26 พ.ค. 2019 เวลา 10:32
Brave New Work ตอนที่ 3 – เชื่อมั่นในมนุษย์
เป็นไปได้มั้ยที่บริษัทที่มีพนักงาน 14,000 คน จะมีสำนักงานใหญ่ที่มีคนแค่ 50 คน?
1
ผู้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามบ้านในเนเธอร์แลนด์อย่าง Buurtzorg นั้นทำได้
1
เหุตผลเดียวที่สำนักงานใหญ่ใช้คนน้อยเช่นนี้ เพราะเขาปล่อยให้ทีมพยาบาลหมื่นกว่าคนดูแลกันเอง
ในเนเธอร์แลนด์เป็นเรื่องปกติที่พยาบาลแวะไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยสูงอายุถึงที่บ้าน แต่กระบวนการนั้นราวกับโรงงาน คือใช้ระบบที่ optimized ที่สุด พยาบาลทุกคนทำงานแทนกันได้ ในแต่ละปีผู้ป่วยจึงอาจได้เจอพยาบาลนับร้อยคนที่ไม่ซ้ำหน้ากันเลย
แม้จะมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถสร้างความผูกพันระหว่างผู้ป่วยและพยาบาลได้ ซ้ำยังขาดความเป็นมนุษย์เสียอีก
Buurtzorg คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการซอยทีมพยาบาลเป็นทีมละ 10-12 คน และให้แต่ละทีมดูแลชุมชนหนึ่งไปเลย โดยทีมพยาบาลมีสิทธิ์คิดได้เองว่าจะดูแลผู้ป่วยอย่างไร เช่นนอกจากให้ยาผู้ป่วยแล้ว พยาบาลอาจจะแวะไปกินกาแฟกับเพื่อนบ้านของผู้ป่วยเพื่อสอบถามว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้นมั้ย
วิธีการนี้ทำให้พยาบาลที่ Buurtzorg แฮปปี้มากเพราะเขาได้มีเวลารู้จักกับผู้ป่วยอย่างแท้จริง แถมยังสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะอันหลากหลายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยตัวเองได้ด้วย
Buurtzorg ได้รับการโหวตเป็นหนึ่งในองค์กรที่คนอยากทำงานมากที่สุดอยู่เสมอ แถมยังใช้เงินประหยัดกว่าวิธีการแบบเก่า 30% และมีรายได้ถึงปีละ 350 ล้านยูโร
องค์กรอย่าง Buurtzorg นั้นมีอยู่ทั่วโลก โดยผู้เขียนขอเรียกชื่อองค์กรเหล่านี้ว่าองค์กรวิวัฒน์หรือ Evolutionary Organizations ซึ่งมักจะทำในสิ่งที่องค์กรทั่วไปคิดว่าเป็นไปไม่ได้
องค์กรวิวัฒน์นั้นตัดสินใจดีกว่าและรวดเร็วกว่า จัดสรรรทรัพยากรโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบน จัดทีมและแตกทีมได้ด้วยตัวเอง คิดค้นวิธีการทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ ขยายธุรกิจโดยไม่สูญเสียวัฒนธรรมองค์กร ทำงานน้อยชั่วโมงแต่งานเสร็จมากกว่า ดูแลสิ่งแวดล้อมแต่ก็ยังมีกำไรเหนือคู่แข่ง
องค์กรวิวัฒน์ทั้งหลายนั้นมีจุดร่วมอยู่สองอย่าง คือพวกเขา “เชื่อมั่นในมนุษย์” (People Positive) และ “ตระหนักในความซับซ้อน” (Complexity Conscious)
เชื่อมั่นในมนุษย์ – People Positive
FAVI คือโรงหล่อชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในฝรั่งเศส
ในปี 1983 ที่ Jean-Francois Zobrist เข้ามารับตำแหน่ง CEO ใหม่ๆ FAVI นั้นไม่ต่างจากโรงงานอื่นๆ ทุกคนต้องตอกบัตรเข้า-ออก มาสายห้านาทีก็จะโดนหักเงินเดือนห้านาที หน้าร้อนไม่อนุญาตให้เปิดแอร์แถมยังต้องปิดหน้าต่างเพื่อช่วยประหยัดไฟในการผลิต แค่จะเบิกถุงมือยังต้องขออนุมัติจากหัวหน้างาน
ในวันแรกที่เขาได้เป็น CEO โซบริสท์จึงประกาศกับพนักงานทุกคนว่า
“จากพรุ่งนี้เป็นต้นไป พวกคุณไม่ได้ทำงานให้ผมหรือให้หัวหน้าแล้ว แต่คุณต้องทำงานให้ลูกค้าเพราะเค้าเป็นคนจ่ายเงินเดือนให้คุณ ขอให้พวกคุณทำสิ่งที่คิดว่าเหมะสมและจำเป็นสำหรับลูกค้าก็แล้วกัน”
FAVI เริ่มแบ่งตัวเองเป็นโรงงานขนาดย่อม (minifactories) นับสิบโรงงาน ไม่มีการตอกบัตร ไม่มีเป้าการผลิต ไม่มีหัวหน้า มีแค่เพียงพันธสัญญาที่จะทำเพื่อลูกค้าและเพื่อเพื่อนร่วมงาน เดี๋ยวนี้พนักงานสามารถซื้อเครื่องมือใหม่ได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ และไม่เคยส่งมอบงานล่าช้ามา 25 ปีแล้ว
เหตุผลก็เพราะว่าแต่ละทีมใน FAVI นั้นสามารถควบคุมงานของตัวเองได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ (end-to-end control) การส่งมอบให้ตรงเวลาไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นมารยาทสำหรับการอยู่ร่วมกัน (on-time delivery is not a goal but a social expectation)
ในขณะที่คู่แข่งเอาท์ซอร์สงานไปที่ประเทศจีนกันหมดแล้ว FAVI ยังคงผลิตทุกชิ้นส่วนด้วยตัวเองแถมยังส่งออกไปประเทศจีนได้อีกต่างหาก
ทฤษฎี X หรือ ทฤษฎี Y
คุณเป็นคนแบบไหน?
X) ฉันไม่ชอบทำงานและอยากจะหลีกเลี่ยงมันให้มากที่สุด
Y) ฉันคิดว่าการทำงานนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์และการทำงานช่วยเติมเต็มฉันได้
คนส่วนใหญ่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนแบบ Y
แต่ถ้าเราถามว่า เรามองพวกพนักงานหน้าร้าน สาวโรงงาน หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศว่าเป็นคนแบบไหน เรามักจะมองว่าคนเหล่านั้นเป็นพวก X ที่พร้อมจะอู้งานได้ทุกเมื่อ
ในปี 1960 Douglas McGregor ได้เสนอ Theory X และ Theory Y ขึ้นมา
บริษัทส่วนใหญ่เชื่อใน Theory X และคิดว่าคนเราต้องถูกขับเคลื่อนด้วยรางวัลและการลงโทษ พวกเขามีสมมมติฐานว่าคนปกติจะไม่ยอมทำงานจนกว่าจะมีอะไรมาล่อ
ถ้าผู้บริหารใช้คำว่า “ผลตอบแทน”, “ควบคุม”, “กำกับ” “บังคับใช้” อยู่บ่อยๆ ก็มีแนวโน้มว่าองค์กรนั้นบริหารคนตาม Theory X อยู่
ส่วนบริษัทส่วนน้อยอย่าง FAVI และ Buurtzorg ทำตาม Theory Y ที่เชื่อว่าคนเรามีความปรารถนาที่จะบรรลุศักยภาพของตัวเอง (บันไดขั้นสูงสุดของมาสโลว์)
องค์กรวิวัฒน์เชื่อว่าคนเราไว้ใจได้และอยากเป็นที่เคารพ ถ้าเราสามารถมอบ autonomy หรืออิสระที่ให้คนได้คิดและทำอะไรด้วยตัวเอง พวกเขาก็จะมี motivation ที่จะทำงานออกมาให้ดีโดยที่เราไม่ต้องมีรางวัลหรือบทลงโทษใดๆ
องค์กรที่ People Positive นั้นเชื่อว่ามนุษย์เป็นเหมือนกิ้งก่าที่พร้อมตัวปรับไปตามสภาพแวดล้อม เราปฏิบัติต่อเขาอย่างไร เขาก็จะทำตัวอย่างนั้น ถ้าองค์กรหัวหมอกับเขา เขาก็จะหัวหมอกับองค์กร ถ้าองค์กรไม่ไว้ใจเขา เขาก็จะทำตัวให้ไม่น่าไว้ใจ แต่ถ้าองค์กรปฏิบัติกับเขาเหมือนทีมรวมดารา พวกเขาก็อาจจะกลายเป็นทีมรวมดาราขึ้นมาจริงๆ
ตระหนักในความซับซ้อน – Complexity Conscious
คำว่า Complex กับ Complicated ต่างกันอย่างไร?
1
สองคำนี้ถ้าแปลเป็นไทยก็คงแปลว่า “ซับซ้อน” หรือ “ยากแก่การเข้าใจ” เหมือนๆ กัน แม้แต่ฝรั่งส่วนใหญ่ก็อาจรู้สึกว่าสองคำนี้ใช้ทดแทนกันได้
คุณคิดว่าเครื่องยนต์ในรถนั้น complicated หรือ complex?
ครึ่งนึงอาจจะตอบว่า complicated ส่วนอีกครึ่งนึงจะตอบว่า complex
แล้วการจราจรล่ะ complicated หรือ complex?
ชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วใช่มั้ยว่าสองคำนี้เหมือนกัน?
ในวิชา Systems Theory หรือทฤษฎีระบบนั้น สองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันชัดเจน
เครื่องยนต์ในรถนั้น complicated โดยระบบที่ complicated นั้นเป็นระบบแบบ causal system แม้จะมีส่วนประกอบหลายชิ้น แต่ส่วนประกอบแต่ละชิ้นจะปฏิสัมพันธ์กันอย่างคาดเดาได้
ปัญหาในระบบที่ complicated นั้นมีทางแก้ไขที่ชัดเจน
ส่วนการจราจรนั้นเป็นระบบที่ complex ที่ไม่ได้เป็น causal system แต่เป็น dispositional system
disposition แปลว่าแนวโน้มที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง
ระบบที่ complex นั้นเราไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่ามันทำงานอย่างไร เราอาจจะพอคาดเดาได้บ้างแต่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ 100%
ปัญหาของระบบ complex นั้นแก้ไม่ได้แต่จัดการได้ ควบคุมไม่ได้แต่ผลักดันได้ (Complex problems cannot be solved, only managed. They cannot be controlled, only nudged)
ระบบ complex เป็นเหมือนทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก ที่ในบางทีการเปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียวก็สร้างผลกระทบที่รุนแรงได้ หรือในบางทีการลงแรงมากมายกลับแทบไม่ส่งผลใดๆ
ในระบบที่ complex นั้น สิ่งที่สำคัญกว่าองค์ประกอบก็คือความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ที่องค์ประกอบเหล่านั้นมีต่อกันและกัน ถ้าปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เราคาดเดาไม่ได้ นั่นแปลว่าเราอาจกำลังเจอระบบที่ complex อยู่
Software นั้น complicated ส่วนการสร้าง software startup นั้น complex
เครื่องบินนั้น complicated แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสารบนเที่ยวบินนั้น complex
ปืนไรเฟิลนั้น complicated ส่วนกฎหมายควบคุมการใช้ปืนนั้น complex
1
ฉันใดฉันนั้น แม้งานต่างๆ ในองค์กรของเราจะ complicated แต่ตัวองค์กรเองเป็นระบบที่ complex
1
เมื่อเราปฏิบัติต่อปัญหาที่ complex ราวกับว่ามันเป็นปัญหาที่ complicated เราจึงไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ต่อให้ทำ re-org กี่หน ส่งหัวหน้าทีมเข้าไปเทรนเรื่อง leadership ซักกี่คอร์ส หรือปลูกฝังค่านิยมองค์กรด้วยการแปะโปสเตอร์ซักกี่ใบแต่ผลลัพธ์ก็ไม่ค่อยกระเตื้อง
ผู้นำองค์กรแบบเก่ามักคิดว่า “ถ้าพนักงานทุกคนเพียงทำตามที่ผมบอก เราก็จะบรรลุเป้าหมายได้”
ในขณะที่ผู้นำองค์กรวิวัฒน์จะรู้ซึ้งว่านี่คือระบบที่ complex และควบคุมไม่ได้ เขาจึงจะบอกกับตัวเองว่า “ถ้าเราสามารถสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ดีได้ ทุกๆ คนก็จะหาทางบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง”
สมมติว่าคุณเป็น CEO ของบริษัทที่ค่าเดินทางเกินงบไปมาก คุณจะแก้ปัญหาอย่างไร?
วิธีแรกคือแก้แบบไฟจราจร เขียนนโยบายขึ้นมาว่าการเดินทางแต่ละประเภทใช้งบได้ไม่เกินเท่าไหร่ บังคับให้หัวหน้าอนุมัติการเดินทางทุกครั้ง พาร์ทเนอร์กับระบบจองตั๋วที่คัดให้แต่สายการบินและโรงแรมราคาถูก และอาจจะตั้งคณะกรรมการคอยตรวจสอบใครก็ตามที่ทำผิดกฎระเบียบ
วิธีที่สองคือแก้ปัญหาแบบวงเวียน แชร์ข้อมูลค่าเดินทางของทุกคนหรือทุกทีมให้ทั้งองค์กรเห็น แชร์ให้ดูว่าในอดีตที่ผ่านๆ มาเราใช้เงินค่าเดินทางกันอย่างไรบ้าง และบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันใช้งบส่วนนี้เยอะแค่ไหน ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพราะมันจะช่วยให้บริษัทมีกำไรที่ดีขึ้น เปิดห้องให้คนเข้ามาแชร์ tips & tricks ในการเซฟคอสท์เรื่องค่าเดินทาง CEO ทำตัวให้เป็นแบบอย่าง แล้วรอดูว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง
สำหรับผู้นำแบบเก่า ทุกอย่างเป็นเหมือนโรงงาน ทุกปัญหาแก้ได้ถ้าเราลงแรงมากพอ แต่การทำงานแบบ bureaucracy ที่ทุกอย่าง top down นั้นไม่อาจต่อกรกับความ complex ของโลกธุรกิจได้หรอก
เมื่อเราเผลอคิดว่าระบบที่ complex นั้น complicated เราก็จะต้องผิดหวังอยู่ร่ำไปที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ดั่งใจเลย
กล้าๆ หน่อย – Being Brave
บางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ Dick Fosbury ที่เปลี่ยนกีฬากระโดดสูงไปตลอดกาล
ก่อนปี 1968 ผู้เข้าแข่งขันการกระโดดสูงล้วนใช้ “ท่าปกติ” คือกระโดดแบบหันหน้าและยกขาให้สูงที่สุดเพื่อให้ข้ามไม้ที่คั่นเอาไว้
ในกีฬาโอลิมปิก 1968 ฟอสบิวรี่คว้าเหรียญทองด้วยท่ากระโดดสูงแบบใหม่ที่ขัดกับสามัญสำนึกสุดๆ นั่นคือกระโดดถอยหลังแล้วเอาหัวข้ามไม้ไปก่อน
ท่ากระโดดแบบใหม่นี้ได้รับฉายาว่า Fosbury Flop และนับตั้งแต่นั้นมานักกีฬากระโดดสูงที่ทำสถิติโลกทุกคนล้วนแต่ใช้ท่านี้
สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ ก่อนการแข่งขันโอลิมปิกคราวนั้น เพื่อนร่วมทีมของฟอสบิวรี่ได้พยายามเลียนแบบท่านี้มาร่วมสองปีแต่ก็ไม่มีใครทำได้ พวกเขาเลยเชื่อว่าท่านี้เวิร์คสำหรับฟอสบิวรี่คนเดียวเท่านั้น
เวลาที่ผู้เขียนเล่าเรื่ององค์กรวิวัฒน์ให้องค์กรอื่นๆ ฟัง ส่วนใหญ่ก็ล้วนมีปฏิกิริยาที่คล้ายคลึงกัน
“วิธีแบบนั้นเวิร์คกับ Buurtzorg ที่อยู่ในยุโรปแต่ไม่มีทางเวิร์คกับเราหรอก”
“Netflix เป็น tech company เค้าก็เลยทำได้ไง”
“ไม่รู้ว่าธนาคาร Handelsbanken ทำอย่างนั้นได้ยังไง ถ้ามาทำในประเทศนี้รับรองว่าโดนแบงค์ชาติเล่นแน่ๆ”
ทำไมเราถึงปฏิเสธวิธีใหม่ๆ ทั้งๆ ที่มันดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด?
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า status quo bias หรือแนวโน้มที่เราจะยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว
401(k) ของอเมริกานั้นอารมณ์คล้ายๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบ้านเรา ถ้าเราถามพนักงานว่าจะกดสมัครมั้ย จะมีคนสมัครแค่ 34%
แต่ถ้ากล่องสมัครนั้นถูกติ๊กอยู่ก่อนแล้ว และปล่อยให้พนักงานเอาเครื่องหมายติ๊กออกเองถ้าไม่อยากสมัคร ผลลัพธ์ก็คือจะมีคนสมัคร 401(k) นี้ถึง 90%
แม้ว่าเราจะเชื่อว่าเราเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุมีผล แต่แท้จริงแล้วสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลกับพฤติกรรมมากกว่าที่เราคิด
การทำงานของพวกเราก็มี status quo bias เช่นกัน เมื่อเจอปัญหาอะไรเราจึงมักแก้ด้วยวิธีเดิมๆ หาหัวหน้าที่เก่งขึ้น! ทำองค์กรให้แฟลตลง! ทำบัดเจ็ทให้เข้าใจง่ายขึ้น! แต่วิธีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นซักเท่าไหร่
Astro Teller เบอร์หนึ่งของ Google X (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Alphabet’s X ที่ทำแต่โปรเจ็คเว่อร์วังอลังการ) บอกว่าแทนที่จะทำอะไรให้ดีขึ้น 10% หลายครั้งมันอาจจะง่ายกว่าที่จะทำอะไรให้ดีขึ้น 10 เท่า
เพราะถ้าเราคิดแบบ 10% เราก็จะยังใช้วิธีการเดิมๆ ที่ผ่านการปรับปรุงมานับครั้งไม่ถ้วนจนแทบไม่มีอะไรเหลือให้ปรับปรุงแล้ว
แต่เมื่อคุณคิด 10 เท่า คุณต้องใช้ความกล้าหาญและความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมันอาจพาคุณไปได้ไกลถึงดวงจันทร์เลยทีเดียว
สิ่งสำคัญที่ผู้นำองค์กรควรจะระลึกอยู่เสมอก็คือ วิธีการทำงานของเรานั้นล้วนถูกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น (our way of working is completely made up) นี่ไม่ใช่วิธีที่มันควรจะเป็นหรือต้องเป็น มันเพียงถูกคิดและพัฒนาโดยคนที่มาก่อนเรา อะไรที่ดีเราก็เก็บเอาไว้ ส่วนอะไรที่ไม่เวิร์คเราก็ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว
นักสถิตินาม George Box เคยกล่าวไว้ว่า All models are wrong; some models are useful โมเดลทุกอันนั้นผิด แต่บางอันก็มีประโยชน์ ในเนื้อหาที่เราจะกล่าวถึงต่อจากนี้ ผมอยากให้คุณลองดูว่าอะไรบ้างที่มีประโยชน์กับคุณ คุณไม่จำเป็นต้องลองทุกอย่าง เพียงแต่ต้องทำให้มากพอที่จะช่วยให้องค์กรหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของ status quo เดิมๆ
คุณต้องพร้อมที่จะกระโดดหันหลังแล้วเอาหัวลงก่อน มีวิธีอีกมากมายที่คุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มต้นจากเล็กๆ แต่หนักแน่น
This is the chance to do the best work of your life – โอกาสที่จะทำผลงานที่ดีที่สุดในชีวิตมาถึงแล้ว
ดังนั้นจงอย่าลังเลอยู่เลย
โปรดติดตามตอนต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Brave New Work ของ Aargon Dignan
Brave New Work ตอนที่ 1 – บริษัทของเราเป็นไฟแดงหรือวงเวียน?.
Brave New Work ตอนที่ 2 – หนี้กรรมขององค์กร
โฆษณา