29 พ.ค. 2019 เวลา 14:59 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์การบินโลก
ตอนที่ 13 อาถรรพ์เลข 13
วันที่ 11 เมษายน ปี 1970 เป็นกำหนดการของภารกิจ อะพอลโล 13 ที่จะออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์
นับเป็นภารกิจที่ 3 ของมนุษย์ชาติในการลงจอดบนดาวดวงอื่น แต่กลับกลายเป็นอุบัติเหตุที่เกือบพรากชีวิตนักบินอวกาศทั้ง 3 นาย
บทความนี้จะพาย้อนไปดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ของอะพอลโล 13 และทีมงานที่ภาคพื้นโลกได้ช่วยภารกิจนี้อย่างไรกันบ้าง
ในตอนแรกนักบินอวกาศที่ถูกเลือกสำหรับภารกิจ อะพอลโล 13 ประกอบไปด้วย
ผู้บัญชาการ จิม เลิฟเวลล์ (Jim Lovell) หนึ่งในสามคนแรกที่ออกเดินทางไปดวงจันทร์เมื่อปี 1968 กับภารกิจ อะพอลโล 8
เฟรด ไฮส์ (Fred Haise) เป็น Lunar module Pilot (LMP)
และ เคน แมททิงลี่ (Ken Mattingly) เป็น Command module Pilot (CMP)
ซึ่งภารกิจนี้จะเป็นภารกิจแรกของไฮส์และแมตติงลี่
แชะภาพพร้อมลายเซ็น Cr. Pinterest
และในระหว่างการฝึกก่อนขึ้นบิน นาซ่ากำหนดทีมนักบินตัวจริงกับทีมตัวสำรองอีก 3 คน ซึ่งทีมตัวสำรองประกอบด้วย
จอห์น ยัง (John Young)
แจ็ค สวิเกิร์ต (Jack Swigert)
และ ชาร์ลส ดุ๊ก (Charles Duke)
ทั้งสามคนก็ได้ฝึกซ้อมไปพร้อมๆกัน และปัญหาก็เกิดขึ้นจากการที่ ดุ๊ก ดันไปติดโรคหัดเยอรมันจากลูกๆของเขา ทำให้ลูกเรือทั้งตัวจริงและตัวสำรองมีโอกาสติดโรคนี้ได้
ทีมแพทย์ต้องไปนั่งไล่เช็คประวัติลูกเรือทุกคน ก่อนจะพบว่า แมททิงลี่ คือคนเดียวที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ และเขานั้นเสี่ยงที่จะเป็นหัดเยอรมันระหว่างเดินทางไปดวงจันทร์
ซึ่งนาซ่านั้นไม่อาจปล่อยให้ลูกเรือป่วยในอวกาศได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวเขากับ สวิเกิร์ต นักบินยานควบคุมตัวสำรอง เพียง 3 วันก่อนที่อะพอลโล 13 จะออกเดินทาง
จากซ้ายไปขวา: ไฮส์, สวิเกิร์ต, เลิฟเวลล์
แต่แล้วแมททิงลี่ก็ไม่เคยได้เป็นหัดเยอรมัน และภายหลังเขาก็ได้ไปดวงจันทร์กับภารกิจอะพอลโล 16 พร้อมกับ ยัง และ ดุ๊ก ก๊วนลูกเรือตัวสำรองของภารกิจอะพอลโล 13 นี้เอง
จากซ้ายไปขวา: แมททิงลี่, ยัง, ดุ๊ก กับภารกิจอะพอลโล 16
Houston, we have a problem. ฮูสตัน เรามีปัญหาแล้ว…
ในวันที่ 14 เมษายน หลังจากปล่อยยานไปได้ราว 55 ชั่วโมง อะพอลโล 13 อยู่ห่างจากโลกราวๆ 330,000 กิโลเมตร
ซีมัวร์ ลีเบอร์กอต (Seymour “Sy” Liebergot) ทีมงานในห้องควบคุมบนโลกได้พบสัญญาณเตือนความดันต่ำในถังไฮโดรเจนของยานควบคุมโอดีสซี่ (Odyssey) พวกเขาจึงได้สั่งให้ลูกเรือเปิดสวิตช์คนถังไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยนี่เป็นขั้นตอนปกติที่ทีมภาคพื้นสั่งให้ลูกเรือทำ
Sy Liebergot
สองนาทีต่อมา ลูกเรือระบุว่าพวกเขาได้ยิงเสียงระเบิดที่ค่อนข้างดัง ไฟในยานตก และระบบขับดันทำงานขึ้นในทันที
ยานทั้งลำสั่นเหมือนถูกพุ่งชนด้วยอะไรบางอย่าง การสื่อสารกับโลกขาดหายไปประมาณ 2 วินาที
และหลังจากการสื่อสารกลับมาใช้ได้ ลูกเรืออะพอลโลจึงได้รายงานกับศูนย์ควบคุมว่า “ฮูสตัน, เรามีปัญหาแล้ว”
จากภาพยนตร์ Apollo 13 นำแสดงโดย Tom Hanks
ในขณะนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับยานกันแน่ รู้แค่ว่าถังออกซิเจนอ่านค่าออกมาเป็น 0 เซลล์เชื้อเพลิงที่สร้างพลังงานให้กับยานด้วยการผสมไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจนเองก็ถูกปิดลงเนื่องจากไม่มีออกซิเจนให้ใช้
ลูกเรือไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปิดยานควบคุมไปก่อน และหวังว่าจะสามารถเปิดมันกลับขึ้นมาใช้ได้ในภายหลัง ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในยานลงดวงจันทร์ ชื่อ อะควาเรียส (Aquarius) ซึ่งตอนนี้ได้กลายมาเป็นเรือชูชีพสำหรับภารกิจนี้แล้ว และแปลว่าอะพอลโล 13 จะไม่ได้ลงดวงจันทร์ไปโดยปริยาย
จากซ้ายไปขวา: ยานลงดวงจันทร์ (อะควาเรียส), ยานควบคุม (โอดีสซี่), ยานบริการ
แต่นั่นก็คงไม่สำคัญมากแล้ว เพราะตอนนี้พวกเขาต้องหาทางกลับมาให้ถึงโลกอย่างปลอดภัยเสียก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหลังจากที่ถังออกซิเจนระเบิด อะพอลโล 13 ก็ได้อยู่ไกลจากโลกเกินที่จะหันหัวกลับได้ในทันทีซะแล้ว
นาซ่าบอกให้พวกเขาใช้วิธี Free-return trajectory ซึ่งก็คือการใช้แรงดึงดูดของดวงจันทร์เหวี่ยงยานกลับสู่โลกนั่นเอง
Free-return trajectory
แน่นอนว่าวิธีนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากพลังงานบนยานกำลังลดลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีวิธีไหนที่อาจช่วยลูกเรือได้ดีกว่านี้อีกแล้ว และถ้าเวลานั้นไม่ทำอะไร พวกเขาจะอยู่บนเส้นทางที่จะเฉียดโลกไป 4,000 กิโลเมตร ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนเป็นภารกิจที่สุดแสนจะเศร้าโศกแทน
ดังนั้นพวกเขาจะมุ่งหน้าต่อไปอ้อมหลังดวงจันทร์ และใช้เวลาอีกราว 3 วันเพื่อเดินทางกลับมายังโลก
ปัญหาต่อมาก็คือ ยานลงดวงจันทร์ ถูกออกแบบมาสำหรับนักบินอวกาศแค่ 2 คน สำหรับการทำภารกิจแค่ 1 วันครึ่งเท่านั้น แต่พวกเขามี 3 คน!!!
สิ่งที่ลูกเรือเผชิญในตอนนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่แบตเตอรี่มือถือเหลืออยู่เพียงแค่ 5% แต่ต้องหาทางกลับที่พัก ขณะกำลังท่องเที่ยวอยู่ในเมืองที่ไม่รู้จัก
พลังงานบนยานลงดวงจันทร์นั้นถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด พวกเขาต้องปิดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง เพื่อรีดเอาพลังงานมาใช้สอยให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ออกซิเจนไม่ใช่ปัญหาสำหรับอะพอลโล 13 เนื่องจากในยานลงดวงจันทร์มีสำรองไว้อยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลูกเรือหายใจออกมาต่างหาก
การระดมความคิดในศูนย์ควบคุม
เนื่องจากบนยานลงดวงจันทร์มีกระป๋องลิเธียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งใช้สำหรับดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อยู่อย่างจำกัด ซึ่งทำให้ลูกเรือและทีมภาคพื้นต้องประยุกต์หาวิธีที่จะนำกระป๋องของยานควบคุมที่เป็นทรงลูกบาศก์ ให้เข้ากับช่องบนยานลงดวงจันทร์ที่เป็นทรงกระบอกให้ได้
ถอดกระป๋องลิเธียมไฮดรอกไซด์จาก CM มาใช้ใน LM
ผลจากการระดมความคิด เกิดเป็นเครื่องกรอง CO2 เพื่อใช้ใน LM
ดันไปตรงกับสำนวนของอังกฤษที่ว่า “Square peg in a round hole” ซึ่งหมายความว่าใช้คนให้เหมาะสมกับงานซะงั้น
Cr. myrealityline
แม้ทีมของนาซ่าและลูกเรือจะสามารถต่อเวลานาทีสุดท้ายของภารกิจนี้มาได้จนเกือบถึงโลกแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกหลายอย่างที่รอคอยอยู่
และอย่างแรกก็คือ พวกเขาจะต้องเปิดระบบบนยานควบคุมขึ้นมาใหม่ก่อนจะกลับถึงโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกทดสอบมาก่อนระหว่างภารกิจ และก็ไม่มีใครสามารถรับประกันว่าจะสำเร็จหรือไม่อีกด้วย
แมททิงลี่พร้อมกับวิศวกรอีกหลาย ๆ คน ได้มารวมตัวกันทดสอบแก้ปัญหากับยานจำลองบนโลก โดยพวกเขาต้องจำลองสภาพอากาศที่หนาวเหน็บเกือบเท่าจุดเยือกแข็ง เนื่องจากยานต้องรักษาพลังงานไว้ ทำให้ไอน้ำในอากาศควบแน่นเกาะตามแผนควบคุมบนยาน และทำให้เกิดความหวาดกลัวกันว่าจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้น
แผงควบคุมภายในยานโอดีสซี่
อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนความสูญเสียที่นาซ่าได้รับจากภารกิจอะพอลโล 1 ทำให้มีการป้องกันระบบอิเล็กทรอนิกส์บนยานได้ดียิ่งขึ้น และนี่ก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ช่วยชีวิตภารกิจอะพอลโล 13 ด้วยเช่นกัน
เมื่อยานควบคุมสามารถเปิดติดอีกครั้ง ลูกเรือทั้งสามต้องย้ายออกจากยานลงดวงจันทร์ไปอยู่ที่ยานควบคุมแทน เนื่องจากยานควบคุมเป็นยานลำเดียวที่มีแผ่นกันความร้อน ซึ่งจำเป็นสำหรับการฝ่าชั้นบรรยากาศเพื่อกลับมาลงจอดอย่างปลอดภัย
ซึ่งระหว่างนี้ทีมวิศวกรของนาซ่ากับทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้ร่วมมือกันหาวิธีแยกตัวระหว่างยานควบคุมกับยานลงดวงจันทร์อย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้ยานทั้งสองชนกันระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ที่อาจส่งผลต่อชีวิตของลูกเรือได้
หลังจากแยกตัวออกจากยานบริการหรือ Service Module นี่เป็นครั้งแรกที่ลูกเรือได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยาน โดยแผงด้านข้างทั้งแผงได้ระเบิดออกมา ทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาว่า แผ่นกันความร้อนของยานอาจได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดนี้ และนั่นจะเป็นจุดสิ้นสุดของภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพความเสียหายของยานบริการ
หลังจากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก อะพอลโล 13 ได้ขาดการติดต่อไปราว 6 นาที ซึ่งนานกว่าปกติเกือบ 2 นาทีด้วยกัน ทำให้ทีมงานภาคพื้นดินมีความวิตกและหวาดกลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น
และเมื่อยานควบคุมโผล่ออกมาจากกลีบเมฆ พร้อมกับร่มชูชีพทั้งสามกางออกอย่างปลอดภัย เสียงเฮเฉลิมฉลองดังก้องขึ้นทั้งศูนย์ควบคุมที่ฮูสตัน
อะพอลโล 13 ลงสู่พื้นน้ำอย่างปลอดภัย
อะพอลโล 13 กลับโลกได้อย่างปลอดภัย ในวันที่ 17 เมษายน 1970 ปิดฉากการเปลี่ยนจากภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ กลายเป็นภารกิจกู้ภัยอันยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างสวยงาม
ภาพหลังจากรับนักบินอวกาศทั้งสามนายมาส่งที่ศูนย์บัญชาการ
ยังเรื่องราวที่หลายคนไม่ค่อยรู้ก็คือ เมื่อกลับมาถึงโลกแล้วนั้น ไฮส์นักบินยานลงดวงจันทร์ ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากศูนย์ควบคุมกลัวว่าหากปล่อยปัสสาวะของลูกเรือออกสู่อวกาศอาจทำให้ยานหลุดออกจากเส้นทางกลับโลกได้ จึงบังคับให้ลูกเรือเก็บปัสสาวะของพวกเขาเอาไว้ในยานตลอดการเดินทางกลับ ซึ่ง เขาแก้ปัญหาส่วนนี้ด้วยการดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ
อุปสรรคที่อะพอลโล 13 เผชิญนั้นไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่ายเลย แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า หากเราไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามา มันก็ย่อมมีหนทางที่จะให้เราก้าวข้ามมันไปได้เสมอ แม้เราอาจจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปก็ตาม เช่นภารกิจนี้ที่สูญเสียโอกาสลงจอดบนดวงจันทร์ แต่พวกเขาก็ได้กลับมาพบเจอกับคนที่พวกเขารักอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าอะพอลโล 13 จะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่สำเร็จตามที่ได้วางแผนไว้ แต่ยานได้ผ่านด้านไกลของดวงจันทร์ที่ความสูง 254 กิโลเมตรเหนือผิวดวงจันทร์ และห่างจากโลก 400,171 กิโลเมตร กลายเป็นสถิติมนุษย์ที่เดินทางห่างจากโลกมากที่สุด
ติดตามตอนต่อไปเร็วๆนี้ครับ
โฆษณา