Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จำเค้ามา
•
ติดตาม
20 ก.ค. 2019 เวลา 14:44 • ประวัติศาสตร์
EP18 รากฐานแห่งเจียงตง (เริ่มต้นที่ซุนเกี๋ยน สร้างฐานที่ซุนเซ็ก มั่นคงที่ซุนกวน)
เนื้อหายาวไปมีคลิปเสียงเล่าให้ฟังครับ
https://youtu.be/GfaKVb9CFkE
ในตอนที่แล้วเราทิ้งท้ายไว้ที่ ปีเจี้ยนอันศกที่ 13 กำเหลงแนะนำให้ซุนกวน ตีหองจอ แล้วให้ยึดเอาจิงโจวเป็นฐาน เพื่อเบิกทางโจมตีปาจ๊กต่อไป แต่ที่ปรึกษาใหญ่เตียวเจียวคัดค้าน ผลคือซุนกวนกลับสนับสนุนกำเหลงให้ตีหองจอ แล้วเหตุใดซุนกวนจึงตัดสินใจแบบนี้ จึงขอเล่าไปที่จุดเริ่มต้นของ กลุ่มซุนกวนก่อน
กลุ่มซุนกวนนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “กลุ่มเจียงตง” โดยเริ่มจาก ทางทิศเหนือของแม่น้ำฉางเจียง ระหว่าง อู๋หู่ กับ หนานจิง บนแม่น้ำช่วงนี้ โบราณเรียก ทางตะวันออกว่า “เจียงตง” ทางตะวันตกเรียกว่า “เจียงซี” และทางใต้เรียก “เจียงหนาน” ซึ่ง “กลุ่มเจียงตง” เป็นผู้มีอิทธิพลแถบนี้ชัดเจน โดยผู้ก่อตั้งกลุ่มเจียงตงนี้ ชื่อว่า “ซุนเกี๋ยน”
ซุนเกี๋ยน ชื่อกลางว่า เหวินไถ่ ซุนเกี๋ยนเป็นคนเก่งกาจ กล้าหาญตั้งแต่เด็ก ว่ากันว่า เมื่อครั้งอายุได้ 17 ปี สามารถฆ่าโจรสลัดแถบริมแม่น้ำ ด้วยตัวคนเดียว
แต่ที่ทำให้ ซุนเกี๋ยน นั้นมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ก็คือเรื่อง ครั้งรวมพันธมิตร “กว้านตง” ปราบตั๋งโต๊ะ ซึ่งซุนเกี๋ยนในตอนนั้น ตำแหน่งเป็น เจ้าเมืองฉางซา ใต้สังกัดทัพของ “อ้วนสุด” ซึ่งแม้ซุนเกี๋ยนในตอนนั้น จะมีตำแหน่งน้อย แต่ก็แสดงความกล้าหาญ สามารถตีทัพตั๋งโต๊ะแตกพ่ายจนรั้งทัพถึงหน้าเมืองลั่วหยาง และยังสังหารแม่ทัพคนสำคัญคนนึงของตั๋งโต๊ะได้ด้วย ก็คือ “แม่ทัพฮัวหยง” ซึ่งในวรรณกรรมนั้น บอกถึงว่า กวนอูอุ่นสุรา ฆ่าฮวงหยง นั้นไม่ได้เป็นเรื่องจริง เป็นซุนเกี๋ยนต่างหากที่สังหารฮัวหยงได้
ต่อมาอ้วนสุดเกิดคิดระแวงต่อซุนเกี๋ยน โดยคิดเอาเองว่า ซุนเกี๋ยนนั้นเก่งกาจและกล้าหาญขนาดนี้ หากต่อไปภายหน้าซุนเกี๋ยนเกิดมีกองทัพที่เข้มแข็งขึ้นมา คงไม่ฟังคำสั่งชองตนเองแน่ จึงคิดกักเสบียงของซุนเกี๋ยนเอาไว้ พอซุนเกี๋ยนรู้ข่าว จึงรีบเร่งเดินทางร้อยลี้ มาพบอ้วนสุด ซุนเกี๋ยนว่า “ท่านแม่ทัพ(อ้วนสุด) ลองคิดดูว่า ข้าซุนเกี๋ยนกับ ตั๋งโต๊ะนั้น ไม่ได้มีความแค้นต่อกันเลย แต่เหตุที่ข้าซุนเกี๋ยนออกมาร่วมปราบตั๋งโต๊ะครั้งนี้ คือ ด้านนึงเพื่อสนองคุณชาติ อีกด้านนึงคือสนองแทนคุณท่านแม่ทัพอ้วนสุด เพราะเหตุที่คนในครอบครัวของท่านแม่ทัพอ้วนสุด ถูกตั๋งโต๊ะสังหาร ข้าจึงคิดแก้แค้นสนองคุณท่าน เหตุใดท่านจึงระแวงข้าซุนเกี๋ยนคนนี้” อ้วนสุดได้ฟังอย่างนั้น ทำได้แค่ขอโทษแล้วจึงมอบเสบียงให้ ซุนเกี๋ยนไป
ต่อมาด้วยตั๋งโต๊ะนั้น กลัวถึงความเก่งกาจของซุนเกี๋ยน จึงคิดผูกสัมพันธ์โดยจะให้ลูกของตนเกี่ยวดองกับลูกของซุนเกี๋ยน แต่กลับถูกซุนเกี๋ยนปฏิเสธเสียงแข็ง และประกาศ “จะตัดหัวตั๋งโต๊ะให้ได้ และเอาไปประจานให้ทั่วทุกสารทิศ” ตั๋งโต๊ะได้ยินดังนั้น ตกใจ ถึงกลับ เผาลั่วหยาง เอาตัวฮ่องเต้และขุนนางต่างๆ กลับซีอานไป ดังนั้นจึงเรียกซุนเกี๋ยนได้เต็มปากว่า เป็น “จอมคนแห่งกลียุค” แต่ต่อมาซุนเกี๋ยนระหว่างที่เข้าโจมตีเล่าเปียว ตามคำสั่งของอ้วนสุด เกิดพลาดท่า เสียชีวิตไปด้วยอายุ 37 ปี ดังนั้น บุตรชายคนโต ซุนเซ็ก จึงมารับช่วงต่อในวันเพียง 18 ปี เท่านั้น
ซุนเซ็กคนนี้ เรียกได้ว่า เป็น “จอมคนตั้งแต่วัยเยาว์” มีคนเปรียบเทียบซุนเซ็ก เหมือนกับ เซี่ยงอวี้ จึงมีสมญานามเรียกซุนเซ็กว่า “ป้าหวางน้อย” อ.อี้จงเทียน อธิบายตอนนี้ว่า ซุนเซ็กนั้น อาจจะไม่เหมือนกับ เซี่ยงอวี้ ซักเท่าไร หากมองถึงแง่การใช้คน เพราะเซี่ยงอวี้นั้น แค่ “ฟ่านเจิง” คนเดียวก็ยังใช้ไม่เป็น แต่ซุนเซ็กนั้นไม่ใช่ ซุนเซ็กนั้นเรียกได้ว่า ใช้คนเป็นและยังมีหัวทางการเมืองอีกด้วย
ซุนเซ็กมีลูกน้องเก่งมากมาย หากไม่นับลูกน้องเดิมของซุนเกี๋ยนผู้เป็นพ่อ อย่าง เทียเภาและอุยกาย ก็ยังมีจิวยี่และเตียวเจียว โดยเตียวเจียวคนนี้เป็นคนมีความสามารถมาก ซุนเซ็กให้ดูแลเรื่องเสนาธิการ เรื่องการปกครองต่างๆ มอบหมายให้เตียวเจียวเป็นผู้ดูแล และด้วยความเป็นคนที่มีความสามารถมากอย่างเตียวเจียว ทำให้บัณฑิต ผู้มีความรู้มากมาย ต่างรู้จักว่า เตียวเจียวนั้นอยู่เจียงตง แต่กลับไม่รู้ว่า เจียงตงนั้นมีซุนเซ็ก
พอเตียวเจียวรู้ข่าวเข้า ก็ไม่สบายใจ เกรงว่า ซุนเซ็กนั้นจะเข้าใจผิดและมองว่าเตียวเจียวนั้น “เก่งกว่านาย” มีใจทะเยอทะยานไป แต่ซุนเซ็กกลับไม่สนใจ และประกาศให้รู้กันทั่วว่า “อยู่กับข้าซุนเซ็ก ไม่ต้องเกรงกลัวว่า ผลงานจะเกินนาย ขอให้ทำงานสุดความสามารถเถอะ ยินดีอย่างยิ่ง” ซึ่งซุนเซ็กรู้ดีว่า จะสำเร็จการใหญ่ได้นั้น จำเป็นต้องมีคนเก่งมาช่วยเหลือ และจะให้คนเก่งมาช่วยเหลือ ให้สุดใจและสุดความสามารถได้นั้น จำเป็นต้อง กำจัดความคิดเรื่องแบบนี้ออกไปให้หมด
อีกคนก็คือ ไทสูจู้ ๆ คนนี้เดิมที่เป็นลูกน้องของ เล่าอิ้ว ครั้งนึง ไทสูจู้ ถูกต้อนไปจนมุมตามลำพัง แต่ฝ่ายซุนเซ็กนั้น มีผู้ติดตามไปด้วยอีก 13 คน ไทสูจู้ จึงขอท้าดวลกับ ซุนเซ็ก ตัวต่อตัว ซึ่งซุนเซ็กก็รับคำท้า แต่ในตอนนั้นก็ไม่รู้แพ้รู้ชนะ
ต่อมาให้หลัง ไทสูจู้ถูกจับได้กลายเป็นเชลยของซุนเซ็ก ๆ จึงเข้าไปพบกับไทสูจู้ ซุนเซ็กเอ่ยถามไทสูจู้ว่า “พี่ไทสูจู้ หากข้ากลายเป็นเชลยแทนท่าน ๆ จะทำกับข้าอย่างไร” ไทสูจู้ตอบ “นั่นก็ยากเลยหละ ไม่แน่ใจเหมือนกัน” ซุนเซ็กหัวเราะ แล้วก็กล่าวต่อว่า “พอเถอะ พวกเราไม่ต้องรบกันแล้วล่ะ มาร่วมมือกัน ทำการใหญ่ดีกว่า” หลังจากนั้น ไทสูจู้ กลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญคนนึงของซุนเซ็ก นี่คือแสดงเห็นถึงความสามารถในเรื่องคนของซุนเซ็กได้อย่างชัดเจน
ซุนเซ็ก คนนี้ นอกจากจะกล้าหาญองอาจ ก็ยังมีหัวและเข้าใจการเมืองอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมซุนเกี๋ยนผู้พ่อเคยเป็นลูกน้องใต้สังกัดของอ้วนสุดมาก่อน ดังนั้นเมื่อซุนเซ็กรับช่วงต่อ จึงเรียกได้ว่ายังมีความสัมพันธ์กับกลุ่มของอ้วนสุดอยู่
โดยอ้วนสุดนั้นเรียกได้ว่า ปฏิบัติกับซุนเซ็กได้แค่ระดับหนึ่ง ไม่ได้ดีอะไรนักหนา อีกทั้งอ้วนสุดนั้นเป็นคนกลับกลอก ไม่คิดช่วยเหลืออุ้มชูซุนเซ็กอย่างจริงใจ ต่อมาเมื่ออ้วนสุดประกาศตัวเองเป็นฮ่องเต้ ซุนเซ็กจึงตัดขาดความสัมพันธ์กับอ้วนสุดทันที ด้านนึงด้วยไม่พอใจต่อการปฏิบัติของอ้วนสุดอยู่แล้ว อีกด้านนึงซุนเซ็กรู้ดีว่า เมื่ออ้วนสุด ประกาศตั้งตัวเป็น ฮ่องเต้ แล้ว อ้วนสุดจะกลายเป็นเป้าโจมตีทันที่ ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่ หากต้องมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอ้วนสุดอยู่ นี่คือข้อหนึ่ง
ข้อสอง เมื่อครั้ง โจโฉ ได้ตัวฮ่องเต้ ใช้นโยบาย “เชิดชูฮ่องเต้ บัญชาขุนนาง” ซุนเซ็กนั้น ก็มีแนวคิดแบบนี้เช่นกัน โดยเมื่อตอนที่โจโฉกับอ้วนเสี้ยวทำศึกกันท่ีกัวต๋ออยู่นั้น ซุนเซ็กเคยเตรียมตัวที่จะไปตี ฮูโต๋ แย่งชิงตัวฮ่องเต้มาไว้ที่กังตั๋ง เหมือนกัน และนี่คือข้อแรกที่แสดงให้เห็นว่า ซุนเซ็กนั้นมีความเข้าใจในทางการเมืองเป็นอย่างดี
แต่เมื่อซุนเซ็ก แม้จะเป็นจอมคนที่องอาจ กล้าหาญ เข้าใจการเมืองดีแค่ไหน ซุนเซ็กก็มีข้อเสียอยู่ เหมือนกัน หนึ่งคือ ชอบฆ่าคน สอง คือ ให้ตายก็ไม่ยอมเสียหน้า ซึ่งสองข้อนี้กลับเหมือนกับ เซี่ยงอวี้ มากกว่า
ว่ากันว่าเรื่องการตายของซุนเซ็ก ก็เกิดมาจากการฆ่าคนที่ไม่ควรจะฆ่า คือ สวี่ก้ง(เค้าก๋อง) เจ้าเมือง ง่อกุ๋น ถวายสาสน์ไปหาโจโฉ ว่า ซุนเซ็กนั้น เหมือนเซี่ยงอวี่น้อย ดังนั้นควรเรียกตัวซุนเซ็กไปที่เมืองหลวง ควบคุมตัวไว้ ไม่ให้สร้างปัญหาภายหลัง พอซุนเซ็กรู้เข้า จับสวี่ก้ง(เค้าก๋อง) ฆ่าทิ้ง และเมื่อ สวี่ก้งถูกฆ่า คนของสวี่ก้ง คิดแก้แค้น จึงลอบสังหารซุนเซ็ก ในตอนออกไปล่าสัตว์
เรื่องในตอนนี้บันทึกไว้ว่า ซุนเซ็กได้รับบาดแผลไม่ใช่จุดสำคัญถึงขั้นเสียชีวิต แต่เป็นบาดแผลที่ใบหน้า พอซุนเซ็กเห็นสภาพตัวเองนั้น ซุนเซ็กกล่าวว่า “หน้าเช่นนี้ จะเรียกเป็นผู้มีผลงานสร้างชาติได้อย่างไร” รับไม่ได้ที่สภาพใบหน้าตัวเองเป็นแบบนี้ เกิดเลือดไหลไม่หยุด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ศิริอายุได้ 26 ปี
ซุนเซ็กนับได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างรากฐานให้กับกลุ่มเจียงตงได้อย่างแท้จริง เนื่องด้วยเจียงตงทั้ง 6 เมืองนั้นต่างก็เป็น ซุนเซ็กที่สามารถรวบรวมมาได้ ดังนั้น เฉินโซ่ว จึงได้บันทึกไว้ในประวัติของซุนเซ็กว่า “ยึดแดนเจียงตง คือรากฐานจากซุนเซ็ก” ซุนเซ็กใช้เวลาเพียงแค่ 7-8 ปี ในการรวบรวมเจียงตง ซึ่งเรื่องนี้หากเป็นคนอื่นอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต หรือแม้แต่ทั้งชีวิตก็อาจจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป ดังนั้นซุนเซ็กถือว่าเป็นจอมคนแห่งแจียงตงโดยแท้
และการเลือกผู้สืบทอดอำนาจต่อจากตนเองนั้น ซุนเซ็กก็สามารถเลือกได้อย่างถูกต้อง โดยในช่วงวาระสุดท้ายของซุนเซ็ก บรรดาพวกเตียวเจียวต่างมีความเห็นว่าผู้ที่เหมาะสม ก็คือ ซุนอี้ น้องชายคนที่สาม เนื่องด้วย ซุนอี้ นั้นดูองอาจกล้าหาญเหมือนกับซุนเซ็ก แต่ ซุนเซ็ก กลับเลือก ซุนกวน แทน
ต่อมาแสดงผลถึง การเลือกผู้สืบทอดของ ซุนเซ็ก นั้นได้ เลือกได้ถูกต้องที่สุด ก็คือ
ข้อแรก ในบรรดาผู้นำทั้งสามก๊กนั้น ซุนกวนอายุยืนที่สุด คือ ซุนกวนอายุ 71 ปี โจโฉอายุ 66 ปี เล่าปี่อายุ 58 ปี
ข้อสอง ในบรรดาทั้งสามก๊กนั้น ง่อก๊ก ก็ยืนยาวที่สุดเช่นกัน คือ ง่อก๊กคงอยู่ 51 ปี เว่ยก๊ก 46 ปี จ๊กก๊ก 42 ปี
ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า การเมืองของง่อก๊กนั้น มั่นคงที่สุด เหตุผลนึงมาจาก ซุนเซ็ก ได้เลือกผู้สืบทอดได้ดีและถูกต้องที่สุด ว่ากันว่าคืนนั้น ซุนเซ็กเรียก เตียวเจียว เข้าพบ แล้วฝากฝังซุนกวนไว้ และกล่าวกับซุนกวนไว้ว่า “เรื่องนำกองทัพ รบเอาแผ่นดิน น้องเจ้าสู้พี่อย่างข้าไม่ได้ แต่เรื่องรวบรวมจิตใจลูกน้อง ปกป้องผลประโยชน์ ที่มีอยู่แล้ว พี่อย่างข้า สู้น้องอย่างเจ้าไม่ได้
และนอกจากเรื่องการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งแล้ว ซุนเซ็กยังบอกถึง นโยบายปกครองเจียงตงอีกด้วย ก็คือ “รักษาเจียงตง รอดูแพ้ชนะ” ซึ่งซุนเซ็กรู้ดีว่า ในช่วงที่ตนเองปกครองอยู่นั้น นโยบายหลักคือ “การรบยึดเอาแผ่นดิน และสร้างกองทัพขยายดินแดน” และหลังจากรวบรวมดินแดนของกลุ่มเจียงตงได้ทั้งหมดแล้ว นโยบาย จึงควรปรับเปลี่ยนเป็น “จากรุกคืบ มาเป็นรักษา”
ดังนั้น นโยบายพื้นฐาน ของกลุ่มเจียงตง ก็คือ “รักษา” เป็นหลัก แต่ว่ารักษานั้น ก็มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ
แบบแรก คือ “รักษาตั้งมั่น” แบบที่สอง คือ “โจมตีเพื่อป้องกัน” และด้วยนโยบายนี้เอง ทำให้กลุ่มเจียงตง จึงมีแนวคิดแบ่งออกเป็น สองกลุ่มด้วยเช่นกัน
โดยกลุ่มแรก มีเตียวเจียวเป็นผู้นำ เห็นว่าต้องรักษาให้มั่น ไม่เสี่ยงอันตราย เรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มพิราบ”
อีกกลุ่ม มีจิวยี่และโลซกเป็นผู้นำ เห็นว่าต้องโจมตี เพื่อป้องกัน อาศัยการรุก มารักษาสิ่งที่มีอยู่ให้มั่นคง เรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มอินทรีย์” และซุนกวนนั้น แม้ภายนอกจะแสดงออกเป็นกลาง เพื่อรักษาสมดุลย์ระหว่างทั้งสองกลุ่ม แต่ในใจก็โน้มเอียงไปทางกลุ่มของ จิวยี่กลับโลซกมากกว่า
ดังนั้นหากเราทำความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว จึงสามารถเข้าใจถึงการตัดสินใจของ ซุนกวน ในศึกเซ็กเพ็ก ในเวลาต่อมาว่า ทำไมซุนกวนถึงตัดสินใจเช่นนั้น และซุนกวนในตอนนี้ ก็ตัดสินใจตามคำแนะนำกำเหลงเข้าตีหองจอ ในตอนต้นปีเจี้ยนอันศกที่ 13 โดยหวังเปิดทางเข้ายึด จิงโจว(เกงจิ๋ว)ต่อ
แต่ในปีเดียวกันนั้น โจโฉ ก็มุ่งทัพลงใต้ หวังยึด จิงโจว(เกงจิ๋ว) มาไว้เป็นของตนเองเช่นกัน และภายในของเมือง จิงโจว นั้น ก็ยังมี เล่าปี่ กับ จูกัดเหลียง ที่มีแผนการณ์ หาทางยึด จิงโจวอยู่เหมือนกัน
จิงโจวจึงเปรียบเหมือน แกะน้อย ในสายตา เสือสิงห์และหมาป่า แล้วจิงโจวเป็นอย่างไร จิงโจวนั้นสำคัญไฉน พบกันตอนหน้า กับ EP19 ชัยภูมิที่ต้องชิง
2 บันทึก
19
3
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สามก๊ก (ผ่านมุมมองประวัติศาตร์)
2
19
3
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย