16 พ.ค. 2019 เวลา 12:02 • กีฬา
#MSInfographic : “ลาลีก้า” ลีกฟุตบอลที่มีพัฒนาการทางการเงินเพิ่มขึ้น 100% ภายใน 6 ปี
ลีกไหน คือ ลีกอันดับหนึ่งของโลกในใจคุณกันแน่?
ใช่ ลาลีก้า (La Liga) ลีกฟุตบอลสูงสุดประจำประเทศสเปน มีแฟนบอลติดตามอยู่ทั่วโลก จากความสำเร็จตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในวงการฟุตบอล ของทีมชั้นนำของลีก ทั้ง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด และเซบีญา รึเปล่า?
ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ลาลีก้า กลายเป็นลีกฟุตบอล ที่มีมูลค่าเติบโตมากที่สุดลีกหนึ่งของโลก จากรายงานล่าสุด ที่ได้สรุปผลประกอบการ ทางการเงินของลาลีก้า ในฤดูกาล 2017/18 ที่ผ่านมา
จากรายงานที่ออกมา ลาลีก้าได้ทำลายสถิติของตัวเอง ทั้งรายรับของลีก, กำไรของลีก, มูลค่าแบรนด์, มูลค่าทางการ เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ สำหรับลีกฟุตบอลจากแดนกระทิงดุ เพราะย้อนไปในปี 2012 ฟุตบอลลีกนี้ ยังขาดทุนมากถึง 125 ล้านยูโร
Main Stand จะพาไปดูว่า ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเติบโตของลาลีก้าในเชิงธุรกิจ พวกเขาเติบโตขึ้นมากแค่ไหน และมีกลยุทธ์ใดในการสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ของตัวเอง จนก้าวขึ้นมาเป็นลีกฟุตบอล มูลค่าสูงกว่าพันล้านในปัจจุบัน
อดีตที่เลวร้าย
พูดถึงลาลีก้า สิ่งแรกที่แฟนบอลนึกถึง ย่อมหนีไม่พ้น บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด สองสโมสรคู่ปรับ ประจำลาลีก้า ที่ประสบความสำเร็จ ในวงการฟุตบอลมายาวนาน
แต่ในขณะที่มาดริดและบาร์ซ่า ประสบความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม สโมสรอื่นในแดนกระทิงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ผลพวงจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจสเปน ความมั่นคงทางการเงินของหลายสโมสร พังครืน หลายสโมสรกลายเป็นหนี้ เช่น แอตเลติโก มาดริด ที่ติดหนี้ 180 ล้านยูโร ในปี 2011 บางสโมสรแย่หนักถึงขั้นถูกสั่งยุบทีม เช่น อูเด สลามังกา ในปี 2013
หลายทีมต้องขายนักเตะออกจากทีม เพื่อพยุงสถานภาพสโมสร โดยเฉพาะทีมเล็กๆ แม้กระทั่งไทยลีก ยังได้รับอานิสงค์นี้ ผู้เล่นหลายคน เลือกหนีความไม่มั่นคงจากลีกสเปน ย้ายมาเล่นในไทย ทั้ง ออสมาร์ อิบันเญซ, ดาบิด โรเชลา หรือการ์เมโล กอนซาเลซ ทั้งที่ความเป็นจริง ผู้เล่นเหล่านี้ ยังสามารถเล่นในยุโรป หรือในสเปนต่อไปได้อีกหลายปี
ขณะที่รายได้ของลีกกระจุกอยู่ที่บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด ซึ่งผูกขาดรายได้การถ่ายทอดสดในประเทศ ไว้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จากรายได้ทั้งหมด
ใช้ของดีให้เป็นประโยชน์
ลาลีก้า จำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ลีกฟุตบอลของพวกเขาดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง
หากมีของดีอยู่ในมือ และไม่ใช้เป็นประโยชน์ ก็ไม่เกิดผลดีอะไร ทั้งที่บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด มีแฟนบอลจำนวนมากอยู่ทั่วโลก
สิ่งที่ลาลีก้า มองข้ามมาโดยก่อนหน้านี้ คือการโปรโมตสร้างฐานแฟนคลับนอกประเทศ ทั้งที่ลาลีกามีวัตถุดิบชั้นเลิศ สิ่งที่ลาลีก้าจำเป็นต้องทำ คือใช้สองทีมฟุตบอลชื่อดัง เพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับลีก ด้วยการเจาะตลาดต่างประเทศ
ซึ่งวิธีที่ทำให้แฟนบอลต่างชาติสามารถเข้าถึงลีกได้ คือการจัดทัวร์ฟุตบอล ช่วงปรีซีซั่น เพื่อให้แฟนบอลต่างประเทศได้มีโอกาสสัมผัสทีมฟุตบอลระดับโลก และนักเตะซุเปอร์สตาร์ตัวเป็นๆ
ไทย, มาเลเซีย, ฟินแลนด์, กาตาร์, กรีซ, สวีเดน, สหรัฐอาหรับเอมิเรต์, ยูเครน คือตัวอย่างประเทศทั่วโลก ที่บาร์ซาและมาดริด เดินทางไปอุ่นเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่ลาลีกาหมายมั่นจะเจาะตลาดจริงจัง โดยทีมราชันชุดขาว ได้เป็นตัวแทนของฟุตบอลลีกสเปน ไปอุ่นเครื่องที่แดนมะกัน มา 9 ฤดูกาลติดต่อกัน
กระทั่งล่าสุดทางลาลีก้า รับทรัพย์กว่า 232 ล้านยูโร กับการทำดีล เอาแมตช์การแข่งขันของลาลีก้า ไปเล่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และหวังก้าวขึ้นเป็นลีกฟุตบอลอันดับ 1 ของคนสหรัฐอเมริกาในอนาคต
ปัจจุบัน ลาลีก้าได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 5,089 ล้านยูโร สูงกว่ากัลโช เซเรีย อา อิตาลี และบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 4,400 และ 4,090 เป็นรองเพียงแค่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 7,660 ล้านยูโร
ขณะเดียวกัน รายได้จากสปอนเซอร์ของลาลีก้า เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในฤดูกาล 2011/12 ที่ได้รับอยู่ที่ 493 ล้านยูโร เติบโตขึ้นเกือบ 2 เท่า ด้วยรายรับจากสปอนเซอร์ 965 ล้านยูโร ในฤดูกาล 2017/18
รายได้หลักจากค่าลิขสิทธิ์
นอกเหนือไปจากสโมสรฟุตบอลชื่อดัง และนักเตะซูเปอร์สตาร์ ลาลีก้ายังขึ้นชื่อในแง่ของรูปการเล่น ด้วยฟุตบอลเกมรุกที่สวยงาม เน้นเทคนิคกับการต่อบอลเท้าสู่เท้า ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากฟุตบอลลีกอื่น และลาลีก้านำจุดนี้ เป็นอีกส่วนของจุดขาย ผ่านค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์
นอกจาก เรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา ทีมร่วมลีกอย่าง แอตเลติโก มาดริด, เซบีญา, บาเลนเซีย หรือบีญาเรอัล ล้วนเป็นทีมชั้นนำ และทำผลงานได้ดีในเวทียุโรป ทำให้มีแฟนบอลคอยติดตาม ดูผลงานของทีมเหล่านี้อยู่ตลอด
ปัจจุบันลาลีก้า มีสิขสิทธิ์ถ่ายทอดทางทีวีอยู่ถึง 99 ประเทศทั่วโลก กับผู้ชมมากว่า 650 ล้านคนต่อปี รวมทั้งจับมือกับเว็บสตรีมทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มช่องทางการติดตามของลีก ให้แฟนบอลสามารถติดตามได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงแพ็คเกจที่หลากหลาย ให้ตอบโจทย์กับแฟนฟุตบอลในทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ลาลีกา ยังลงทุน เรื่องของนวัตกรรมใหม่ ในการถ่ายทอดสด เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับลีก เช่นเทคโนโลยีกล้อง 360 องศา
ช่องทางการติดตามที่หลากหลายมากขึ้น กระจายไปทั่วโลก เท่ากับเป็นการเพิ่มฐานแฟนบอล ที่สามารถเข้ามาติดตามลีกได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ในฤดูกาลที่ผ่านมา ลาลีก้า ได้รับค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์สูงถึง 1,516 ล้านยูโร เป็นรายรับที่สูงที่สุดของลาลีก้า ซึ่งสูงกว่าลีกเอิง ฝรั่งเศส ที่ได้รับค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์อยู่ที่ 726 ล้านยูโร ถึง 2 เท่าตัว
และสูงกว่ากัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี และบุนเดสลีกา เยอรมัน แบบไม่เห็นฝุ่น ซึ่งทั้งสองลีกได้รับรายได้อยู่ที่ 973 ล้านยูโร และ 1,100 ล้านยูโร ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของลาลีก้า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากในฤดูกาล 2011/12
ได้รับรายได้อยู่ที่ 728 ล้านยูโร เติบโตขึ้นแตะหลักพันล้านยูโร ในฤดูกาล 2015/16 ด้วยรายรับ 1,008 ล้านยูโร ก่อนพุ่งสูงมากกว่า 1,500 ล้านยูโร ในฤดูกาลที่ผ่านมา
การลงทุนสิ่งสำคัญ
การสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ ในบางครั้ง จุดเริ่มต้นต้องมาจากการลงทุนอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างรายได้ตอบแทนในระยะยาว
ลาลีก้า ในฤดูกาล 2017/18 ที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนในการสร้างความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งสิ้น 1,082 ล้านยูโร เพื่อตอบรับให้เข้ากับเทรนด์ของโลกฟุตบอลที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบัน การชมฟุตบอลในสนาม ไม่ได้เป็นแค่การดูฟุตบอลเท่านั้น แต่เหมือนการท่องเที่ยวไปในตัว ฟุตบอลลาลีก้า ถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมาย ที่ดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เดินทางไปที่ประเทศสเปน โดยเฉพาะการชม เอล กลาสิโก ระหว่างบาร์เซโลนา กับเรอัล มาดริด
โอเคล่ะ แม้ค่าเฉลี่ยผู้ชมของลาลีกาจะตกอยู่ที่ 26,000-28,000 คน ในช่วงหลายฤดูกาลที่ผ่านมา แต่มูลค่ารายรับในวันที่มีการแข่งขันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูกาล 2017/18 ลาลีก้าทำรายได้ในจุดนี้ไป 782 ล้านยูโร
อาจไม่ใช่ตัวเลขที่เยอะ หากเทียบกับการลงทุน แต่ถ้าย้อนมองไปในอดีต รายได้จากวันที่มีเกมการแข่งขัน มีตัวเลขที่สูงมาตั้งแต่ในอดีต ย้อนไปในฤดูกาล 2011/12 ลาลีก้า รับรายได้จากวันที่มีการแข่งขันที่ 599 ล้านยูโร
เมื่อมองดูตัวเลขค่าเฉลี่ยคนดู ที่อาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่รายได้ตรงนี้เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าพอใจ เพราะนักท่องเที่ยว หรือแฟนบอลที่มาจากต่างชาติ ไม่ได้เข้ามาชมการแข่งขันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเสียค่าใช้จ่ายอื่น ทั้งค่าสินค้าที่ระลึก เครื่องแต่งกาย อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงที่พัก
จุดนี้เอง ถือเป็นการกระตุ้น และการสร้างรายได้ ให้กับประเทศสเปนด้วยเช่นกัน จากในปี 2013 มีชาวสเปนทั้งสิ้น 146,309 คนที่ทำงานร่วมกับลาลีก้า เพิ่มขึ้นเป็น 185,000 คน ในปี 2018 มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ หากย้อนเทียบกับเมื่อปี 2013
จากปี 2012 ที่ลาลีก้าขาดทุน 125 ล้านยูโร มีรายรับเพียง 2,229 ล้านยูโร เวลาผ่านไป 6 ปี ลาลีก้า มีรายได้รับรวมเพิ่มขึ้น สูงถึง 4,479 ล้านยูโร ในปี 2018 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่รับรายได้ 3,713 ล้านยูโร อยู่ 20.6 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกันกำไรสุทธิของลาลีก้า เพิ่มขึ้นเป็น 189 ล้านยูโร ถือว่ามีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 300 ล้านยูโร จากในวันที่ติดลบ เมื่อปี 2012
หากเปรียบเทียบกับลีกฟุตบอลชั้นนำ ลาลีก้า ประสบความสำเร็จมากกว่าบุนเดสลีกา ที่มีกำไร 128 ล้านยูโร ในขณะที่กัลโช เซเรีย อา และ ลีกเอิง ล้วนมีผลประกอบการขาดทุน ที่ติดลบ 156 ล้านยูโร และติดลบ 176 ล้านยูโรตามลำดับ โดยในปัจจุบัน ลาลีก้าเป็นรองเพียงแค่ พรีเมียร์ ลีก ซึ่งได้กำไร 330 ล้านยูโร
ลาลีก้ายังคงมีความทะเยอทะยาน ที่จะเติบโตทางธุรกิจต่อไป แม้ปัจจุบันการเติบโตด้านรายได้ของลาลีก้าจะเติบโตรวดเร็วกว่า GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) ของประเทศสเปนถึง 5 เท่า แต่เป้าหมายของลาลีก้า คือการเป็นลีกฟุตบอลอันดับ 1 ของโลก
จากความสำเร็จถึงการเติบโตที่ผ่านมาตลอด 6 ปี ของลาลีก้า จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในอีก 6 ปีหลังจากนี้ ลีกสูงสุดของประเทศสเปน จะเพิ่มมูลค่าของลีกได้มากเพียงใด
#SportExploring #เพราะกีฬามีมากกว่าแค่เรื่องการแข่งขัน #ฟุตบอลต่างประเทศ #ฟุตบอลสเปน #ลาลีก้า #LaLiga
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ของเรา ฝากกดติดดาว ⭐️ ให้กับ Main Stand
และติดตามเราผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ดังนี้ :
YouTube : Mainstand TH
Blockdit : Main Stand
โฆษณา