา แล้วลากมายึดกับหลักที่เตรียมไว้
และแล้วก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นเมื่อตอนจะเข้าเทียบท่าที่นิวยอร์ค เกิดการระเบิดลุกไหม้ทั้งลำ จนถึงบัดนี้ก็ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร
Hindenburg disaster
รายงานกล่าวว่า เกิด Static Discharge เพราะว่าในขณะที่จะเข้าเทียบนั้นมีสภาพอากาศแย่ และได้มีการบินวนถึงสองครั้ง
พอครั้งที่สามที่จะเข้าเทียบ Static Discharge ได้ทำให้ผิวยานซึ่งเคลือบสารชนิดหนึ่งไว้เกิดประกายไฟ จึงลามมาโดน ก๊าซไฮโดรเจนซึ่งบรรจุไว้ภายในระเบิดลุกไหม้ทั้งลำ
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนทั้งโลกโดยเฉพาะคนเยอรมันตกตะลึงเป็นอย่างมาก และผู้คนเกิดความกังวลและกลัวการเดินทางทางอากาศ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงและมีความอันตรายสูง
ศาสตราจารย์แซมมวล พี. แลงลีย์ (Samuel P. Langley, 1834-1903) ชาวอเมริกัน เป็นผู้บุกเบิกงานด้านพลังขับดัน
Samuel P. Langley
ในปี ค.ศ. 1896 ขณะนั้นเขาเป็นเลขาธิการสถาบันสมิทโซเนียน เขาได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์ติดกับเครื่องบินขนาดเล็กแล้วปล่อยให้บินไปได้ไกลเกือบไมล์
ในปี ค.ศ. 1898 เขาได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างเครื่องบินขนาดใหญ่สำหรับให้คนขึ้นไปขับขี่ได้
เมื่อสร้างเสร็จเขาเรียกมันว่า “แอโรโดม” และก็นำไปทดลองบินที่แม่น้ำ โปโตแมก ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประมาณ 40 ไมล์ ในวันที่ 7 ธันวาคม 1903 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เครื่องบินตกลงในแม่น้ำ
Aerodrome A
เครื่องบินได้ถูกกู้ขึ้นมาซ่อมแซมใหม่ และได้ทำการทดลองอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น
แต่ความบอบช้ำของเครื่องบินและระยะเวลาอันสั้น ทำให้การทดลองครั้งนี้ก็ล้มเหลวอีก
และอีก 9 วันต่อมา เครื่องบินของสองพี่น้องตระกูลไรท์ก็พาคนบินขึ้นสู่อากาศได้สำเร็จ ในวันที่ 17 ธันวาคม 1903
ติดตามตอนที่ 3 เร็วๆนี้ครับ
อ่านย้อนหลังได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างครับ
ตอนที่ 1
https://www.blockdit.com/articles/5cc9dc438240810ffd399b99
2 บันทึก
35
5
14
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์การบินโลก by Medium size Pilot
2
35
5
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย