26 พ.ค. 2019 เวลา 23:27
“ทรงตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง”
กว่าจะสอบได้เป็นผู้พิพากษานั้น ต้องเรียนกฎหมายกันมาหลายปี (นิติศาสตร์ ๔ ปี, เนติบัณฑิต ๑ ปี เป็นอย่างน้อย)
จากนั้นทำงานเก็บประสบการณ์ด้านกฎหมาย เก็บตัวอ่านหนังสืออย่างจริงจังกันยาวๆ แต่ถ้าหากสอบได้แล้วก็คุ้มค่าสมเกียรติ สมกับที่ได้พยายามเต็มที่ เงินเดือนก็สมราคา
โดยเป็นที่ใฝ่ฝันของนักเรียนกฎหมายทุกคน
ภาพ tnew.com
ทว่าสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดของผู้พิพากษานั้นจะทำหน้าที่ตัดสิน
ในทางคดี เป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่า ...
"ผู้พิพากษาตัดสินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์"
แต่ท่านรู้ไหมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงประทับบัลลังก์ตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง (ในนามของพระองค์เอง) เป็นครั้งแรกใน วันที่ ๒๖ ม.ค. ๒๔๙๕ คดีแรกที่พระองค์ทรงตัดสินคือ “คดีลักโม่”
"โม่" คือ เครื่องบดข้าวสาร หรือเมล็ดพืชให้เป็นแป้ง ทำด้วยหิน มีลักษณะกลมแบนปลายเรียว ประกอบด้วย ๒ ส่วน ส่วนบนมีรูไว้หยอดสิ่งที่จะบด และมีมือจับเพื่อ หมุนให้โม่ทำงาน ส่วนล่างมีรางโดยรอบ ด้านหนึ่งมีช่องเปิดเพื่อให้ของที่บดไหลสู่ภาชนะรองรับ
ภาพเวป โรงเรียนบ้านหนองไผ่
ในห้องพิจารณาคดีที่ ๑๒ ของศาลอาญา
โดยมีนายเล็ก จุณนานนท์ เป็นโจทก์
นายแสวง แดงคล้าย เป็นจำเลย
ในข้อหาว่า “เมื่อวันที่ ๙ ม.ค. กับ วันที่ ๑๐ ม.ค.จำเลยได้
ลักโม่หิน ของนายกาญจน์ ตันวิเศษ ราคาจำนวน ๘๐ บาท เหตุเกิดที่คลองต้นไทร”
โดยเจ้าหน้าที่ได้เบิกตัวจำเลยมานั่งคอยอยู่ในห้องพิจารณาเพื่อรอศาลท่านขึ้นบัลลังก์ พิจารณาคดีของตน เช่นทั่วไป
ต่อมาเมื่อผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ให้ทุกคนยืนทำความเคารพศาล ตัวจำเลยคดีนี้ลุกขึ้นยืนและได้มองไป
ที่ผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ถึงกับตกใจ มือไม้สั่น ทำอะไรไม่ถูกเพราะผู้พิพากษาท่านนั้นมีใบหน้าเหมือนกับรูปภาพด้านหลังบัลลังก์ศาล ในหลวง ร.๙ นั้นเอง
จากนั้น ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือปฎิเสธ
จำเลยรีบตอบกลับไปว่า รับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหาทันที คดีนี้ศาลตัดสินจำคุก ๖ เดือน แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดเหลือ ๓ เดือน ประกอบกับการที่เป็นคดีแรกของจำเลยจึงรอลงอาญา ๒ ปีแล้วให้คืนโม่หินแก่เจ้าของ
นายแสวงจำเลย ดีใจเป็นล้นพ้นที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับบัลลังก์ตัดสินคดีของตน ซ้ำยังได้รับการทรงพระกรุณาให้รอลงอาญา จึงยกมือขึ้นท่วมหัวและสาบานว่า จะเป็นคนดีไม่ลักขโมยของใครอีกต่อไป
ภาพ BBC.com
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความเข้าใจกฎหมายอย่างลึกซึ้ง ทรงให้ความสนใจต่อกฎหมายและหลักความยุติธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งหนึ่งให้พสกนิกรอยู่ร่วมสังคมกันได้อย่างผาสุก
“...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย...”
พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่9
ทรงครุยเนติบัณฑิตไทย
ข้าพระพุทธเจ้าฯ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ที่มา เฟซบุ๊ก ราชบัลลังก์จักรีวงค์ ได้มีการโพสต์เรื่องราวซึ่งอ้างมาจาก หนังสือ เรื่องเก่า เล่าสนุก ของ : โรม บุนนาค เรียบเรียง : วาทิน ศานติ์ สันติ
#เรื่องนี้นักเรียนกฎหมาย จะมีติดตัวเสมอ
เป็นเรื่องเล่าของนักกฎหมาย น้อมรำลึกถึงในหลวง ร.9
โฆษณา