6 มิ.ย. 2019 เวลา 04:19 • ประวัติศาสตร์
“งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (The Boston tea party) น้ำชาสร้างอเมริกา” ตอนที่ 4
การสังหารหมู่และพระราชบัญญัติใบชา
วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1770 (พ.ศ.2313) ได้มีกลุ่มชาวอาณานิคมได้พูดจาดูถูกเหยียดหยามทหารอังกฤษ ทำให้ทหารอังกฤษทนไม่ไหวและยิงปืนใส่กลุ่มชาวอาณานิคมที่ไม่มีอาวุธ
การปะทะครั้งนี้มีชาวอาณานิคมเสียชีวิตจำนวนห้าคน ภายหลัง เหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกว่า “การสังหารหมู่ที่บอสตัน (The Boston Massacre)”
รัฐบาลอังกฤษได้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้โดยการยกเลิกภาษีทาวเซนด์ทั้งหมด เว้นแต่เพียงภาษีใบชา
จากเหตุการณ์นี้ ได้มีกลุ่มสตรีได้ก่อตั้งกลุ่มกบฎขึ้นมาเองด้วย เรียกว่า “ธิดาแห่งเสรีภาพ (The Daughters of Liberty)” โดยสตรีกลุ่มนี้ได้พยายามเลิกดื่มชา รวมถึงหาทางผลิตชาด้วยตนเอง และเรียกชาที่ทำขึ้นเองว่า “ชาแห่งเสรีภาพ (Liberty Tea)
นอกจากนั้น ชาวอาณานิคมยังมีการแอบลักลอบนำเข้าชาจากฮอลแลนด์เพื่อเลี่ยงภาษีอีกด้วย
ในเวลานั้น ซามูเอล อดัมส์ (Samuel Adams) กับพรรคพวกสามารถดึงชาวอาณานิคมส่วนใหญ่มาเข้ากับฝ่ายตนได้สำเร็จ
พฤติการณ์ของอดัมส์และชาวอาณานิคม นับวันยิ่งทำให้อังกฤษร้อนใจและคอยจับตามอง จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1773 (พ.ศ.2316) อังกฤษก็ได้ออกพระราชบัญญัติเพื่อกำหนดภาษีใบชาและมอบให้บริษัท East India Company ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ มีสิทธิในการนำใบชาเข้ามาขายในอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว
ซามูเอล ผู้ซึ่งต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด รู้สึกไม่พอใจและโกรธแค้นอย่างมาก เขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดภาษีใบชา ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองไม่ชอบดื่มชาด้วยซ้ำ
ซามูเอล อดัมส์ (Samuel Adams)
ซามูเอลมักจะจัดประชุมเหล่าคนหนุ่มที่ต่อต้านอังกฤษเหมือนกัน โดยมักจะนัดพูดคุยกันตามโรงเหล้าต่างๆ ซึ่งคนที่เข้าร่วมกับอดัมส์ นับวันมีแต่จะมากขึ้นทุกวันๆ
หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมประชุมคือ “จอห์น อดัมส์ (John Adams)” ญาติของซามูเอลและเป็นประธานาธิบดีในอนาคต
จอห์น อดัมส์ (John Adams)
ในเวลานั้น จอห์นเป็นทนายความอนาคตไกล โดยเขาได้กล่าวว่า “พระราชบัญญัติสแตมป์จะทำให้ชาติหมดตัว ผู้คนเสียบ้านและที่ดิน และทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นขอทาน”
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามต่อได้ตอนหน้านะครับ
โฆษณา