6 มิ.ย. 2019 เวลา 11:30 • การศึกษา
“ผู้ต้องหาก็มีสิทธินะ รู้มั้ย !?”
Cr. pixabay
เห็นหัวข้อวันนี้แล้ว หลายคนอาจจะเบือนหน้าหนี และอาจจะคิดในใจว่า “คนอย่างฉันน่ะเหรอจะไปทำอะไรผิดให้ตำรวจจับ” หรือ “บ้าจริง นี่มันแช่งกันชัด ๆ” ฯลฯ
ใครจะไปรู้ครับ ว่าวันนึงเราอาจต้องกลายเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ต้องถูกตำรวจจับ ต้องไปขึ้นศาลก็ได้
คิดตามง่าย ๆ ครับ แค่เราวันนี้เราขับรถไปตามถนน อยู่ดีๆ เบรคเสียควบคุมรถไม่ได้จนไปชนคนเสียชีวิต เท่านี้เราก็กลายเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว และได้ตั๋วไปเที่ยวฮ่องกงฟรีซะแล้ว
ซึ่งคงจะดีกว่า ถ้าเรารู้สิทธิเหล่านี้ก่อนมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
โดยกฎหมาย ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ซึ่งถูกควบคุมตัวหรือขัง มีสิทธิแจ้งด้วยตัวเองหรือจะขอให้เจ้าพนักงาน (เช่น ตำรวจที่ ส.น.) แจ้งให้ญาติ หรือคนที่ไว้วางใจรู้ถึงการถูกจับ และสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวได้ทันที รวมถึงให้มีสิทธิดังนี้ด้วย
🔸มีสิทธิปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งควรปรึกษา ถึงแนวทางการให้ปากคำ การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี
🔸มีสิทธิให้ทนายความ หรือคนที่ไว้ใจเข้าฟังการสอบสวนในชั้นสอบสวน ซึ่งตรงนี้ควรให้ทนายความที่มีประสบการณ์ช่วยดูแลระหว่างการสอบสวน เพราะระหว่างการมีทนายความให้คำแนะนำ กับไม่มีในชั้นสอบสวน อาจส่งผลต่อรูปคดีทั้งหมดได้ (เพื่อน ๆ ที่เป็นพนักงานสอบสวนอย่าเพิ่งหมั่นไส้ผมนะครับ) 🙏🙏🙏
🔸มีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร และได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย
ซึ่งสิทธิทั้งหลายที่กล่าวมานี้ กฎหมายกำหนดเลยว่าให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน หรือตำรวจ ซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา (เช่น ร้อยเวร ผู้รับผิดชอบคดี) เป็นผู้แจ้งให้ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาทราบทันทีที่มีโอกาส
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในเหตุการณ์อย่างนี้ คือ เราต้องมีสติ พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามขั้นตอน และวิธีการที่ถูกต้อง (บางคนลนลาน หาทางวิ่งเต้น โดนหลอกเอาเงินบ้างก็มี) และนึกให้ออกว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง (ดูจากเพจกฎหมายย่อยง่ายนี่แหละ🤓)
แต่สำหรับสิทธินี้ แอดมินขอแค่รู้ไว้ แต่ไม่ขอสิทธิใช้ดีกว่าครับ❌❌❌
ขอคุณภาพสวยๆ จาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกดถูกใจและติดตามผลงานด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา