จิงโจว(เกงจิ๋ว) คือมณฑลหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของทั้ง 13 มณฑล จึงทำให้ โจโฉ ซุนกวน และเล่าปี่ต่างก็ต้องการจิงโจวไว้ครอบครอง อีกทั้งยุทธศาสตร์ของขงเบ้งและโลซก ต่างก็เห็นตรงกันว่า จิงโจวคือจุดยุทธศาสตร์ และเป็นชัยภูมิเริ่มต้น ในการช่วงชิงดินแดน
ซึ่งผู้ปกครอง จิงโจว ในขณะนั้น ก็คือ เล่าเปียว โดยขงเบ้ง โลซกรวมถึงกุยแก ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า เล่าเปียว นั้นไม่มีทางรักษา จิงโจว ไว้ได้ ดังนั้นต่างต้องรีบเร่ง แย่งชิงเพื่อไม่ให้ จิงโจวตกไปเป็นของอีกฝ่าย แล้วเหตุใดบรรดาเหล่าปราชญ์ผู้มีชื่อนี้ จึงคิดแบบนั้น เราจึงจำเป็นต้องมาทำความรู้จักกับ เล่าเปียว ผู้นี้กันก่อน
ตามบันทึก “โฮ่วฮั่น” และจดหมายเหตุสามก๊กนั้น บันทึกประวัติเล่าเปียวกับอ้วนเสี้ยวไว้ด้วยกัน ซึ่งหมายความว่า เล่าเปียวกับอ้วนเสี้ยวนั้นเป็นคนจำพวกเดียวกัน ดังนั้นหากเราเรียกโจโฉว่า “จอมเจ้าเล่ห์ที่มีเสน่ห์” เล่าเปียวกับอ้วนเสี้ยวก็คือ “คนไม่เอาไหนที่สง่างาม”
ตามบันทึกจดหมายเหตุสามก๊ก ว่าไว้ว่า ลักษณะของเล่าเปียวนั้น กายสูงแปดเซี๊ยะกว่า (ประมาณ 188 ซม) รูปร่างท่าทางยิ่งใหญ่ สง่างาม เป็นเชื้อพระวงศ์โดยตรง สายเลือดและเชื้อสายใกล้ชิด ซึ่งต่างจากเล่าปี่ ที่ดูแล้วยังน่าสงสัยเคลือบแคลงอยู่
และช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นนั้น เกิดการขัดแย้งระหว่าง กลุ่มขันที กับ กลุ่มนักปราชญ์และเหล่าบัณฑิต เกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรง และเล่าเปียวก็ได้เข้าร่วมต่อสู้ กับกลุ่มนักปราชญ์และเหล่าบัณฑิตในครั้งนี้ด้วย ตอนหลัง กลุ่มขันทีกุมอำนาจได้ จึงจับตัวเหล่านักปราชญ์และบัณฑิตมากมายไปขังไว้ แต่ด้วยเล่าเปียว หนีเอาตัวรอดมาได้ จึงพ้นภัย
พอ กลุ่มขันทีพ่ายแพ้ จึงมีคนเขียนวิจารณ์เชิดชู กับกลุ่มคนจำนวนแปดคน ที่ร่วมกันเป็นผู้นำ ต่อสู้กับกลุ่มขันทีในครั้งนี้ โดยกลุ่มคนทั้งแปดคนนี้ เรียกว่า “แปดคุณธรรม” เรียกได้ว่าคนทั้งแปดนี้มีคุณธรรมสูงส่งที่สุด ซึ่งเล่าเปียว ก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงทำให้ชื่อเสียงเล่าเปียวโด่งดังเป็นอย่างมาก
ต่อมาในสมัย “ฮั่นเสี้ยนตี้” เริ่มปีชูผิง (คศ.190) เจ้าเมืองฉางซา ซุนเกี๋ยน ได้สังหารผู้ตรวจการจิงโจว “หวังรุ่ย” ทางราชสำนักจึงแต่งตั้งเล่าเปียว เป็นผู้ตรวจการจิงโจวแทน แต่ด้วยสถานการณ์ จิงโจว ในตอนนั้นวุ่ยวายมาก ต้นเหตุด้านหนึ่งมาจาก “อ้วนสุดและลูกน้อง ก็คือ ซุนเกี๋ยน” วางแผนจะยึด จิงโจว ไว้
อีกด้านนึง มาจากเหล่าพระญาติในท้องที่ทั้งหลาย อ้างสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ต่างก่อตั้งกองกำลังของตนเอง ก่อความวุ่นวาย ดังนั้นแม้ว่าเล่าเปียวจะได้รับการแต่งตั้ง แต่ก็ไปรับตำแหน่งไปได้ ไม่สามารถเข้าไปปกครอง จิงโจว ได้
เล่าเปียวในขณะนั้นจึงหาวิธีแก้ไข โดยการเข้าหากลุ่มขุนนางเก่า ที่สูงศักดิ์ และกลุ่มผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลในท้องที่ ให้เข้าร่วม คนนึงชื่อ ไคว่เยว่(เกงอวด) อีกคนชื่อ ไช่เม่า(ซัวมอ) เกงอวดคนนี้ มีความสามารถมากและยังสติปัญญาดี ส่วนซัวมอนั้น เป็นคนในตระกูลที่มีอิทธิพลและร่ำรวยมากที่สุดใน จิงโจว เล่าเปียวจึงไปขอคำแนะนำจากสองคนนี้
เกงอวด กล่าวว่า “หากอยู่ในช่วงบ้านเมืองปกติสุข ควรใช้คุณธรรมนำพา แต่หากบ้านเมืองนั้นวุ่นวาย จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจ และต้องใช้กำลังทหาร
สถานะการณ์ขณะนี้ มีศึกผ่านนอก จากการรุกรานของอ้วนสุดและซุนเกี๋ยน และยังมีศึกภายในจากกลุ่มพระญาติพระวงศ์ ที่ตั้งตัวก่อความวุ่นวาย จำเป็นต้องจัดการภายในให้สงบก่อน ข้าน้อยเห็นว่า ควร “สังหารพวกไร้คุณธรรม ใช้งานผู้มีความสามารถ” คือ หากพระญาติคนใด ทำเลวมาก เป็นที่เกลียดชังให้สังหารให้หมด ส่วนพระญาติคนใดที่มีความสามารถพอใช้งานได้ ให้เอามาใช้งาน เพื่อมาสร้างรากฐานความแข็งแกร่งให้กับ จิงโจว จึงจะสามารถต้านอ้วนสุดและซุนเกี๋ยนได้”
และเมื่อเล่าเปียวทำตามคำแนะนำของ เกงอวง ผลคือ “เจียงหนาจึงสงบสุข” เล่าเปียวจากเป็นผู้ตรวจการ จึงกลายเป็นผู้ครองแคว้น จิงโจว ได้อย่างสมบูรณ์ นี่คือผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่แสดงถึงความสามารถของ เล่าเปียวได้เป็นอย่างดี
ต่อมา อาของเตียวสิ้ว ชื่อเตียวเจ ตำแหน่งในขณะนั้นคือแม่ทัพทหารม้า ที่กวนจง ด้วยไม่มีเสบียง จึงเข้าโจมตีเมืองหร่างเฉิน ของเล่าเปียว ถูกธนูยิง ถึงแก่ความตาย เหล่าขุนนางในจิงโจว ต่างอวยพรยินดีกับชัยชนะในครั้งนี้ของเล่าเปียว แต่เล่าเปียวกับตอบว่า “ที่เตียวเจมานั้นเพราะลำบาก แต่ข้าไร้มารยาทไม่ต้อนรับ กลับยังรบกันขึ้นมาอีก นี่ไม่ใช่เจตนาของข้าเลย ข้ารับแต่ความเสียใจ ไม่รับกับคำยินดี” และหลังจากนั้น เล่าเปียวจึงจัดการให้ เตียวสิ้วหลานของเตียวเจ ตั้งทัพได้ที่เมืองหว่านเฉิน ส่งมอบเสบียงให้ แล้วร่วมมือกันต่อต้านทัพโจโฉ ทำให้กลุ่มของเตียวสิ้ว ต่างก็ให้ความเคารพ เลื่อมใสต่อ เล่าเปียว เป็นอย่างมาก
พอถึงปีเจี้ยนอันศกที่ 3 เล่าเปียวครอบครอง จิงโจวได้ทั้งหมด มีเขตแดนกว้างไกล กองทัพมาก กว่าสิบหมื่น กำลังน้อยใหญ่ ต่างยอมสงบราบคาบ ยอมรับเล่าเปียวเป็นผู้นำ หลังจากนั้นเล่าเปียว จึงส่งเสริมการศึกษา สร้างโรงเรียน ฟื้นฟูคำสอนขงจื้อ อุ้มชูนักปราญน์เหล่าบัณฑิต
มาถึงตอนนี้ แสดงให้เห็นว่า เล่าเปียวนั้น มีทั้งความสามารถและมีคุณธรรม แล้วเห็นใดในประวัติศาสตร์สามก๊ก จึงไม่ยกย่องเล่าเปียว แต่กลับบอกว่าเล่าเปียวนั้น เป็นคนไม่เอาไหน อ.อี้จงเทียนอธิบายว่า ด้วยเหตุที่เล่าเปียวนั้น ไม่ได้รับการยกย่องในสามก๊กนี้ ก็คือ
ประการแรก เล่าเปียวนั้นไม่มีปณิธาน กุยแก เคยว่า เล่าเปียวนั้น เป็นพวกแต่คุยโว ทำการใหญ่ไม่ได้ ส่วนโจโฉว่า เล่าเปียวนั้น คือ “เสนียดชาติ รักษาแต่ตัว” ด้วยเล่าเปียวนั้นไม่ได้มีปณิธานที่จะรวบรวมประเทศ สิ่งที่เล่าเปียวหวังไว้นั้น ก็แค่ ดูแลครอบครัวให้ดีเท่านั้น ส่วนดินแดนก็จัดการบริหารให้ดี เท่านี้ก็พอ
ประการที่สอง เล่าเปียวนั้นใช้คนไม่เป็น ในจิงโจวนั้น มีคนเก่งอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักปราญช์และบัณฑิตต่างๆ ที่อพยบหนีภัยสงครามจากทางเหนือ เล่าเปียวนั้นก็ไม่ช่วงใช้ โดยเฉพาะอย่างเล่าปี่ ในจดหมายเหตุสามก๊ก บันทึกไว้ว่า เล่าเปียวนั้น “ใจระแวง วางแผนระวัง” ดังนั้นเล่าเปียวจึงคอยแต่ควบคุมและระวังเล่าปี่ตลอด ไม่คิดมอบอำนาจทางการทหารให้แก่เล่าปี่ได้ดูแล
ประการที่สาม เล่าเปียวจัดการเรื่องผู้สืบทอดได้ไม่ดีพอ และผู้สืบทอดนั้นก็ไร้ความสามารถ เล่าเปียวนั้น มีลูกชายอยู่สองคน คือ คนโต “เล่ากี๋” คนเล็ก “เล่าจ๋อง” ทั้งสองต่างก็เป็นลูกของภรรยาคนแรก ซึ่งแต่เดิมนั้นเล่าเปียวมีใจให้คนโต เล่ากี๋เป็นผู้สืบทอดต่อ แต่ด้วยภรรยาคนหลัง คือ นางไซ่ซื่อ ซึ่งเป็นพี่สาวของซัวมอ มีใจชอบในตัวของเล่าจ๋องมากกว่า นางไซ่ซื่อจึงสนับสนุนให้กับเล่าจ๋องเป็นผู้สืบทอด และด้วยเล่าเปียวนั้น เรียกได้ว่ามีใจ เกรงกลัวต่อนางไซ่ซื่อ อยู่พอสมควร จึงเปลี่ยนผู้สืบทอดจาก เล่ากี๋ มาเป็น เล่าจ๋องแทน จนทำให้การเมืองผ่านใน จิงโจวนั้น แยกออกเป็น สองฝ่าย ฝ่ายนึง คือ ฝ่ายสนับสนุนเล่าจ๋อง ต่อมาเรียกฝ่ายนี้ว่า “ฝ่ายร่วมกับโจโฉ” มีซัวมอกับเกงอวด เป็นผู้นำ อีกฝ่ายนึง สนับสนุนเล่ากี๋ มีเล่าปี่กับจูกัดเหลียงเป็นผู้นำ ซึ่งฝ่ายนี้มีแนวทางชัดเจน ในการไม่เข้าร่วมกับโจโฉ จึงเรียกฝ่ายนี้ว่า “ฝ่ายต่อต้านโจโฉ”
ส่วนเล่าเปียวนั้นก็ทำได้แค่เป็นกลาง เพราะเล่าเปียวนั้น หวังก็เพียงแต่ว่า รักษาดินแดนให้ได้ ดูแลครอบครัวตัวเองให้ดี ซึ่งเล่าเปียวก็ทำได้ในตอนที่มีชีวิตอยู่ แต่ด้วยวิธีการนี้หลังจากเล่าเปียวตายไปแล้ว จึงไม่สามารถดูแล ทั้งจิงโจว และครอบครัวของตนเองต่อไปได้