19 พ.ค. 2019 เวลา 03:14 • ธุรกิจ
จีนเห็นอะไรจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย...
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังร้อนแรงขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงสงครามทางการค้าธรรมดา แต่ลึก ๆ แล้วสหรัฐเพียงต้องการหยุดยั้ง “หัวเว่ย” ซึ่งเดาไม่ยากเลยว่าเพราะอะไร แต่สิ่งที่น่าศึกษาคือ หัวเว่ย ทำอย่างไรถึงก้าวมาอยู่ในจุดที่สามารถต่อกรกับเทคโนโลยีของอเมริกาได้
ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และมีอารยธรรมยาวนานกว่า 5000 ปี แต่นับจากสงครามฝิ่นเป็นต้นมา จีนกลับไม่เคยสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใด ๆ เลย
ในยุคของสงครามฝิ่นชาวจีนค่อนประเทศถูกมอมเมาด้วยสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับราชอาณาจักรอังกฤษ และการเข้ามาแก้ปัญหานี้ของทางการจีนกลับเป็นการเปิดโอกาสให้อังกฤษใช้เป็นข้ออ้างในการส่งเรือรบอันทันสมัยเข้าโจมตีจีน
สงครามจบลงด้วยการเซ็น 'สนธิสัญญาหนานจิง' ที่บังคับจีนให้อนุญาตชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากจีนอย่างเสรี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าอัปยศที่สุดช่วงหนึ่งของชาวจีนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมี 'สนธิสัญญากว่างตง' และ 'สนธิสัญญาปักกิ่ง' ที่ทำให้ประเทศจีนต้องสูญเสียดินแดนในส่วนของเกาะฮ่องกงและเอกราชบนเกาะเกาลูนไปอีก
ถึงสงครามจะจบลงแต่ชาวจีนหลายสิบล้านคนยังคงติดฝิ่น เศรษฐกิจของจีนในเวลานั้นถูกทำลายจนย่อยยับ และราชวงศ์ชิงก็เข้าสู่สภาวะแห่งการล่มสลายในช่วงเวลานั้น
ผลจากสงครามฝิ่นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในจีน และตามมาด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศ เหมา เจ๋อตง ผู้นำในยุคนั้นพยายามขุดรากถอนโคนรากเหง้าของตัวเอง เพื่อสร้างวัฒนธรรมของชาติขึ้นมาใหม่แต่ก็ไปไม่รอด บ้านเมืองเกิดความสับสนวุ่นวายและบอบช้ำเป็นอย่างมาก
เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำที่พลิกโฉมประเทศจีน
แต่หลังจากการขึ้นครองอำนาจของ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์ จีนก็เริ่มฟื้นฟูประเทศเพื่อก้าวให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคทองของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
ช่วงนั้นเองเมืองใหญ่ในตะวันออกกลางที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันกลายเป็นสมรภูมิทดสอบอาวุธและเทคโนโลยีของชาติมหาอำนาจ สงครามยืดเยื้อนับสิบปีสุดท้ายสหรัฐนำเครื่องมือรบอันทันสมัยเข้าไปจัดการอีรัก
โดยมีภาพจากกล้องบนเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐระหว่างกำลังปฏิบัติการพายุทะเลทรายถ่ายทอดไปทั่วโลกโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ทำให้สงครามครั้งนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สงครามวิดีโอเกม
จากสงครามอ่าวเปอร์เชียที่ทำลายล้างกันด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและระบบการติดต่อสื่อสารอันทันสมัย มีข่าวว่าการที่อเมริกาสามารถทิ้งระเบิดได้แม่นยำ เพราะเครื่องถ่ายเอกสารที่กองทัพอีรักเลือกใช้ถูกซ่อนตัวส่งสัญญาณบางอย่างไว้เพื่อส่งข้อมูลไปให้ฐานทัพสหรัฐ
ถ้าใครอยู่ในวงการอิเล็กทรอนิกส์คงพอจะทราบว่า ชิปบางตัวสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง 2 พันล้านตัว การที่จะทำให้ไม่กี่ตัวที่ทำงานอย่างลับ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องยาก และการทดสอบเพื่อหาความผิดปกตินั้นต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
จากสงครามที่เอาชนะกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารครั้งนั้นสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่กำลังพาชาติกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในเวทีโลกอีกครั้ง เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนในตอนนั้นจึงรีบประกาศยุทธศาสตร์การสร้างชาติด้วยเทคโนโลยีขึ้นมาทันที
จากยุทธศาสตร์ครั้งนั้นทำให้ปัจจุบันเราได้เห็นบริษัททางเทคโนโลยีของจีนก้าวขึ้นมาผงาดในเวทีโลกมากมาย
และหนึ่งในนั้นคือหัวเว่ย บริษัทด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้ผู้นำในกรุงวอชิงตันเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อทราบว่า หัวเว่ย ก่อตั้งโดยนายทหารปลดประจำการในวัย 44 ปี จึงทำให้หัวเว่ยถูกจับตาทันที
แต่ด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้หรือที่ทำให้ หัวเว่ย ถูกจับตา หัวเว่ยเป็นของใครกันแน่ และทำอย่างไรเขาจึงพาหัวเว่ยมาถึงจุดที่สามารถต่อกรกับเทคโนโลยีของอเมริกาได้
ติดตามได้ในซีรีชุดใหม่ “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ในเพจ pordee แห่งนี้นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา